posttoday

ไต้หวันเตรียมลงประชามติครั้งสำคัญถึง 10 ประเด็น

22 พฤศจิกายน 2561

ไต้หวันเตรียมจัดลงประชามติในประเด็นสำคัญต่างๆ รวม 10 เรื่อง ทั้งการแต่งงานเพศเดียวกัน และเปลี่ยนชื่อเข้าแข่งขันโอลิมปิก ช่วงสุดสัปดาห์นี้

ไต้หวันเตรียมจัดลงประชามติในประเด็นสำคัญต่างๆ รวม 10 เรื่อง ทั้งการแต่งงานเพศเดียวกัน และเปลี่ยนชื่อเข้าแข่งขันโอลิมปิก ช่วงสุดสัปดาห์นี้

ทางการไต้หวันเตรียมจัดการลงประชามติครั้งสำคัญ ซึ่งจะมีขึ้นในเสาร์ที่ 24 พ.ย. นี้ โดยการลงประชามติครั้งนี้จะครอบคลุมในประเด็นสำคัญมากถึง 10 ประเด็น ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่ต้องจับตามอง 2 ประเด็นหลักๆคือ การที่ไต้หวันจะเปลี่ยนชื่อในการเข้าแข่งขันกีฬาโอลิมปิกจากเดิมในนาม"จีนไทเป" เป็นชื่อ "ไต้หวัน"

 

ไต้หวันเตรียมลงประชามติครั้งสำคัญถึง 10 ประเด็น

 

ซึ่งการเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกหลายครั้งที่ผ่านมานั้น นักกีฬาจากไต้หวันจะเข้าแข่งขันในนามผู้แข่งจาก "จีนไทเป" ซึ่งการเตรียมลงประชามติดังกล่าวจะเป็นที่จับตามองอย่างมากสำหรับรัฐบาลปักกิ่ง ซึ่งได้แสดงความไม่พอใจมาก่อนหน้านั้นแล้ว
ซึ่งหากชาวไต้หวันลงประชามติเสียงส่วนใหญ่ให้ใช้ชื่อ "ไต้หวัน" ในการเข้าแข่งขันกีฬาโอลิมปิก จะมีการใช้ชื่อดังกล่าวในการแข่งขันโอลิมปิกโตเกียว 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่น

อย่างไรก็ดี การลงมติเปลี่ยนชื่อดังกล่าวนั้น กลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากบรรดานักกีฬาโอลิมปิกหลายคน โดยส่วนใหญ่ต่างหนุนให้ใช้ชื่อ "จีนไทเป" ตามเดิม ด้วยเหตุผลตามข้อตกลงโลซานน์ในปี 1981 ที่คณะกรรมาธิการโอลิมปิกสากล (OIC) และคณะกรรมาธิการโอลิมปิกจีนไทเป (CTOC) ลงนามร่วมกัน ซึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทาง OIC ได้ยื่นจดหมายต่อทาง CTOC ถึงประเด็นดังกล่าวว่าไม่อาจเปลี่ยนชื่อจาก "จีนไทเป" เป็นชื่ออื่นได้

ขณะที่บรรดานักกีฬาที่ต่อต้านการเปลี่ยนชื่อครั้งนี้ ระบุว่า ด้วยเหตุผลตามข้อตกลงโลซานน์ การแข่งขันโอลิมปิกเป็นเพียงเวทีระดับนานาชาติเพียงไม่กี่แห่งที่ยอมรับพวกเขาในฐานะนักกีฬาตัวแทนไต้หวัน

 

ไต้หวันเตรียมลงประชามติครั้งสำคัญถึง 10 ประเด็น

 

ส่วนอีกประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การให้สิทธิการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกัน ซึ่งหากผลการลงประชามติในประเด็นดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่ จะส่งผลให้ไต้หวันกลายเป็นชาติแรกในเอเชียที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานกันได้

ด้านคณะกรรมการการเลือกตั้งของไต้หวัน ระบุว่าคาดว่าจะมีผู้ออกมาลงคะแนนใช้สิทธิประชามติครั้งนี้อย่างล้นหลาม จากจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงราว 19.8 ล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการเปลี่ยนชื่อการเข้าแข่งกีฬาโอลิมปิก เนื่องจากเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ของประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ผู้นำหญิงไต้หวันคนปัจจุบัน ชูประเด็นเรื่องความอิสระจากรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่มาตลอด