posttoday

บังกลาเทศประกาศไม่รับชาวโรฮีนจาอีกต่อไป

02 มีนาคม 2562

ทางการบังกลาเทศประกาศ ไม่รับผู้อพยพชาวโรฮีนจาอีกต่อไป จี้ยูเอ็น-เมียนมาเร่งจัดการ

ทางการบังกลาเทศประกาศ ไม่รับผู้อพยพชาวโรฮีนจาอีกต่อไป จี้ยูเอ็น-เมียนมาเร่งจัดการ

นาย Shahidul Haque รัฐมนตรีต่างประเทศของบังกลาเทศได้กล่าวต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติว่าบังกลาเทศจะไม่เปิดรับผู้อพยพชาวมุสลิมโรฮีนจากเมียนมาอีกต่อไป โดยรมว.ต่างประเทศผู้นี้ให้เหตุผลว่า วิกฤตชาวโรฮีนจาจำนวนหลายแสนคนที่อพยพเข้ามายังบังกลาเทศนั้นเข้าสู่ภาวะเลวร้ายเกินจะรับได้แล้ว พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทางยูเอ็นหามาตรการจัดการอย่างจริงจัง

"เราไม่มีพื้นที่ให้ชาวโรฮีนจาอีกแล้ว บังกลาเทศไม่ได้อยู่ในสถานะที่สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้คนจากเมียนมาได้อีกต่อไป"

บังกลาเทศประกาศไม่รับชาวโรฮีนจาอีกต่อไป

รายงานระบุว่าปัจจุบันมีชาวโรฮีนจามากกว่า 740,000 ราย อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่บังกลาเทศ หลังจากที่ถูกขับไล่ออกจากรัฐยะไข่ช่วงระหว่างปี 2016-2017 แม้ว่าที่ผ่านมาสหประชาชาติระบุว่าวิกฤตการณ์โรฮีนจานี้มีลักษณะเป็นการ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างชัดเจน แต่ทางการเมียนมาได้ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้มาโดยตลอด

อย่างไรก็ดี ในเดือนมกราคม 2018 ที่ผ่านมา ทางการบังกลาเทศและเมียนมาจะมีข้อตกลงร่วมในการส่งตัวชาวโรฮีนจาบางส่วนกลับประเทศ โดยตามข้อตกลงนั้นเมียนมาให้คำมั่นว่าจะทยอยรับตัวชาวโรฮีนจาจำนวน 1,500 คนต่อสัปดาห์กลับประเทศ โดยตั้งเป้าสามารถรับผู้อพยพทั้งหมดกลับเมียนมาได้ภายใน 2 ปี

 

บังกลาเทศประกาศไม่รับชาวโรฮีนจาอีกต่อไป

แต่ทว่ารมว.ต่างประเทศบังกลาเทศระบุว่า ปัจจุบันยังคงพบรายงานผู้อพยพชาวโรฮีนจารายใหม่เดินทางเข้าบังกลาเทศอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า กระบวนการส่งตัวผู้อพยพกลับนั้นยังคงน่ากังวล เนื่องจากสถานการณ์ในพื้นที่ทางตอนเหนือของเมียนมายังคงเลวร้าย

สอดคล้องกับที่นาง Christine Schraner Burgener ผู้แทนพิเศษของยูเอ็นซึ่งลงพื้นที่สำรวจและติดตามปัญหาผู้อพยพโรฮีนจาถึง 5 ครั้งก็ระบุเช่นกันว่ากระบวนการรับผู้อพยพกลับนั้นเต็มไปด้วยความล่าช้า เธอยังกล่าวอีกว่าทางการพม่าดูเหมือนจะไม่จริงใจในการให้สิทธิ์แก่หน่วยงานของสหประชาชาติในการช่วยเหลือชาวโรฮิงญาที่ถูกส่งตัวกลับประเทศ