posttoday

ภูเขาไฟ "อานัคกรากระตัว" เตี้ยลง 2 ใน 3 หลังปะทุ

29 ธันวาคม 2561

นักวิทย์เผย ภูเขาไฟอานัคกรากระตัว สูญเสียความสูงไปถึง 228 เมตร จากความสูงเดิม คาดทรุดตัวหลังการปะทุหนัก

นักวิทย์เผย ภูเขาไฟอานัคกรากระตัว สูญเสียความสูงไปถึง 228 เมตร จากความสูงเดิม คาดทรุดตัวหลังการปะทุหนัก

เอเอฟพีรายงานว่า จากการคาดคะเนด้วยสายตาของนักวิทยาศาสตร์จากสำนักงานภูเขาไฟวิทยาแห่งชาติอินโดนีเซีย ระบุว่าภูเขาไฟอานัคกรากระตัว ที่เกิดการระเบิดอย่างรุนแรง จนส่งผลให้เกิดคลื่นสึนามิพัดทำลายพื้นที่ชายฝั่งในบริเวณช่องแคบซุนดาเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. ที่ผ่านมานั้น ได้พบว่าความสูงของภูเขาไฟลูกนี้ได้หายไปราว 2 ใน 3 จากความสูงเดิมที่ 338 เมตร โดยลดลงเหลือเพียง 110 เมตรเท่านั้น หรือเท่ากับภูเขาไฟกลางทะเลลูกนี้เสียความสูงไปถึง 228 เมตร จากการปะทุเพียงครั้งเดียว

นักวิทย์อินโดฯยังระบุอีกว่า ความรุนแรงจากการระเบิดจนส่งผลให้ภูเขาไฟหดลงนั้น เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดคลื่นสึนามิ เนื่องจากบรรดาหินหนาแน่นและเถ้าถ่านจำนวนมากทรุดตัวลงสู่ทะเล จึงส่งผลให้เกิดคลื่นสึนามิพัดถล่มตามมา

 

ภูเขาไฟ "อานัคกรากระตัว" เตี้ยลง 2 ใน 3 หลังปะทุ ภาพถ่ายดาวเทียมจากองค์การอวกาศญี่ปุ่น เปรียบเทียบก่อน-หลัง การปะทุ

หน่วยงานอวกาศของญี่ปุ่นได้เผยภาพถ่ายดาวเทียมก่อนและหลังแสดงให้เห็นว่าเกาะภูเขาไฟขนาด 2 ตารางกิโลเมตรแห่งนี้ (0.77 ตารางไมล์) ยุบตัวลงสู่ทะเล ทางการอินโดยังระบุด้วยว่า ภูเขาไฟอานัคกรากระตัวได้สูญเสียพื้นที่ของภูเขาที่ประกอบด้วยชั้นหินต่างๆไปเป็นปริมาณมากถึง 150-180 ล้านลูกลูกบาศก์เมตร

ขนาดของการพังทลายของเกาะนั้นสอดคล้องกับพลังของคลื่นสึนามิที่ถูกปลดปล่อยออกมา จนซัดเข้าชายฝั่งทะเลในเกาะสุมาตราและชวา โดยพบว่ามีคลื่นสึนามิสูงกว่า 2 เมตร

ภูเขาไฟ "อานัคกรากระตัว" เตี้ยลง 2 ใน 3 หลังปะทุ

ขณะที่ตัวเลขล่าสุด (29 ธ.ค.) ของยอดผู้เสียชีวิตจากคลื่นสึนามิอยู่ที่  426 คน และมีประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 40,000 คน โดยทางสำนักงานบรรเทาภัยพิบัติอินโดนีเซีย คาดยอดตายสึนามิมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากเจ้าหน้าที่และทีมค้นหายังไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ประสบภัยได้อย่างทั่วถึง

 

ภูเขาไฟ "อานัคกรากระตัว" เตี้ยลง 2 ใน 3 หลังปะทุ