posttoday

กำเนิดทารกแต่งพันธุกรรม ฉาวโฉ่จริยธรรมการแพทย์

02 ธันวาคม 2561

การตัดแต่งพันธุกรรมทารกของ นายแพทย์จีน นำมาสู่เสียงวิจารณ์จากนักวิทยาศาสตร์ทั่วทั้งโลก โดยเฉพาะประเด็นจริยธรรม

การตัดแต่งพันธุกรรมทารกของ นายแพทย์จีน นำมาสู่เสียงวิจารณ์จากนักวิทยาศาสตร์ทั่วทั้งโลก โดยเฉพาะประเด็นจริยธรรม

**************************************
โดย...สุภีม ทองศรี

วงการวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ได้เกิดประเด็นใหญ่โตทางจริยธรรมขึ้นในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อ "เหอเจี้ยนกุ๋ย" นักวิจัยด้านพันธุกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเซาเทิร์น ในเมืองเสิ่นเจิ้น ประเทศจีน อ้างว่า เด็กทารกแฝดคู่หนึ่งที่ได้รับการตัดแต่งรหัสพันธุกรรม (ยีน) เพื่อให้ปลอดเชื้อเอชไอวีจากพ่อแม่ ได้ลืมตาดูโลกแล้ว เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งนับว่าเป็นการกำเนิดของทารกที่ได้รับการตัดแต่งยีนครั้งแรกของโลก ต่างจากก่อนหน้านี้ ซึ่งยังคงมีการทดลองในระดับตัวอ่อนเท่านั้น และไม่เคยมีการปล่อยให้เกิดออกมาเป็นมนุษย์

"ผมเข้าใจว่าการทดลองของผมจะเป็นประเด็นใหญ่โต แต่ผมเชื่อว่าครอบครัวของเด็กต้องการเทคโนโลยีนี้ และผมพร้อมรับคำวิจารณ์" เหอ กล่าว

กระบวนการดังกล่าวของเหออาจช่วยให้เด็กไม่ได้รับเชื้อเอชไอวีจากพ่อแม่ได้ก็จริง แต่อย่างไรก็ดี การกระทำของเหอได้นำมาสู่เสียงวิจารณ์จากนักวิทยาศาสตร์ทั่วทั้งโลกและในจีน โดยเฉพาะประเด็นจริยธรรม ซึ่งหน่วยงานทางการจีนต้องสั่งสอบสวนและสั่งให้ยุติการทดลอง เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเซาเทิร์น ต้นสังกัดของเหอที่ระบุว่า การกระทำของเหอนับว่าเป็นการละเมิดต่อจริยธรรม และกฎระเบียบขั้นร้ายแรง โดยทางสถาบันกำลังตั้งผู้เชี่ยวชาญอิสระขั้นมา เพื่อดำเนินการสืบสวนอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ หลายประเทศทั่วโลกยังมีการกำหนดข้อจำกัด หรือห้ามการตัดแต่งยีนในตัวอ่อนมนุษย์ เพราะยังไม่แน่ใจเรื่องผลกระทบที่ตามมาอย่างแน่ชัด เช่น อังกฤษ ที่มีกฎหมายห้ามใช้การตัดแต่งยีนในตัวอ่อน เพื่อช่วยเรื่องการให้กำเนิดเด็ก โดยอนุญาตให้วิจัยแค่ในตัวอ่อนของเด็กหลอดแก้วที่ไม่มีชีวิตแล้วเท่านั้น และมีเงื่อนไขว่าต้องทำลายตัวอ่อนทิ้งหลังการทดลองทันที

ศ.โรเบิร์ต วินสัน ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านการเจริญพันธุ์ และศาสตราจารย์ฝ่ายวิทยาศาสตร์และสังคม ของมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน กล่าวว่า ไม่ว่าจะมองจากแง่มุมไหน การทดลองตัดแต่งยีนในทารกล่าสุดในจีนนับเป็นการกระทำผิดทางวิทยาศาสตร์

ขณะที่ จูเลียน ซาวูเลสคู ผู้เชี่ยวชาญด้านจริยธรรมของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ในอังกฤษ เปิดเผยว่า การตัดแต่งยีนถือว่าเป็นการทดลองมนุษย์ และอาจเกิดการกลายพันธุ์ที่ไม่พึงประสงค์ขึ้นมา ทั้งยังอาจเกิดปัญหาต่างๆ กับเด็ก เช่น การเป็นมะเร็งในอนาคต

แม้นักวิทยาศาสตร์บางคน ระบุว่า การตัดแต่งยีนเด็กอาจกลายเป็นการกระทำที่ยอมรับได้สักวันหนึ่งในอนาคต แต่ ยัลดา จัมชิดี ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแพทย์เซนต์ จอร์จ ในกรุงลอนดอน กล่าวว่า วงการพันธุศาสตร์ยังรับรู้ผลกระทบในระยะยาวของการทดลองดังกล่าวเพียงน้อยนิด และคนส่วนมากก็เห็นพ้องกันว่า การทดลองกับมนุษย์ ในกรณีที่ยังหาทางเลือกอื่นทดแทนกันได้ เป็นการทดลองที่ยอมรับไม่ได้ ทั้งในด้านศีลธรรมและจริยธรรม

ขณะที่ โรบิน แชตท็อก ประธานฝ่ายการติดเชื้อและภูมิคุ้มกันโรคของมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน เปิดเผยว่า ทารกฝาแฝดที่ได้รับการตัดแต่งยีนยังมีโอกาสได้รับเชื้อเอชไอวีอยู่ดี เนื่องจากเชื้อเอชไอวีบางสายพันธุ์อาจจะยังเข้าสู่เซลล์ของเด็กได้ ถ้าสัมผัสกับเนื้อเยื่อหรือของเหลวที่ติดเชื้อ พร้อมระบุว่า ยังมีวิธีอื่นที่น่าเชื่อถือหรือมีความเสี่ยงน้อยกว่าการตัดแต่งยีน

แชตท็อก ระบุว่า การใช้ยาต้านไวรัสสามารถช่วยป้องกันการแพร่เชื้อเอชไอวีจากพ่อแม่สู่ลูกได้และยาต้านไวรัส "เพร็พ" ก็ยังสามารถช่วยให้ป้องกันเชื้อเอชไอวีได้เช่นกัน

กำเนิดทารกแต่งพันธุกรรม ฉาวโฉ่จริยธรรมการแพทย์

เปิดประวัติหมออื้อฉาว

ทั้งนี้ เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ ได้สืบคุ้ยประวัติที่ผ่านมาของเหอ โดยพบว่าเหอเกิดที่มณฑลหูหนาน ทางตอนใต้ของจีน มีพื้นเพครอบครัวเป็นเกษตรกรและฐานะยากจน แต่ก็สามารถฟันฝ่าจนเข้าสู่โรงเรียนมัธยมดีที่ในสุดเขตได้

รายงานระบุว่า เหอสนใจศาสตร์ฟิสิกส์เป็นพิเศษ และมีความฝันสมัยเรียนว่าต้องการเป็น "อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์" แห่งจีน จนเรียนจบสาขาฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งจีน ทั้งยังได้รับทุนไปเรียนต่อที่สหรัฐด้วย

อย่างไรก็ดี ความฝันจะเป็นไอน์สไตน์แห่งจีนต้องจบลง เนื่องจากเหอยอมรับว่า ยุคทองแห่งฟิสิกส์ได้จบลงไปแล้ว ก่อนจะเปลี่ยนสาขาไปศึกษาด้านชีวฟิสิกส์ ที่มหาวิทยาลัยไรซ์ ในเมืองฮูสตัน ซึ่งทำให้เหอได้รู้จักกับเทคนิคการตัดแต่งพันธุกรรมที่มีชื่อว่า คริสเปอร์ แคสไนน์ เป็นครั้งแรก ก่อนจะย้ายไปเมืองเสิ่นเจิ้น ในปี 2012 และก่อตั้งสตาร์ทอัพ 2 แห่ง ในเวลาต่อมา

รายงานระบุว่า เพื่อนร่วมงานของเหอขนานนามเหอว่าเป็น "อัจฉริยะจอมบ้าบิ่น" ทั้งยังมีการยกเหอไปเปรียบเทียบกับอีลอน มัสก์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) เทสลา มอเตอร์ เนื่องจากเพื่อนร่วมงานมองว่า เหอมีความฉลาด บ้าบิ่น และช่างคิด เหมือนกับซีอีโอคนดัง ที่มักจะมีไอเดียแปลกๆ

นอกจากนี้ เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ เปิดเผยว่า ในปี 2017 เหอเคยโพสต์ข้อความผ่านทางบล็อกออนไลน์ว่า การตัดแต่งยีนยังไม่ปลอดภัยสำหรับการนำมาทดลองกับมนุษย์

จีนผ่อนกฎวิจัย

ขณะเดียวกัน บลูมเบิร์ก รายงานว่า รัฐบาลจีนได้ผ่อนกฎระเบียบในอุตสาหกรรมดูแลสุภาพอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ปี 2016 เพื่อรองรับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของความต้องการเข้าถึงบริการดูแลรักษาสุขภาพที่มีคุณภาพ โดยก่อนหน้านั้นหน่วยงานทางการจีนจะต้องใช้เวลากว่าหลายปี กว่าจะอนุมัติให้นักวิทยาศาสตร์สามารถดำเนินการวิจัยทางการแพทย์ได้

ทั้งนี้ กฎระเบียบเกี่ยวกับการวิจัยทางการแพทย์ได้เปลี่ยนไปในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากปักกิ่งยอมให้นักวิทยาศาสตร์ดำเนินการวิจัยได้เลย หลังยื่นเรื่องขออนุมัติครบ 60 วัน ถ้าสำนักงานผลิตภัณฑ์ยาแห่งชาติ ไม่ได้คัดค้านคำขอวิจัย ภายในช่วงเวลาดังกล่าว

รายงานระบุว่า การผ่อนกฎระเบียบของการวิจัยทางการแพทย์ ทำให้เกิดการวิจัยรูปแบบใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งการวิจัยจากนักวิทยาศาสตร์ในประเทศ และนักวิทยาศาสตร์จากต่างชาติ เพราะปัจจุบันการทดลองในจีนสามารถใช้เทคนิคและยาได้มากกว่าการทดลองในสหรัฐ หรือยุโรป

ภาพ เอเอฟพี