posttoday

เครื่องมือแพทย์ราคาถูก สานต่อชีวิตเด็กทั่วโลก

21 ตุลาคม 2561

"ชางเตวี๊ยดหง่า" อดีตนักเรียนนอกชาวเวียดนาม ลุกขึ้นตั้งบริษัทพัฒนาเครื่องมือแพทย์ราคาย่อมเยา หวังช่วยชีวิตเด็กแรกเกิดทั่วโลก

"ชางเตวี๊ยดหง่า" อดีตนักเรียนนอกชาวเวียดนาม ลุกขึ้นตั้งบริษัทพัฒนาเครื่องมือแพทย์ราคาย่อมเยา หวังช่วยชีวิตเด็กแรกเกิดทั่วโลก

********************

โดย...จุฑามาศ เนาวรัตน์

เป็นความจริงที่น่าเศร้าว่าในทุกๆ วัน มีเด็กทารกแรกเกิดเฉลี่ย 7,000 คนทั่วโลก ต้องจบชีวิตลงในช่วงเดือนแรกของการลืมตาดูโลก หรือคิดเป็นจำนวนรวมกว่า 2.5 ล้านคน ในปี 2017 ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (ดับเบิ้ลยูเอชโอ) ซึ่งสาเหตุหลักในการเสียชีวิตของทารกทั่วโลกนั้นมาจากการขาดแคลนการได้รับการดูแลอย่างทันท่วงทีและมีคุณภาพ

ปัญหาเช่นนี้สร้างความรู้สึกหดหู่อย่างยิ่งให้กับ ชางเตวี๊ยดหง่า อดีตนักเรียนนอกชาวเวียดนาม ที่ได้เดินทางไปเรียนยังเดนมาร์ก และกลับมาเริ่มต้นชีวิตการทำงานในองค์กรด้านการแพทย์ของสหรัฐในกรุงฮานอย ด้วยหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบในการติดต่อกับแพทย์และผู้ออกแบบเครื่องมือการแพทย์ในต่างประเทศ รวมถึงการต้องไปเยือนโรงพยาบาลกุมารเวชแห่งชาติบ่อยครั้ง ทำให้หง่าเห็นว่าปัญหาทารกที่เสียชีวิตตั้งแต่แรกเกิดในประเทศของเธอหนักหน่วงเพียงใดและสาเหตุสำคัญนั้นมาจากอะไร

“ในเวียดนามมีเด็กทารกหลายคนที่ต้องจบชีวิตลงเพราะคลอดก่อนกำหนด หรือต้องหายใจอย่างยากลำบากเนื่องจากโรงพยาบาลไม่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์เพียงพอที่จะยื้อชีวิตน้อยๆ เหล่านี้เอาไว้” หง่า กล่าว

นอกจากนี้ อุปกรณ์ทางการแพทย์ล้วนมีราคาสูงเพราะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้นเครื่องมือทางการแพทย์สำหรับดูแลรักษาเด็กทารกจึงขาดแคลนอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้นคือแม้ว่าโรงพยาบาลหลายแห่งในเวียดนามได้รับการสนับสนุนด้านเครื่องมือจากองค์กรต่างประเทศ แต่เครื่องมือมักถูกเก็บทิ้งไว้ในห้องเก็บของอย่างเปล่าประโยชน์ เพราะไม่มีใครรู้ถึงวิธีการใช้หรือวิธีการดูแลรักษาเครื่องมืออันทันสมัยเหล่านั้น

หง่ากล่าวต่ออย่างมีความหวังว่า สักวันหนึ่งเธออยากเห็นเวียดนามเป็นเหมือนเดนมาร์ก เพราะตลอดการใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น เธอรับรู้ได้อย่างชัดเจนว่าเด็กทารกทุกคนในเดนมาร์กมีโอกาสเท่าเทียมกันที่จะเติบโต เนื่องจากเดนมาร์กเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับชีวิตของคนอย่างมาก

เครื่องมือแพทย์ราคาถูก สานต่อชีวิตเด็กทั่วโลก ชางเตวี๊ยดหง่า

จากความหวังสู่การลงมือทำ

จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นในปี 2004 เมื่อเธอและเพื่อนอีก 3 คนได้ต่อยอดความหวังด้วยการร่วมกันก่อตั้ง เมดิคอล เทคโนโลยี ทรานส์เฟอร์ แอนด์ เซอร์วิสส์ (MTTS) เพื่อพัฒนานวัตกรรมและโซลูชั่นทางการแพทย์สำหรับเด็กแรกเกิดที่มีราคาไม่แพง ซึ่งโชคดีที่ความคิดของหง่าไม่ได้มีจุดจบเหมือนเครื่องมือแพทย์อันทันสมัยที่ถูกทิ้งไว้ในของเก็บของ เพราะจนถึงวันนี้ เอ็มทีทีเอสสามารถดูแลและช่วยชีวิตเด็กแรกเกิดทั่วโลกได้มากถึง 1.4 ล้านคน

ก้าวแรกของหง่าและเพื่อนเริ่มต้นด้วยการสร้างเครื่องช่วยหายใจ ตู้อบสำหรับเด็กแรกเกิดและเด็กคลอดก่อนกำหนด และเครื่องมือส่องไฟเพื่อช่วยรักษาเด็กแรกเกิดที่มีภาวะตัวเหลือง

ความมุ่งมั่นในครั้งนี้ทำให้ MTTS ประสบความสำเร็จในการสร้างเครื่องเป่าความดันลมเพื่อเปิดขยายทางเดินหายใจ (ซีพีเอพี) สำหรับทารกที่มีอาการหายใจลำบาก ได้ด้วยราคาเพียง 250 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8,160 บาท) ซึ่งถูกกว่าหลายเท่าเมื่อเทียบกับเครื่องที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาสูงถึง 1,500 ล้านดอลลาร์ (ราว 4.9 หมื่นบาท)

ทั้งนี้ เครื่องซีพีเอพีของบริษัทออกแบบมาให้สามารถนำท่อทางเดินหายใจกลับมาใช้ใหม่ได้ ด้วยวิธีผ่านการฆ่าเชื้อ แตกต่างจากเครื่องที่ผลิตในต่างประเทศที่จะต้องเปลี่ยนท่อดังกล่าวใหม่ทุกครั้งที่มีการใช้งาน

นอกจากนี้ MTTS ยังสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตได้ด้วยการจ้างพนักงานท้องถิ่นและอาสาสมัครชาวต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญด้านอุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งนอกจากราคาที่ไม่แพงแล้วนั้น เอ็มทีทีเอสยังได้พัฒนาอุปกรณ์การแพทย์ของตนด้วยการเพิ่มระบบควบคุมคุณภาพ และการรับประกันด้านการเงินและคุณภาพร่วมด้วย

“เรารู้ดีว่าเรื่องค่าใช้จ่ายเป็นปัญหาสำคัญอย่างยิ่งสำหรับประเทศกำลังพัฒนา และเมื่อมีต้นทุนที่สูงค่าใช้จ่ายจึงมักถูกผลักไปให้ผู้ป่วยที่ไม่มีกำลังที่จะจ่ายเงินรักษาได้ในอัตราที่สูงเช่นกัน ดังนั้นสิ่งที่เราทำคือการลดต้นทุนอุปกรณ์การแพทย์ให้เหลือน้อยที่สุด รวมถึงสามารถใช้งานได้ง่ายและยาวนานมากขึ้น แม้ในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกก็ตาม ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ทำให้เราแตกต่างจากคู่แข่ง” หง่า กล่าว

อย่างไรก็ดี การเริ่มต้นสำหรับเอ็มทีทีเอสไม่ใช่เรื่องง่าย หง่าและเพื่อนต้องใช้ระยะเวลายาวนานกว่าจะสามารถระดมทุนและชักชวนผู้อื่นให้เห็นถึงความสำคัญของแนวคิดนี้ และในที่สุดความพยายามก็เป็นผล MTTS สามารถส่งมอบอุปกรณ์การแพทย์ให้กับโรงพยาบาลหลายแห่ง ได้ด้วยเงินทุนจากทั้งสถานทูตเดนมาร์ก ประจำกรุงฮานอย สมาคมสตรีนานาชาติ และผู้บริจาคอีกหลายคน

เครื่องมือแพทย์ราคาถูก สานต่อชีวิตเด็กทั่วโลก เครื่องส่องไฟรักษาทารกที่มีภาวะดีซ่าน

ความสำเร็จ

ไม่เพียงประสบความสำเร็จในประเทศบ้านเกิด ในปี 2007 เครื่องซีพีเอพีของ MTTS ก็ได้รับการติดตั้งในโรงพยาบาลที่ประเทศลาวเป็นครั้งแรก และในปี 2016 อุปกรณ์การแพทย์ของเอ็มทีทีเอสกว่า 180 ชิ้นได้ส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลในเมียนมาตามคำสั่งซื้อของกระทรวงสาธารณสุขเมียนมา

“จากคำสั่งซื้อดังกล่าว ทำให้เราเริ่มมีเงินทุนมากขึ้นเพื่อขยายธุรกิจ และมีทรัพยากรมากขึ้นเพื่อทำการรวิจัย นั่นคือสิ่งที่ทำให้เราสามารถช่วยชีวิตเด็กแรกเกิดได้มากขึ้น ตามความมุ่งหวังตั้งแต่เริ่มแรกที่จัดตั้งเอ็มทีทีเอสขึ้นมา”หง่า กล่าว

จนถึงวันนี้ MTTS ได้จำหน่ายอุปกรณ์การแพทย์ราคาประหยัดกว่า 4,000 รายการ ให้แก่โรงพยาบาลใน 35 ประเทศทั่วทั้งเอเชียและแอฟริกา

แม้ว่า MTTS จะเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว แต่หง่าและเพื่อนของเธอยังคงมุ่งมั่นพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์ของเอ็มทีทีเอสให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น ตู้อบสำหรับทารกที่ให้ความสะดวกสบายสูงสุดแก่เด็กแรกเกิด ซึ่งได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติฮานอย และคาดว่าจะได้รับความสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุขเวียดนามในอนาคต

จากความทุ่มเททั้งหมดของหง่าและเพื่อน ทำให้เอ็มทีทีเอสได้รับการเสนอชื่อจากมูลนิธิชวาบ (Schwab Foundation) ให้เข้าชิงรางวัล “ผู้ประกอบการเพื่อสังคมแห่งปี 2017” จากการที่สามารถดูแลและช่วยชีวิตเด็กแรกเกิดได้กว่า 1.4 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งหากนับในปี 2017 เพียงปีเดียว เอ็มทีทีเอสได้ช่วยเด็กแรกเกิดไปมากถึง 1.05 แสนคน

ยิ่งไปกว่านั้นคือหง่าและเกรกอรี เดเจอร์ สามีของเธอ มีโอกาสได้เข้าร่วมการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม อาเซียน ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 11-13 ก.ย.ที่ผ่านมา เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและอภิปรายถึงโอกาสและความท้าทายที่ได้เผชิญตลอดการทำงานที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ความสำเร็จของธุรกิจเพื่อสังคมเวียดนามที่ได้ทำประโยชน์ให้คนทั้งภูมิภาคแห่งนี้

เครื่องมือแพทย์ราคาถูก สานต่อชีวิตเด็กทั่วโลก ทีมงาน MTTS