posttoday

ไม่มีจะกินแล้ว! เปิดบทเรียนพิษประชานิยมอาร์เจนฯ

17 กุมภาพันธ์ 2562

อาร์เจนตินากำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนัก และหากย้อนดูประวัติศาสตร์ก็จะพบว่าเหตุที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นผลพวงจากนโยบายประชานิยม

อาร์เจนตินากำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนัก และหากย้อนดูประวัติศาสตร์ก็จะพบว่าเหตุที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นผลพวงจากนโยบายประชานิยม

ชาวอาร์เจนตินาพร้อมใจกันเดินขบวนประท้วงใน 50 เมืองทั่วประเทศ รวมทั้งในกรุงบัวโนสไอเรส เรียกร้องให้ประธานาธิบดี เมาริซิโอ มาครี ประกาศภาวะฉุกเฉินทางอาหารและหยุดขึ้นราคาสาธารณูปโภค เนื่องจากส่วนใหญ่ตกงานจนแทบไม่มีเงินประทังชีวิต โดยนับตั้งแต่ประธานาธิบดีมาครีขึ้นดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2015 ชาวอาร์เจนตินาต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 2.1% ค่าแก๊ส 3% แล้ว

ทั้งนี้ หากย้อนไปในช่วงศตวรรษที่ 19 อาร์เจนตินายังเป็น 1 ใน 10 ประเทศร่ำรวยเงินทุนต่างประเทศไหลเข้าไม่ขาดสาย แต่กลับเป็นช่องว่างให้คนรวยกลุ่มหนึ่งเข้ามาครอบงำประเทศจนเกิดความเหลื่อมล้ำ ในปี 1916 ฮิโปลิโต อิริโกเยน นักการเมืองคนหนึ่งได้ชูนโยบายประชานิยมขึ้นมาเพื่อโค่นล้มกลุ่มคนรวย ปรากฏว่าเขาได้รับเลือกให้เป็นผู้นำและเริ่มแจกทุกอย่างให้ชาวอาร์เจนตินาทันที ต่อมาผู้นำที่ยังครองอำนาจก็ใช้วิธีเดียวกันนี้จนชาวอาร์เจนตินาเสพติดของฟรี

จากนั้นไม่นานเงินสำรองของประเทศก็หมดลงจนต้องกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ เมื่อไม่มีใครให้กู้อีกต่อไปก็เริ่มพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้ตามใจชอบ ในที่สุดอาร์เจนตินาก็ประสบภาวะเงินเฟ้อจนนำไปสู่การล้มละลายในปี 1956 หรือ 40 ปี หลังเริ่มใช้นโยบายประชานิยม

เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของอาร์เจนตินายังถูกอภิมหาวิกฤตเศรษฐกิจ (Great Depression) ระหว่างปี 1974-1990 เล่นงานจนเศรษฐกิจล่มสลาย อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นปีละ 3,000% และมีปัญหาลากยาวมาถึงปี 2002 ระหว่างนั้นรัฐบาลก็เริ่มกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มากระตุ้นเศรษฐกิจ

ไม่มีจะกินแล้ว! เปิดบทเรียนพิษประชานิยมอาร์เจนฯ

เมื่อปีที่แล้วเศรษฐกิจอาร์เจนตินาก็ทรุดลงอีก เมื่อค่าเงินเปโซลดลงไปครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ประกอบกับเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นไปแตะ 48% บีบบังคับให้ประธานาธิบดีมาครีจำต้องกู้เงินจาก IMF อีก 56,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือเป็นเงินกู้ก้อนใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ IMF ภายใต้ข้อตกลงว่าอาร์เจนตินาต้องรัดเข็มขัด ปล่อยให้ราคาสินค้าเป็นไปตามกลไกตลาด และตัดลดการอุดหนุนต่างๆ จากนโยบายประชานิยม โดยธนาคารกลางก็ห้ามแทรกแซงค่าเงิน

ข้อแลกเปลี่ยนของ IMF ส่งผลให้ราคาสินค้าทะยานขึ้นต่อเนื่อง ค่าเงินเปโซของอาร์เจนตินายิ่งต่ำลง และเมื่อค่าเงินต่ำลงแล้ว ต่างชาติก็จะเข้าซื้อกิจการต่างๆ ในอาร์เจนตินาในราคาแสนถูก ฝ่ายผู้เชี่ยวชาญก็มองว่าเงินกู้ของ IMF เป็นกับดักที่ร้ายกาจ และอาจจะทำให้เศรษฐกิจของอาร์เจนตินาย่ำแย่ลงอีก เช่น ในปี 2001 ที่อาร์เจนตินาประสบวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่
ที่ผลักให้ประชาชนนับล้านตกอยู่ในฐานะยากจน 3 ปีหลังจาก IMF เข้ามาแทรกแซง

ซึ่งในภายหลังผู้ตรวจสอบภายในของสถาบันแห่งนี้ยอมรับว่าประเมินการเติบโตเศรษฐกิจและความสำเร็จในการปฏิรูปเศรษฐกิจของอาร์เจนตินาผิดพลาด จึงยังปล่อยเงินกู้ให้อาร์เจนตินาทั้งที่มีความสามารถในการชำระหนี้ต่ำ

ทั้งนี้ เว็บไซต์ publicfinanceinter national.org ระบุว่า สหรัฐคือหุ้นส่วนใหญ่ในกองทุน IMF (ราว 16%) ซึ่งมีอำนาจมากพอที่จะชี้เป็นชี้ตายมาตรการรัดเข็มขัดของประเทศผู้กู้ ซึ่งในท้ายที่สุดก็จะเป็นประโยชน์กับสหรัฐไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

ภาพ เอเอฟพี

ที่มา www.m2fnews.com