posttoday

"มหาวิทยาลัยจีน"ผงาด! กรุยทางมหาอำนาจโลก

30 กันยายน 2561

จีนทุ่มเทพัฒนาด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างประชากรที่ "ฉลาดและเก่ง"มาเป็นรากฐานสำคัญของประเทศ

"จีน"ทุ่มเทพัฒนาด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างประชากรที่ "ฉลาดและเก่ง"มาเป็นรากฐานสำคัญของประเทศ

************************

โดย...จุฑามาศ เนาวรัตน์

“จีนกำลังก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจอันดับ 1ของโลก” เป็นประโยคที่คนทั่วโลกต่างได้ยินกันจนคุ้นชินมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่อิทธิพลของจีนกำลังแผ่ขยายออกไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจ จนทำให้บรรดานักวิเคราะห์หลายสำนักต่างออกมา คาดหมายว่า โลกคงได้เห็นภาพมังกรจีนโค่นพญาอินทรีสหรัฐในอีกไม่ช้านี้

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ หากจีนสามารถก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจโลกเบอร์ 1 ได้จริง อะไรคือสิ่งที่จะทำให้จีนสามารถอยู่ในตำแหน่งนี้ได้อย่างยาวนาน และไม่โดนประเทศอื่นแซงหน้า ดังที่มีคนเคยกล่าวเอาไว้ว่า การขึ้นเป็นที่ 1 ว่ายากแล้ว แต่การรักษาความเป็นที่ 1 นั้นคือสิ่งที่ยากกว่า

หนึ่งในคำตอบสู่การรักษาความยิ่งใหญ่เอาไว้อย่างยั่งยืน คือการทุ่มเทพัฒนาด้านการศึกษา เพื่อสร้างประชากรที่ “ฉลาดและเก่ง” มาเป็นรากฐานสำคัญของประเทศ

ความพยายามดังกล่าวสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนจากรายงานการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลกกว่า 1,250 แห่ง ประจำปี 2019 ของ ไทมส์ ไฮเออร์ เอ็ดดูเคชั่น (Times Higher Education) นิตยสารด้านการศึกษาของอังกฤษ ที่ระบุว่า มหาวิทยาลัยของจีนมีอันดับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยชิงหวา ในกรุงปักกิ่ง ที่ทะยานขึ้นสู่อันดับ 22 ของโลก จากเดิมซึ่งอยู่ในอันดับ 30 ในปี 2018 อีกทั้งยังได้ขึ้นแท่นเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของเอเชีย เบียดเจ้าของตำแหน่งเดิมอย่างมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ตกอันดับไป

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยของจีนยังสามารถฝ่าด่านมหาวิทยาลัยชื่อดังจากชาติตะวันตกมาอยู่ใน 100 อันดับแรกได้มากถึง 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยชิงหวาที่อยู่ในอันดับ 22 มหาวิทยาลัยปักกิ่งในอันดับ 31 และมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีนในอันดับ 93

ไซมอน มาร์กินสัน ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของโลกในการจัดอันดับครั้งนี้ แสดงความเห็นว่า เขาไม่ได้รู้สึกตะลึงกับผลที่ออกมามากนัก โดยการผงาดขึ้นมาของมหาวิทยาลัยชิงหวามาจากการเน้นพัฒนาสภาพแวดล้อมด้านการเรียนการสอนในช่วงที่ผ่านมา

“ในด้านคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์นั้น จีนได้แซงหน้ามหาวิทยาลัยในสหรัฐและยุโรปไปแล้ว โดยมหาวิทยาลัยชิงหวาใกล้จะขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของโลกแล้ว และกำลังมาแรงอย่างรวดเร็วในด้านวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์และวิศวกรรม” มาร์กินสัน กล่าว

เร่งพัฒนาทุนมนุษย์

จีนวางแผนไว้มาอย่างดีแล้วว่าการพัฒนาคนในประเทศจะช่วยให้สามารถก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจโลกได้อย่างมั่นคง โดยความจริงจังในการพัฒนาคน ปรากฏออกมาจากการเร่งลงทุนพัฒนา “ทุนมนุษย์” มาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา

จากงานวิจัยการลงทุนด้านทุนมนุษย์ใน 195 ประเทศทั่วโลกของนิตยสาร เดอะ แลนเซต หนึ่งในนิตยสารด้านการแพทย์ที่เก่าแก่มากที่สุดของโลก ซึ่งใช้เกณฑ์วัดจากอายุขัย การเรียนรู้ สุขภาพ และการเข้ารับการศึกษา ของประชากรแต่ละประเทศ พบว่า อันดับของจีนในการลงทุนพัฒนามนุษย์นั้นพุ่งขึ้นจากอันดับ 69 ในปี 1990 มาอยู่อันดับที่ 44 ในปี 2016 เพิ่มขึ้นมากถึง 25 อันดับในเวลาไม่ถึง 30 ปี

ทั้งนี้ ความพยายามของจีนในการพัฒนาประชากรในประเทศนั้นเริ่มต้นอย่างจริงจังเมื่อปี 1990 เมื่อรัฐบาลได้ลงทุนในด้านการศึกษาและการแพทย์อย่างมหาศาล จนทำให้มีจำนวนผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยในประเทศสูงถึง 8 ล้านคน ในปี 2017 เพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่าจากปี 1997 ขณะที่อายุขัยเฉลี่ยของชาวจีนก็เพิ่มขึ้นเป็น 76.5 ปี ในปี 2016 จากเดิมที่ 67.9 ปี ในปี 1981

แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นคือ ระหว่างที่จีนกำลังมุ่งมั่นในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ประเทศมหาอำนาจโลกเบอร์ 1 อย่างสหรัฐที่มักจะกล่าวว่า จีนถือเป็นภัยคุกคามต่ออำนาจของสหรัฐ กลับมีอันดับในการลงทุนพัฒนามนุษย์ต่ำลงอย่างน่าตกใจ จากอันดับ 6 ในปี 1990 สู่อันดับ 26 ในปี 2016

“เห็นได้ชัดเจนว่าจีนกำลังมุ่งไปข้างหน้า ขณะที่สหรัฐนั้นเริ่มไม่ได้กระตุ้นการลงทุนเชิงกลยุทธ์เพิ่มอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการศึกษา ซึ่งเสี่ยงจะถูกทิ้งห่างยิ่งขึ้นในอนาคต” คริสโตเฟอร์ เมอร์เรย์ ผู้อำนวยการสถานบันวัดและประเมินผลด้านสุขภาพของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน กล่าว

"มหาวิทยาลัยจีน"ผงาด! กรุยทางมหาอำนาจโลก

ดึงต่างชาติเรียนมหา’ลัยจีน

อย่างไรก็ดี เมื่อคิดจะก้าวขึ้นเบอร์ 1 ของโลก การพัฒนาคนในประเทศให้ฉลาดและเก่งเพื่อเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคตนั้นอาจจะไม่มากเพียงพอ วิสัยทัศน์ของจีนกำลังก้าวไปไกลกว่านั้นจนน่าทึ่ง เพราะดูเหมือนว่าจีนกำลังดึงนักศึกษาต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาในประเทศที่จีนกำลังเข้าไปลงทุนภายใต้โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (วันเบลต์วันโรด) ให้เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยของจีน

อลัน ฉึง ศาสตราจารย์ด้านการบริหารและนโยบายการศึกษาจากมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง ระบุว่า แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังการดึงนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนในจีนคือ จีนต้องการพัฒนาคนในประเทศเส้นทางโครงการวันเบลต์วันโรดกว่า 60 ประเทศ ให้มีการศึกษาและมีทักษะมากขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายระยะยาวทั้งในด้านการเงิน โครงสร้างพื้นฐาน และนโยบายตามที่วางไว้ในโครงการวันเบลต์วันโรด

วิธีการที่จีนใช้ดึงดูดนักศึกษาจากประเทศเหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนาก็คือ รัฐบาลจีนจะจัดสรรทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาจากประเทศเหล่านี้กว่า 1 หมื่นทุน/ปี โดยนับตั้งแต่ปี 2012 จำนวนนักศึกษาที่ได้รับทุนนั้นเพิ่มขึ้นมากถึง 70%

นอกจากนี้ นักศึกษาต่างชาติยังได้รับสิทธิยกเว้นไม่ต้องเข้ารับการสอบเกาเข่า หรือการสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยที่เลื่องชื่อเรื่องความโหดของจีน แต่จะมีระบบแยกโดยเฉพาะแทน

ขณะที่นักศึกษาต่างชาติเองก็มองว่าการเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยจีนก็เป็นประโยชน์ต่อตัวเองเช่นกัน โดยเซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ รายงานว่า นักศึกษาต่างชาติหลายคนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า สิ่งที่ทำให้เลือกเรียนในมหาวิทยาลัยของจีนคือ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของจีนสามารถสร้างโอกาสทางการเรียนรู้ใหม่ๆ ได้มากกว่ามหาวิทยาลัยในประเทศตนที่ยังคงไม่มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเทียบเท่าจีน อีกทั้งการเรียนในจีนทำให้มีความรู้ในเรื่องวัฒนธรรม สังคม และภาษาจีน ซึ่งเป็นเหมือนใบเบิกทางชั้นเยี่ยมในการทำงานในอนาคต

“การรู้ภาษาและวัฒนธรรมจีนจะเป็นโบนัสใหญ่ในเรซูเมของฉัน” ไมรา ตาฮีร์ นักศึกษาชาวปากีสถานที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “เอ็มไอทีแห่งตะวันออก” กล่าว ซึ่งเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นว่า โลกกำลังให้ความสำคัญกับมหาอำนาจเบอร์ 2 อย่างมาก และไม่แน่ว่าในอนาคต ทรัพยากรมนุษย์ที่เก่งและฉลาดตามที่จีนได้หมายมั่นปั้นมือว่าจะสร้างขึ้นมานั้น อาจทำให้จีนไม่ต้องตกอยู่ในตำแหน่งเบอร์รองอีกต่อไป