posttoday

เมื่อจีนไม่สนใจ'กระจก'ก็เปลี่ยนโลกเสียแล้ว (1)

23 ธันวาคม 2561

จีนเป็นหนึ่งในผู้นำด้านวัสดุศาสตร์มาตั้งแต่โบราณ ไม่ว่า ดินเผา สัมฤทธิ์ กระดาษ กระเบื้องเคลือบ ไม้ไผ่ หรือผ้าไหม ล้วนถูกใช้อย่างเชี่ยวชาญไม่น้อยหน้าอารยธรรมใด

จีนเป็นหนึ่งในผู้นำด้านวัสดุศาสตร์มาตั้งแต่โบราณ ไม่ว่า ดินเผา สัมฤทธิ์ กระดาษ กระเบื้องเคลือบ ไม้ไผ่ หรือผ้าไหม ล้วนถูกใช้อย่างเชี่ยวชาญไม่น้อยหน้าอารยธรรมใด และในบรรดาวัสดุที่ว่ามา บางอย่างจีนก็เป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นมาเป็นรายแรกเสียด้วยซ้ำ แต่จีนกลับละเลยวัสดุพื้นฐานที่สำคัญอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งนั่นคือ แก้ว (หรือกระจก)

แต่สาเหตุที่สกัดจีนให้ละเลยกระจกไป ไม่ใช่เพราะความล้าหลัง แต่กลับเป็นเพราะความก้าวหน้าของวัสดุอีกอย่าง ซึ่งก็คือ กระเบื้องเคลือบ (Porcelain)

การผลิตเครื่องเคลือบไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากเทคนิคการเผาที่ว่าต้องเผาอย่างไร ใช้อุณหภูมิเท่าไหร่ ยังมีส่วนผสมที่เป็นเคล็ดลับอีกไม่น้อย หนึ่งในนั้นคือดินเกาลิน (Kaolin, 高岭)

ชื่อดินเกาลินเป็นชื่อสำเนียงฝรั่ง ตั้งตามชื่อหมู่บ้านเกาหลิง (高岭村) แถบเมืองจิ่งเต๋อเจิ้น (景德镇) - เมืองผลิตเครื่องเคลือบที่สำคัญของจีน และหมู่บ้านเกาหลิงก็คือแหล่งดินเกาลิน วัตถุดิบสำคัญของการทำเครื่องเคลือบนั่นเอง

เทคนิคการทำเครื่องเคลือบในจีนสุกงอมมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ค.ศ. 25-220) และพัฒนาก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา ส่วนยุโรปกว่าจะผลิตเครื่องเคลือบแบบจีนได้ ก็ปาเข้าไป ค.ศ. 1708 ช้ากว่ากันถึงกว่า 1,500 ปี

เครื่องเคลือบมีผิวลื่น แกร่ง แน่น และทึบแสง ป้องกันการระเหยของของเหลวข้างในได้ดี และไม่ทำปฏิกิริยาเคมีกับของเหลวทั่วไป จึงเหมาะกับการทำเป็นภาชนะชั้นยอด นอกจากนั้นยังสามารถแต่งแต้มสีสันสดใสลงไปบนพื้นผิวได้

ไม่ใช่เพราะจีนไม่เคยมีวัสดุประเภทแก้วหรือกระจก ในจีนมีการค้นพบลูกปัดแก้ว ในสุสานยุคจ้านกว๋อ (ประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว)

ส่วนอารยธรรมอียิปต์และกรีกนั้น รู้จักการผลิตแก้วก่อนหน้าจีนประมาณ 500 ปี โดยเชื่อว่าความรู้ในการผลิตแก้วของจีนได้รับจากการถ่ายทอดต่อเนื่องมาจากทางอียิปต์และกรีกอีกทีหนึ่ง

แต่อารยธรรมข้างต้นทั้งหมดไม่ได้ใช้แก้วกันจริงจัง มากไปกว่าการใช้เป็นเครื่องประดับเล็กๆ น้อยๆ

จนอารยธรรมโรมัน ได้พัฒนาส่วนผสมในการผลิต และเทคนิคการเป่าแก้วขึ้นมา ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1

ซึ่งความรู้ทั่วไปที่บอกว่าแก้วหรือกระจกผลิตจากทราย (ซิลิกา) ที่ถูกหลอมเหลวแล้วทิ้งให้เย็นตัวนั้นเป็นเพียงความรู้เบื้องต้น เพราะแก้วคุณภาพดี ใส ไร้ฟองอากาศ ยังต้องมีสูตรผสมและกระบวนการที่ผ่านการพัฒนามามากมาย ซึ่งมีชาวโรมันเป็นผู้ริเริ่ม

แก้วยุคแรกจึงไม่น่าพิสมัย ทั้งขุ่นเขียว มีฟองอากาศ และเศษสกปรกเจือปนข้างใน ทำให้เครื่องเคลือบมีชื่อชั้นเหนือกว่าเสมอมา ทั้งในโลกตะวันออกและตะวันตก

หรือแม้แต่คุณสมบัติการนำความร้อนของแก้วที่สูงกว่ากระเบื้องเคลือบ ก็ย่อมทำให้ชาวจีนที่นิยมดื่มชาร้อนๆ ชื่นชอบเครื่องเคลือบมากกว่าแก้ว

แก้วในอารยธรรมจีน จึงไม่แพร่หลาย และกลายเป็นแค่ของเล่นประเภทตุ๊กตุ่น ตุ๊กตาเท่านั้น ไม่ได้ถูกใช้งานจริงจังแต่อย่างใด

ขณะที่จีนไม่สนใจจะพัฒนาแก้ว และความรู้เรื่องเครื่องเคลือบทางตะวันตกยังไม่เกิด ซีกโลกตะวันตกจึงต้องเลือกพัฒนาการผลิตแก้วขึ้นมาใช้ด้วยความจำเป็น

พอพัฒนาขึ้นมาได้สักระยะ นอกจากจะนำมาทำเป็นภาชนะหรือเครื่องประดับ ชาวยุโรปในยุคกลางก็เริ่มนำแก้วมาใช้ประกอบอาคาร โดยทำแก้วให้เป็นแผ่นบาง แล้วประกอบขึ้นมาเป็นหน้าต่างบานกระจกผืนใหญ่

แต่เนื่องจากยุคนั้นเทคนิคการทำกระจกยังไม่ทันสมัย ไม่สามารถทำกระจกเป็นผืนใหญ่แผ่นเดียวได้ เพื่อที่จะเติมเต็มช่องแสงใหญ่ด้วยกระจกได้ครบผืน จึงจำเป็นต้องใช้กระจกแผ่นเล็กๆ มาประสานติดกันด้วยเส้นตะกั่ว เมื่อบวกกับศิลปะการเพิ่มสีสันให้กับกระจกและการเดินเส้นลวดลาย ก็กลายเป็นกระจก Stain Glass ผืนใหญ่ที่สวยงามแปลกตา

เมื่อยุโรปก้าวเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 11 และ 12 ก็เริ่มพัฒนาการผลิตแผ่นกระจกใส ซึ่งมีขนาดแผ่นใหญ่ขึ้นมาได้ (แต่ไม่ใหญ่มากมายอย่างในปัจจุบัน) จากนั้นมา ความหมายของแก้วและกระจกที่มีต่อมนุษย์ก็เปลี่ยนไป

แก้วและกระจกได้หยิบยื่นคุณสมบัติที่กระเบื้องเคลือบและวัสดุอื่นใดก่อนหน้านี้ ไม่สามารถหยิบยื่นให้ได้ และคุณสมบัตินั้นก็มิได้เป็นประโยชน์แต่ภายในห้องทดลองอย่างที่ยกตัวอย่างไว้ในตอนต้นเท่านั้น ภายนอกห้องทดลอง กระจกก็หยิบยื่นคุณประโยชน์ที่ทำให้สังคมก้าวไปข้างหน้ามากมายไม่แพ้กัน

ซึ่งระหว่างนี้จำต้องขอฝากทุกท่านลองคิดเล่นๆ ดู ว่าประโยชน์ที่ว่านั้นคืออะไร และโปรดติดตามตอนต่อไปในอาทิตย์หน้า...