posttoday

ชะตา ความหวังและความฝัน ที่แขวนไว้กับเลือกตั้งพม่า

01 พฤศจิกายน 2553

ขณะที่ชาวโลกกำลังจับจ้องอย่างการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของพม่าที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 พ.ย. อย่างไม่กะพริบตา ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาตลอด....

ขณะที่ชาวโลกกำลังจับจ้องอย่างการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของพม่าที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 พ.ย. อย่างไม่กะพริบตา ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาตลอด....

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

ขณะที่ชาวโลกกำลังจับจ้องอย่างการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของพม่าที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 พ.ย. อย่างไม่กะพริบตา ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดนับตั้งแต่มีการประกาศวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ในสายตาชาวโลกส่วนหนึ่งเห็นว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นเพียงละครตบตา ที่รัฐบาลทหารพม่าซึ่งปกครองประเทศมานานกว่า 50 ปี จัดฉากขึ้นเท่านั้น

ชะตา ความหวังและความฝัน ที่แขวนไว้กับเลือกตั้งพม่า

ยิ่งกว่านั้น ในมุมมองของนักวิเคราะห์ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญ หลายสำนักต่างฟันธงไปในทางเดียวกันแบบไม่ได้นัดหมายว่า การเลือกตั้งครั้งแรกของพม่าในรอบ 20 ปีนี้ จะไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรในประเทศที่ได้ชื่อว่ารวยด้วยอารยธรรม และเพียบพร้อมด้วยทรัพยากรธรรมชาติแห่งนี้มากนัก

อย่างไรก็ตาม แม้อนาคตของ “พม่า” ในสายตาประชาคมโลกจะไม่สวยหรู และมืดมนเพียงใดก็ตาม แต่สำหรับชาวพม่าแล้ว การเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมีขึ้นนี้ กลับไม่ต่างอะไรกับแสงสว่างปลายอุโมงค์ ที่ทุกคนต่างเฝ้ารอและไขว่คว้ามานาน สำหรับประเทศที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษเฝ้ารออย่างมีความหวัง และเปรียบเหมือนการเปิดศักราชใหม่ให้กับประเทศแห่งนี้
ที่สำคัญความหวังใหม่จากพลิกหน้าประวัติศาสตร์ครั้งนี้ ยังไม่ได้บังเกิดขึ้นเฉพาะในหมู่ประชาชนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงรัฐบาลทหารพม่าเอง ที่หวังจะใช้การเลือกตั้งครั้งนี้ เพื่อเปลี่ยนภาพลักษณ์และสลัดภาพเก่าๆ ของประเทศออกไป

ทั้งนี้ เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลทหารพม่าได้สร้างความประหลาดใจให้กับชาวโลกอีกครั้ง ด้วยการถือเอาฤกษ์งามยามดี เปลี่ยนแปลงสัญลักษณ์สำคัญของประเทศหลายอย่างๆ อาทิ ธงชาติ เพลงชาติ รวมทั้งชื่อประเทศ ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งครั้งสำคัญ จะมีขึ้นอีกเพียง 2 สัปดาห์

การเปิดตัวธงชาติใหม่ของรัฐบาลทหารพม่าผ่านทางสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลเกิดขึ้นท่ามกลางความประหลาดใจของคนทั่วไป แม้แต่ข้าราชการของรัฐเอง

การแนะนำธงชาติแบบใหม่อย่างเป็นทางการ มีขึ้นที่กรุงเนย์ปิดอว์ เมืองหลวงแห่งใหม่ โดยธงถูกชักขึ้นสู่ยอดเสาหน้าทำเนียบรัฐบาล หรือที่ทำการเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (เอสพีดีซี) โดยมีนายพลเต็งเส่ง นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเคารพธงชาติ และกองทหารเกียรติยศบรรเลงเพลงชาติแบบใหม่ในพิธีด้วย

สำหรับธงชาติที่มีการเปลี่ยนแปลงใหม่นั้น ประกอบด้วยริ้วสีเหลือง เขียว แดง พาดขวางแนวนอน และมีดาวสีขาวขนาดใหญ่ 1 ดวงอยู่ตรงกลางผืนธง โดย สีเขียว หมายถึง สันติภาพ ความสงบ และความอุดมสมบูรณ์ของพม่า สีเหลือง หมายถึง ความสามัคคี สีแดง หมายถึง ความกล้าหาญ ความเข้มแข็ง เด็ดขาด ดาวสีขาว หมายถึง สหภาพอันมั่นคงเป็นเอกภาพ

ชะตา ความหวังและความฝัน ที่แขวนไว้กับเลือกตั้งพม่า

รัฐบาลทหารได้ให้เหตุผลในการเปลี่ยนแปลงธงชาติครั้งนี้ ว่าเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2551 ที่รัฐบาลทหารร่วมกับผลักดันว่า ประเทศต้องมีการใช้ธงชาติแบบใหม่ โดยธงชาติเก่าจะถูกทำลายด้วยการฝังและเผา

และเพราะเป็นงานใหญ่ระดับประเทศนี้เอง จึงไม่อาจทำแบบลวกๆ ด้วยเหตุนี้รัฐบาลพม่าจึงถือเคล็ด เลข 9 ที่เชื่อว่าจะนำมาซึ่งความก้าวหน้า มาเป็นฤกษ์งามยามดีในการเปิดตัวสัญลักษณ์สำคัญของประเทศ

หมอดูและนักดูฤกษ์ ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับความเชื่อถืออย่างสูงในพม่า เป็นผู้แนะนำฤกษ์ดี เวลา 15.00 น. ของวันที่ 21 ต.ค. ปี ค.ศ. 2010 ให้ เพราะเมื่อนำวันที่ 21 และปี ค.ศ. 2010 ที่มีเลข 2 และ เลข 1 มาบวกกันจะได้ผลลัพธ์เท่ากับ 3 ซึ่งพ้องกับเวลาที่ทำการเปิดตัวธงชาติใหม่ นั่นคือ บ่าย 3 โมง สุดท้ายเมื่อนำตัวเลขทั้งหมดมาบวกกัน ก็จะได้ผลลัพธ์เท่ากับ 9 พอดี ซึ่งถือเป็นตัวเลขนำโชคตามความเชื่อของพม่า ซึ่งในช่วงปี พ.ศ. 2523 ภายใต้การปกครองของ พล.อ.เนวิน ซึ่งมีความเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติ ได้ออกธนบัตรมูลค่า 45 และ 90 จ๊าต ซึ่งเป็นมูลค่าที่สามารถหารด้วย 9 อย่างลงตัว

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่การประกาศเปลี่ยนแปลงธงชาติของพม่าเป็นครั้งแรก

ในช่วงปี พ.ศ. 2486-2488 ซึ่งพม่าอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น พม่าเคยใช้ธงชาติที่มีริ้ว 3 สี ประกอบด้วยเหลือง เขียว แดง และมีนกยูงรำแพนอยู่ตรงกลางผืนธง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติ พรรคฝ่ายค้านหัวประชาธิปไตย ภายใต้การนำของอองซานซูจี

ชะตา ความหวังและความฝัน ที่แขวนไว้กับเลือกตั้งพม่า

กระทั่งในปี พ.ศ. 2517 พล.อ.เนวิน ได้ประกาศยกเลิก และให้เปลี่ยนไปใช้ธงชาติแบบใหม่ ที่มีพื้นสีแดง และที่มุมบนด้านซ้ายธง แบ่งเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีน้ำเงินขนาดเล็ก ภายในมีรูปช่อรวงข้าวอยู่หน้าฟันเฟือง อันเป็นสัญลักษณ์ในเชิงสังคมนิยม หมายถึง ชาวนาและกรรมกร ล้อมรอบด้วยดาวห้าแฉก 14 ดวงเป็นวงกลม ซึ่งมีความหมายถึง เขตการปกครองทั้ง 14 เขตของพม่า (7 รัฐ 7 เขต)

นอกจากธงชาติแล้ว พม่ายังใช้โอกาสเดียวกันนี้ประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สหภาพพม่า” (Union of Myanmar) เป็น สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า (Repubric of the Union of Myanmar) เสียใหม่

ภายหลังจากเมื่อปี พ.ศ. 2532 พม่าได้เปลี่ยนชื่อประเทศในภาษาอังกฤษ ที่ประเทศตะวันตกใช้เรียกดินแดนแห่งนี้ ว่า “Burma” เป็น “Myanmar” โดยชื่อใหม่นี้เป็นที่ยอมรับจากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แต่บางชาติ อาทิ สหรัฐและอังกฤษ ยังไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงชื่อดังกล่าว เนื่องจากไม่ยอมรับอำนาจของผู้เปลี่ยนชื่อ อันเป็นทหารที่ก่อการรัฐประหารเข้ายึดอำนาจเมื่อปี พ.ศ. 2505

ทั้งนี้ การจารึกหน้าประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ มีขึ้น 1 ปี ภายหลังจากที่ประชาชนลุกฮือทำการประท้วงครั้งใหญ่ และยังเป็น 1 ปีก่อนการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี นับตั้งแต่คณะทหารยึดอำนาจ โดยการเลือกตั้งในครั้งนั้นพรรคฝ่ายค้านของซูจีกวาดเสียงสนับสนุนอย่างถล่มทลาย แต่รัฐบาลทหารกลับปฏิเสธไม่ยอมรับ และควบคุมตัวซูจีไว้ในบ้านพักนานถึง 15 ปี

นอกจากการเปลี่ยนแปลงเชิงสัญลักษณ์ครั้งสำคัญ จะมีขึ้นก่อนการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่โลกต้องจารึกจะมีขึ้นแล้ว

มีรายงานด้วยว่า ก่อนที่พิธีเปิดตัวธงชาติใหม่อย่างเป็นทางการจะมีขึ้น ทางการพม่าได้เผยโฉม “ช้างภัทธาวดี” ช้างเผือกเชือกที่ 5 ของประเทศ พร้อมอัญเชิญเข้าเมืองหลวงใหม่ และจัดพิธีสมโภชอย่างยิ่งใหญ่ตามประเพณี มีการจัดขบวนแห่เวียนรอบพระมหาเจดีย์ และเสวยพระกระยาหาร ก่อนนำไปเลี้ยงใน “ปางช้างเผือก” ด้านตะวันออกของมหาเจดีย์อุปตศานติ หรือเจดีย์ชเวดากอง

ตามขนบธรรมเนียมประเพณีของพม่าตั้งแต่โบราณกาล บรรดากษัตริย์ และผู้นำในพม่าซึ่งชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธจะทำนุบำรุงช้างเผือกเป็นสัตว์ล้ำค่า และเชื่อว่าเมื่อใดที่ช้างเผือกปรากฏตัวจะเป็นลางบอกเหตุว่าบ้านเมืองจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
ขณะที่เอพี รายงานว่า รัฐบาลพม่าเชื่อว่าการพบช้างเผือกในครั้งนี้ จะเป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะมีเพียงคณะรัฐบาลทหารที่ฝากอนาคตอันสดใสของประเทศไว้กับการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ยังรวมถึงภาคธุรกิจและเอกชนเองที่ต้องเผชิญกับความทุกข์ยากจากการปิดประเทศ และความยากลำบากจากการถูกคว่ำบาตรจากนานาประเทศ

เจ้าหน้าที่ของสายการบินเมียนมาร์ แอร์เวย์ ของพม่า แสดงความหวังอย่างเต็มเปี่ยมว่า การเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในรอบหลายปีนี้ จะเป็นการเปิดศักราชแห่งการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

“เราหวังว่าหลังการเลือกตั้ง ประเทศของเราจะเปิดกว้างมากขึ้น และผมหวังว่าเมื่อนั้นจะมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามายังพม่ามากขึ้น” ยี ยัน ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปของเมียนมาร์ แอร์เวย์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวเอเอฟพี นอกรอบการสัมมนาด้านการบินที่ประเทศสิงคโปร์

นอกจากนี้ ยี ยัน ยังหวังว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะนำมาซึ่งรัฐบาลชุดใหม่ รวมทั้งนโยบายใหม่ๆ ทำให้มีนักท่องเที่ยวแห่กันเข้ามาท่องเที่ยวในพม่ามากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความหวัง และความฝันของพลเมืองพม่าที่หวังจะใช้ “การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์” เป็นเหมือนมนต์วิเศษ ในการร่ายมนตร์ให้ประชาคมโลกหันมามองดินแดนแห่งนี้ ในมุมมองใหม่ที่เป็นมิตร พร้อมลงภาพลักษณ์ด้านลบของประเทศออกไปให้หมดสิ้น

แต่ทว่า ในสายตาชาวโลกแล้ว การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ กลับไม่ได้สะท้อน หรือสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไร ที่จะลบภาพลักษณ์การเป็นเผด็จการ และดินแดนที่แปลกแยกของประเทศแห่งนี้ตราบเท่าที่ยังมีการปกครองโดยรัฐบาลทหารเผด็จการ การควบคุมตัวกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมือง โดยมีจุดยืนต่อต้านรัฐบาล รวมทั้งอองซานซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

เมื่อนั้นสิ่งที่รัฐบาลทหารและชาวพม่าอยากจะเห็นและสัมผัสก็คงไม่มีวันบังเกิดขึ้นและสิ่งความพยายามทั้งหมดที่รัฐบาลทุ่มเทไปในวันนี้ ก็จะเป็นเพียงการตบตาชาวโลกที่ไม่ต่างอะไรกับการนำไวน์เก่า มาไว้ในขวดใหม่

ทว่าสิ่งที่ชาวโลกต้องการจากพม่าในเวลานี้ ไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนฉลากที่ขวดไวน์ แต่ต้องเป็นการเปลี่ยนไวน์ในขวดอย่างแท้จริง