posttoday

ตามส่องเมืองนอกควบคุม "หมาแมว" กันยังไง?

14 ตุลาคม 2561

สำรวจโมเดลการควบคุมการเลี้ยงหมา-แมวในต่างประเทศ ที่มีการกำหนดกฎเกณฑ์ควบคุมอย่างเข้มงวดตั้งแต่เริ่มได้สัตว์เลี้ยงมาครอบครอง

สำรวจโมเดลการควบคุมการเลี้ยงหมา-แมวในต่างประเทศ ที่มีการกำหนดกฎเกณฑ์ควบคุมอย่างเข้มงวดตั้งแต่เริ่มได้สัตว์เลี้ยงมาครอบครอง

ประเด็นที่มีการพูดถึงกันในบ้านเราช่วงนี้ คงหนีไม่พ้นการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงที่เจ้าของสุนัขและแมวต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรวมแล้วตัวละ 450 บาท ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่าคนจะเอาสัตว์เลี้ยงไปทิ้ง หรือมองว่าเป็นการเพิ่มภาระให้เจ้าของมากเกินไป จนทางการถอยทัพขอกลับไปทบทวนก่อน

แต่ในต่างประเทศการจะมีสัตว์เลี้ยงสักตัวไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทางการกำหนดกฎเกณฑ์เข้มงวดตั้งแต่ขั้นตอนการซื้อเลยทีเดียว เพื่อป้องกันไม่ให้มีสุนัขและแมวจรจัด

อย่างประเทศเยอรมนี หลังได้รับสุนัขมาแล้ว ก็ต้องไปลงทะเบียนกับทางการท้องถิ่นว่า เจ้าของชื่ออะไร บ้านเลขที่เท่าไร สุนัขพันธุ์อะไร เพศไหน จากนั้นต้องจ่ายภาษี Hundesteuer หรือภาษีสุนัขรายปี ซึ่งอยู่ระหว่าง 24-100 ยูโร หรือ 908-3,787 บาท ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์สุนัขและข้อกำหนดของแต่ละเมือง และยิ่งมีสุนัขเยอะยิ่งต้องจ่ายภาษีสัตว์เลี้ยงแต่ละตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่จะยกเว้นให้กับสุนัขนำทาง

ส่วนสุนัขที่รับมาเลี้ยงจะได้รับยกเว้นภาษีในปีแรก นอกจากนี้ ยังต้องซื้อประกันภัยสำหรับสุนัขในกรณีที่สุนัขไปทำความเสียหายแก่ทรัพย์สินหรือกัดผู้อื่น ส่วนแมวต้องจดทะเบียนแต่ไม่ต้องเสียภาษี

ตามส่องเมืองนอกควบคุม "หมาแมว" กันยังไง?

ขณะที่ เนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีสุนัขจรจัดประเทศแรกของโลก สุนัขทุกตัวต้องลงทะเบียนไมโครชิป และมีการเก็บภาษีรายปีตามจำนวนที่เลี้ยง ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละเมือง เช่น กรุงเฮก ตัวแรกต้องจ่าย 112.80 ยูโร หรือ 4,267 บาท ตัวที่สอง 176.76 ยูโร หรือ 6,694 บาท ตัวที่สาม 224.16 ยูโร หรือ 8,489 บาท

ภาษีเหล่านี้รัฐจะนำไปซื้อถุงเก็บอุจจาระสุนัขสำหรับแจกตามสวนสาธารณะ และยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่เข้มงวดมาก อาทิ ปล่อยให้สุนัขอุจจาระเรี่ยราดปรับ 140 ยูโร หรือ 5,302 บาท ไม่มีสายจูงสุนัขที่พาไปเดินเล่นปรับ 90 ยูโร หรือ 3,408 บาท หากทอดทิ้งหรือดูแลไม่เหมาะสมปรับถึง 16,000 ยูโร หรือ 605,952 บาท

นิวซีแลนด์ กำหนดให้สุนัขอายุ 3 เดือนขึ้นไปทุกตัวต้องฝังไมโครชิปก่อนขึ้นทะเบียน สุนัขที่ขึ้นทะเบียนแล้วต้องสวมป้ายระบุเมือง วันหมดอายุ หมายเลขประจำตัว ซึ่งป้ายจะเปลี่ยนสีทุกปีให้สังเกตง่าย โดยค่าขึ้นทะเบียนจะแตกต่างกันในแต่ละเมืองและลักษณะอื่นๆ เช่น การทำหมัน ที่อยู่อาศัยในเมืองหรือชนบท สายพันธุ์และความอันตราย เจ้าของมีความรับผิดชอบหรือไม่

ตามส่องเมืองนอกควบคุม "หมาแมว" กันยังไง?

ส่วนประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สิงคโปร์ กำหนดให้เจ้าของนำสุนัขทุกตัวไปลงทะเบียนเพื่อควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า โดยสุนัขอายุต่ำกว่า 5 เดือน เสียค่าขึ้นทะเบียน 15 เหรียญสิงคโปร์ หรือ 356 บาทต่อปี สุนัขสามตัวแรก หากทำหมันแล้ว 15 เหรียญสิงคโปร์ต่อตัวต่อปี ยังไม่ทำหมัน 90 เหรียญสิงคโปร์ หรือ 2,136 บาทต่อตัวต่อปี

นอกจากนี้ หากพาสุนัขไปนอกบ้านต้องมีสายจูงและต้องควบคุมตามความเหมาะสม และต้องแจ้งทางการเมื่อเปลี่ยนเจ้าของสุนัข ย้ายที่อยู่ หรือสุนัขตายหรือหาย ส่วนสุนัขที่ทางการเห็นว่าเป็นสายพันธุ์อันตรายต้องทำประกันที่ครอบคลุมค่าสินไหมอย่างน้อย 100,000 เหรียญสิงคโปร์ หรือ 2.373 ล้านบาท รวมทั้งต้องมีแบงก์การันตีราว 2,000-5,000 เหรียญสิงคโปร์ หรือ 47,478-118,695 บาทด้วย

ตามส่องเมืองนอกควบคุม "หมาแมว" กันยังไง?

ที่มา www.m2fnews.com

ภาพ เอเอฟพี