posttoday

เมื่อสมาร์ทโฟน-โซเชียล ทำคน"ไอเจน" ไม่พอใจไปทุกอย่าง

14 พฤศจิกายน 2561

ผลศึกษาของศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาพบ สมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดียทำให้คนกลุ่ม "iGen" จำนวนไม่น้อยไม่พอใจกับทุกๆเรื่องในชีวิต

ผลศึกษาของศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาพบ สมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดียทำให้คนกลุ่ม "iGen" จำนวนไม่น้อยไม่พอใจกับทุกๆเรื่องในชีวิต

ผลการศึกษาพฤติกรรมของวัยรุ่นอายุ 13-18 ปี หรือคนกลุ่มไอเจน (iGen) กว่า 1 ล้านคน ของจีน ทเวงกี้ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจาก ม.แซนดิเอโก ในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐ พบว่าสมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดียคือตัวการทำให้คนไอเจนไม่พอใจและบ่นได้ทุกเรื่อง

ทเวงกี้อธิบายว่า กลุ่มไอเจนคือ คนที่เกิดระหว่างปี 1995-2012 ถือเป็น เจเนอเรชั่นแรกที่จะได้ใช้ชีวิตวัยรุ่นทั้งหมดในยุคแห่งสมาร์ทโฟน เป็นกลุ่มคนที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในออนไลน์ โซเชียลมีเดีย และเล่นเกม ทำให้ไม่ค่อยได้ทำกิจกรรมที่ไม่ได้อยู่บนหน้าจอซึ่งจำเป็นสำหรับชีวิต อาทิ อ่านหนังสือ นอนหลับ หรือพบปะเพื่อนฝูงแบบตัวต่อตัว วัยรุ่นเจนนี้จะโตช้ากว่าคนรุ่นก่อนๆ บางคนอายุ 18 ปีแล้วแต่ยังไม่มีงานทำ หรือยังไม่มีใบขับขี่ ทว่า กลับมีเด็กวัยรุ่นบางคนที่เริ่มรู้สึกไม่ชอบชีวิตแบบที่ตัวเองเป็นอยู่ เนื่องจากบางครั้งพวกเขาคุยกับเพื่อน แต่เพื่อนกลับจ้องแต่สมาร์ทโฟน

การศึกษาของทเวงกี้ ยังพบอีกว่า ราวปี 2011-2012 เกิดการเปลี่ยนแปลงกับวัยรุ่นกลุ่มนี้อย่างกะทันหัน ทั้งความรู้สึกโดดเดี่ยว ถูกทิ้ง ชีวิตไร้ค่า ซึ่งทั้งหมดนี้คืออาการของโรคซึมเศร้า โดยมีผู้ป่วยโรคนี้เพิ่มถึง 60% ในช่วง 5 ปี ขณะที่อัตราการทำร้ายตัวเองในวัยรุ่นหญิงเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า และในช่วง 2-3 ปีมานี้ ยังมีวัยรุ่นฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 2 เท่า ยิ่งช่วงที่สมาร์ทโฟนกลายเป็นอุปกรณ์สามัญ ปัญหาทางจิตเหล่านี้
ก็ยิ่งเพิ่มขึ้น

ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาฝาก คำแนะนำไปยังผู้ปกครองว่า ทางแก้ที่ดีที่สุดคือควบคุมการใช้งานโซเชียลมีเดียลงเหลือวันละ 2 ชม. หรือน้อยกว่านั้น โดยใช้เท่าที่จำเป็นจริงๆ เช่น ติดต่อเพื่อนฝูง หรือดูคลิปวิดีโอ แต่ก็ไม่ใช่หยุดใช้เสียทีเดียว เพราะจะทำให้ไม่มีความสุขเช่นกัน เพียงเท่านี้ก็จะได้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดียและเทคโนโลยี โดยไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต

ภาพ เอเอฟพี

ที่มา www.m2fnews.com