posttoday

ลุยหั่นภาษีครั้งใหญ่ หวังคืนชีพเศรษฐกิจจีน

21 มกราคม 2562

"จีน"เดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่หลังมีสัญญาณขยายตัวอ่อนแรง หนึ่งในนั้นก็คือ "การลดภาษี" ทั้งสำหรับบุคคทั่วไปและธุรกิจ

"จีน"เดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่หลังมีสัญญาณขยายตัวอ่อนแรง หนึ่งในนั้นก็คือ "การลดภาษี" ทั้งสำหรับบุคคทั่วไปและธุรกิจ

***********************

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

เศรษฐกิจที่เริ่มส่งสัญญาณขยายตัวอ่อนแรงในปีนี้ ทำให้ “จีน” ตัดสินใจเดินหน้ามาตรการกระตุ้นครั้งใหญ่ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “การหั่นภาษีแบบครอบคลุม” ทั้งสำหรับบุคคลทั่วไปและภาคธุรกิจ เพื่อหวังรักษาระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ก่อนหน้านี้ หลิวคุน รัฐมนตรีคลังจีน เปิดเผยในที่ประชุมงานด้านเศรษฐกิจส่วนกลางจีน (CEWC) เมื่อเดือน ธ.ค.ว่า มาตรการหั่นภาษีในปีนี้มีแนวโน้มสูงเกินวงเงินปีที่แล้วอยู่ที่ 1.3 ล้านล้านหยวน (ราว 6 ล้านล้านบาท) โดยหนังสือพิมพ์ ไชน่า เดลี่ คาดการณ์ว่า ในปี 2019 วงเงินมาตรการดังกล่าวจะอยู่ที่ทั้งหมด 1.5-2 ล้านล้านหยวน (ราว 7-9 ล้านล้านบาท) ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าจะมีการประกาศมาตรการหั่นภาษีในเดือน มี.ค.ระหว่างการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน (เอ็นพีซี)

ทั้งนี้ มาตรการปรับลดภาษีของจีนจะดำเนินการควบคู่ไปกับการใช้นโยบายการเงินในเชิงผ่อนคลายยิ่งขึ้นของธนาคารกลางจีน (พีบีโอซี) ซึ่งเริ่มเปิดเผยออกมาบ้างแล้ว เช่น การปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลง 1% เมื่อเดือน ม.ค.เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องในระบบการเงิน

สำหรับมาตรการหั่นภาษีส่วนแรก มุ่งไปที่ “การลดภาระภาษีบุคคลธรรมดา” ด้วยการขยายการให้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นการชั่วคราว ซึ่งเพิ่งเริ่มมีผลเมื่อวันที่ 1 ม.ค. ครอบคลุมรายจ่าย 6 ด้านด้วยกัน คือ ค่าเล่าเรียนลูก ค่าใช้จ่ายในการศึกษาต่อ ค่ารักษาพยาบาลโรคร้ายแรง ค่าใช้จ่ายดูแลผู้สูงอายุ ค่าดอกเบี้ยเงินกู้บ้าน และค่าเช่าบ้าน โดยบริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ ซิเคียวริตี้ส์ คาดการณ์ว่า การหักลดหย่อนดังกล่าวจะลดภาระภาษีที่ต้องจ่ายลง 1.16 แสนล้านหยวน/ปี (ราว 5.43 แสนล้านบาท)

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือน ต.ค.จีนเพิ่งขยายช่วงรายได้ขั้นต่ำที่ต้องเสียภาษีจาก 3,500 หยวน (ราว 1.6 หมื่นบาท) ไปอยู่ที่ 5,000 หยวน/เดือน (ราว 2.3 หมื่นบาท) หรือคิดเป็น 6 หมื่นหยวน/ปี (ราว 2.8 แสนบาท)

ด้านนิกเกอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่า แม้ในประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ ภาษีเงินได้จะเป็นสัดส่วนสำคัญของภาษีทั้งหมดที่รัฐรีดรายได้เข้าคลัง แต่ในจีนนั้นคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 10% ซึ่งจีนก็ยอมเฉือนเนื้อเพิ่ม เพราะหวังมุ่งกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศมากกว่า

สำหรับ “การลดภาษีให้ภาคธุรกิจ” จีนเพิ่งประกาศแผนลดภาษีและให้สิทธิพิเศษทางภาษีกับบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ในเดือนนี้ โดยบริษัทที่มีรายได้ไม่ถึง 1 ล้านหยวน (ราว 4.6 ล้านบาท) จะเสียภาษี 5% และเอกชนรายได้ระหว่าง 1-3 ล้านหยวน (ราว 4.6-14 ล้านบาท) จะเสียภาษี 10% ลดลงจากเดิมอยู่ที่ 25% ซึ่งธุรกิจ 95% จะเข้าเกณฑ์การปรับลดภาษีดังกล่าว ตามการรายงานของซินหัว

นอกจากนี้ รัฐบาลยังยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก (Micro Business) และผู้มีอาชีพอิสระที่มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 1 แสนหยวน (ราว 4.68 แสนบาท) ซึ่งขยายช่วงรายได้จากเกณฑ์เดิมอยู่ที่ 3 หมื่นหยวน (ราว 1.4 แสนบาท)

ทั้งนี้ มาตรการทั้งหมดข้างต้นสำหรับธุรกิจจะมีผลบังคับเป็นเวลา 3 ปี และมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดภาระภาษีได้ถึง 2 แสนล้านหยวน/ปี (ราว 9.36 แสนล้านบาท)

ขณะเดียวกัน รัฐบาลกำลังพิจารณาจะลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งคิดเป็น 40% ของรายได้ภาษีทั้งหมดของจีน เพิ่มเติมอีกให้ธุรกิจหลายภาคส่วน จากเดิมที่เคยลดไปแล้วเมื่อเดือน พ.ค.ปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบันธุรกิจเสียภาษีนี้ในอัตราแตกต่างกันไปตั้งแต่ 6% 10% หรือ 16% นอกจากนี้ จีนยังพิจารณาลดภาษีประกันสังคม ซึ่งเป็นหนึ่งในภาระรายจ่ายมหาศาลสำหรับบริษัทจีนด้วย

แม้การใช้แผนหั่นภาษีเพิ่มครั้งใหญ่จะยิ่งเท่ากับเฉือนเนื้อตัวเองจากแหล่งรายได้สำคัญ แต่ในวันที่จีนกำลังแย่และเสี่ยงต่อการเห็นจีดีพีโตช้าที่สุดในรอบกว่า 30 ปี การกระตุ้นครั้งนี้จึงอาจเป็นเดิมพันที่ต้องยอมเสี่ยงเพื่อปลุกชีพจรเศรษฐกิจมังกรขึ้นมาอีกครั้ง

ภาพ เอเอฟพี