posttoday

ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม 2030 แผนดันเยอรมนีผงาด

11 กุมภาพันธ์ 2562

"เยอรมัน"ประกาศร่าง “ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมแห่งชาติ 2030” ฉบับใหม่ พร้อมตั้งเป้าที่จะเป็นแชมเปี้ยนแห่งยุโรปและสามารถแข่งขันได้กับสหรัฐและจีน

"เยอรมัน"ประกาศร่าง “ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมแห่งชาติ 2030” ฉบับใหม่ พร้อมตั้งเป้าที่จะเป็นแชมเปี้ยนแห่งยุโรปและสามารถแข่งขันได้กับสหรัฐและจีน

*********************************

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปีเตอร์ อัลไมเออร์ รัฐมนตรีเศรษฐกิจเยอรมนี ได้เปิดเผยร่าง “ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมแห่งชาติ 2030” ฉบับใหม่ขึ้นมา พร้อมตั้งเป้าว่า ยุทธศาสตร์นี้จะช่วยสร้างแชมเปี้ยนแห่งยุโรป จนทำให้ภาคอุตสาหกรรมของสหภาพยุโรป (อียู) มีศักยภาพสามารถแข่งขันได้กับยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐและ “จีน” โดยเฉพาะรายหลังนี้ที่ตะลุยกว้านซื้อบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ทั่วโลกตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ภายใต้ยุทธศาสตร์นี้มีหลักสำคัญ 6 ประการ ดังนี้

- ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้จากภาคอุตสาหกรรมของอียูให้เพิ่มขึ้นเป็น 20% ของรายได้ประเทศทั้งหมด และเยอรมนีเพิ่มขึ้นเป็น 25%

- แก้ไขกฎหมายด้านการแข่งขันทางการค้า เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการควบรวมกิจการ ในกรณีที่จะเป็นประโยชน์ต่อการแข่งขันในระดับโลก

- ในบางกรณี รัฐต้องเข้าถือหุ้นในบริษัทเอกชน เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าซื้อกิจการจากต่างชาติ

- บริษัทในอียูควรได้รับการสนับสนุนให้เข้าซื้อกิจการด้านเทคโนโลยีที่สำคัญ

- สร้างกองทุนเพื่อการลงทุนสำหรับสนับสนุนการเข้าซื้อกิจการ ซึ่งมีระยะเวลาที่จำกัด

- รัฐต้องสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี และลดต้นทุนทางธุรกิจด้วยนโยบายใหม่ๆ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

อัลไมเออร์ ระบุว่า สิ่งที่ทำให้จำเป็นต้องใช้ยุทธศาสตร์นี้ เพราะปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมสำคัญหลายส่วนของเยอรมนีกำลังตามหลังสหรัฐและเอเชีย และหากยังปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป ท้ายที่สุดแล้วเยอรมนีก็จะต้องสูญเสียความสามารถทางเทคโนโลยี จากการถูกบริษัทต่างชาติเข้าซื้อหรือร่วมทุนกิจการในที่สุด

อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ก็คือ ยอดคำสั่งซื้อในภาคอุตสาหกรรมเดือน ธ.ค. ที่ลดลง 7% เมื่อเทียบกับปีก่อน นับเป็นการปรับตัวลดลงมากที่สุดในรอบ 8 ปี ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนี ทำให้ผู้เชี่ยวชาญบางรายระบุว่า หากดีมานด์ในภาคอุตสาหกรรมยังไม่เพิ่มขึ้นในเร็วๆ นี้ เศรษฐกิจเยอรมนีอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจยูโรโซนที่ไม่สู้ดีนัก

ตามจีน-สหรัฐไม่ง่าย

อย่างไรก็ดี ยังไม่ทันที่จะได้เริ่มต้น ก็มีเค้าลางว่ายุทธศาสตร์นี้จะต้องเจอกับปัญหารอบด้าน โดยหลังการประกาศยุทธศาสตร์ออกมาได้เพียง 1 วัน คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (อีซี) ก็ได้ปฏิเสธแผนการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ซีเมนส์ เครือบริษัทวิศวกรรมรายใหญ่ของเยอรมนี และบริษัท อัลสตอม ผู้ผลิตรถไฟจากฝรั่งเศส โดยระบุว่า การควบรวมกิจการจะทำให้เกิดการผูกขาดตลาด ลดความสามารถในการแข่งขัน และนำไปสู่ราคาค่าโดยสารที่สูงขึ้น

“การปฏิเสธแผนควบรวมในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมแห่งชาติ 2030 เป็นประเด็นเร่งด่วนอย่างมาก เพราะเกี่ยวข้องกับคำสั่งซื้อจากทั่วโลกที่มีมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงต้องการยุทธศาสตร์นี้” อัลไมเออร์ ระบุภายหลังผ่านทวิตเตอร์

ขณะที่ บรูโน เลอ แมร์ รัฐมนตรีคลังฝรั่งเศส กล่าวแสดงความผิดหวังว่า บทบาทของอีซีคือการปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของยุโรป แต่การปฏิเสธแผนควบรวมนี้จะทำให้เศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมของจีนเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์แทน

อย่างไรก็ตาม แม้หลายฝ่ายจะเห็นด้วยกับการกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมในอียู แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญหลายรายที่วิพากษ์วิจารณ์ยุทธศาสตร์ของอัลไมเออร์โดยเฉพาะประเด็น “การแทรกแซงจากรัฐ” โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งชาติเยอรมนี (บีดีไอ) ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับแผนนี้ว่า การแทรกแซงจากรัฐควรทำเพื่อสนับสนุนโครงการด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ใช่เพื่อป้องกันการเข้าซื้อกิจการ

“นโยบายคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศและการอุดหนุนมหาศาล อาจจะเป็นสิ่งที่ทำแล้วดีสำหรับจีน แต่ยุทธศาสตร์เช่นนี้จะไม่ได้ทำให้ยุโรปประสบความสำเร็จ” โทมาโซ ดูโซ นักวิเคราะห์จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจเยอรมนี กล่าว