posttoday

จีนเชือด "ฟ่านปิงปิง" บีบบันเทิงมุ่งคุณภาพ

16 กันยายน 2561

การปราบปรามของรัฐบาลจีนจะบีบให้สตูดิโอต้องหันไปเน้นสร้างคอนเทนต์คุณภาพสูงแทนที่การพึ่งพาเหล่าซูเปอร์สตาร์เป็นจุดขาย

การปราบปรามของรัฐบาลจีนจะบีบให้สตูดิโอต้องหันไปเน้นสร้างคอนเทนต์คุณภาพสูงแทนที่การพึ่งพาเหล่าซูเปอร์สตาร์เป็นจุดขาย

****************************

โดย...สุภีม ทองศรี

เมื่อไม่นานนี้ วงการบันเทิงและสื่อทั่วโลกต่างตั้งคำถามเกี่ยวกับการหายตัวไปของ “ฟ่านปิงปิง” ดาราชื่อดังชาวจีน ผู้โด่งดังไปถึงระดับฮอลลีวู้ด หลังดาราสาวผู้นี้ไม่ปรากฏตัวสู่สาธารณะ อีกทั้งไม่มีความเคลื่อนไหวบนสื่อโซเชียลมีเดีย ไม่มีภาพหลุดจากปาปาราซซี่ และไม่ไปในงานอีเวนต์ใดๆ เลย มาเป็นเวลากว่า 3 เดือนแล้ว นับจนถึงวันนี้ (16 ก.ย.) ซึ่งเป็นวันเกิดครบรอบ 37 ปี ของฟ่าน

การหายตัวไปอย่างลึกลับของฟ่านเกิดขึ้นหลังการแฉเรื่องการเซ็นสัญญาเล่นหนังแบบ “หยิน-หยาง” หรือสัญญา 2 ฉบับ โดยฉบับแรกเป็นสัญญาค่าจ้างทั้งหมด และอีกฉบับเป็นค่าจ้างที่ลดลงมาเพื่อให้จ่ายภาษีน้อยลง หลังจากนั้นก็มีข่าวจากซีเคียวริตีส์ เดลี สื่อด้านความมั่นคงของทางการจีน รายงานว่า ฟ่านถูกจับกุมจากคดีเลี่ยงภาษี ซึ่งคดีดังกล่าวเป็นเพียงปลายยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น เพราะฟ่านคาดว่าพัวพันกับคดีอื่นๆ ด้วย เช่น การทุจริตและยักยอกเงิน ทว่า ข่าวนี้ก็หายไปจากสารบบของเว็บไซต์หลังเผยแพร่ได้ไม่นานนัก ซึ่งยิ่งกระพือความสงสัยยิ่งขึ้นว่า เกิดอะไรขึ้นกับดาราสาวผู้นี้กันแน่

สำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์จีน การหายตัวของฟ่านเป็นสัญญาณย้ำเตือนให้เห็นถึงความไม่แน่นอนในธุรกิจบันเทิงแดนมังกร ซึ่งเป็นประเทศที่ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ ตั้งแต่เสื้อผ้าหน้าผม ไปจนถึงเรื่องเบื้องหลังอย่างค่าตัวดารา

ทั้งนี้ ปัญหาของฟ่านนั้น ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการเน้นอัดเงินจ้างดาราดังจนค่าตัวแพงกระฉูด จนนำไปสู่ปัญหาเลี่ยงภาษีตามมา ทำให้ทางการต้องออกกฎควบคุมค่าจ้างดาราไม่ให้ทะยานหลุดโลกในเวลาต่อมา สถานการณ์ดังกล่าวเป็นการส่งคำเตือนไปถึงบรรดาสตูดิโอจีน ให้ต้องเลิกทุ่มเงินจ้างดาราดังเพื่อเป็นจุดขายสำหรับละครหรือภาพยนตร์ได้แล้ว เหมือนกับที่วงการฮอลลีวู้ดเคยปรับเปลี่ยนมาเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้

ไลเกอร์ หยาง หุ้นส่วนของแลนด์มาร์ค แคปปิตอล บริษัทในกรุงปักกิ่ง ซึ่งลงทุนในสตาร์ทอัพด้านบันเทิง และสตูดิโอหลายแห่ง เปิดเผยว่า การปราบปรามของรัฐบาล จะบีบให้สตูดิโอต้องหันไปเน้นสร้างคอนเทนต์คุณภาพสูง แทนที่การพึ่งพาเหล่าซูเปอร์สตาร์เพื่อเรียกความสนใจจากสาธารณชน

แม้ว่าการจ้างดาราดังเพื่อเรียกกระแสให้กับหนัง อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์จีนให้อยู่ในช่วงขาขึ้น แต่ในความจริงแล้วสตูดิโอรายใหญ่หลายแห่ง รวมถึง หัวอี้ บราเธอร์ส มีเดีย และเจ้อเจียง หวาเซ ฟิล์ม แอนด์ ทีวี เคยระบุในรายงานผลประกอบการประจำปีว่า การจ่ายค่าตัวดาราสูงลิบเสี่ยงฉุดรายได้ของสตูดิโอลงอย่างมาก

จีนเชือด "ฟ่านปิงปิง" บีบบันเทิงมุ่งคุณภาพ

คอนเทนต์คุณภาพปรากฏ

ตัวอย่างของการมุ่งพัฒนาคอนเทนต์คุณภาพเริ่มปรากฏให้เห็นจากเรื่อง “Hello, Mr.Billionaire” ภาพยนตร์แนวตลกขบขัน ซึ่งกลายเป็นหนังดังทำรายได้ถล่มทลายเกิน 2,500 ล้านหยวน (ราว 1.17 หมื่นล้านบาท) หลังจากเปิดตัวในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา แม้เรื่องนี้เป็นหนังต้นทุนต่ำและไม่มีดาราดังระดับแม่เหล็กเลยก็ตาม

ขณะเดียวกัน ภาพยนตร์แนวแฟนตาซีฟอร์มยักษ์อย่าง “Asura” ซึ่งทุ่มทุนสร้างมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,257 ล้านบาท) เปิดตัวในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา กลับล้มเหลวไม่เป็นท่า และต้องถอนออกจากโรงหลังผ่านไปเพียงสัปดาห์เดียวเท่านั้น

นอกจากนี้ ละครที่ฉายทางแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งก็สามารถทำผลงานได้ดีโดยไม่ต้องพึ่งพาซูเปอร์สตาร์เหมือนกัน โดยล่าสุด ซีรี่ส์เรื่อง “Story of Yanxi Palace” ที่เกิดจากการร่วมผลิตและฉายผ่านทาง อ้ายฉีอี้ แพลตฟอร์มสัญชาติจีน กลายเป็นเรื่องดังอย่างเหนือความคาดหมาย แม้เน้นใช้ดาราอายุน้อยและยังไม่มีชื่อเสียงมากนัก โดยอ้ายฉีอี้ เปิดเผยว่า เรื่องนี้มียอดการเข้าชมผ่านทางสตรีมมิ่งทั้งหมดมากกว่า 1.5 หมื่นล้านครั้ง

“ความสำเร็จของเรื่องนี้กลายเป็นจุดเปลี่ยน และเปิดทางสู่โอกาสใหม่ๆ ของอุตสาหกรรม ที่กำลังเจอแรงกดดันจากการจ่ายค่าตัวดาราดังแพงเกินจริง” กงยู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) อ้ายฉีอี้กล่าว พร้อมแนะนำว่า อุตสาหกรรมบันเทิงจีนควรหยุดจ้างดาราค่าตัวสูงเกินจริงในการผลิตภาพยนตร์คุณภาพต่ำ เพราะแค่ดารามีฐานแฟนคลับขนาดใหญ่

ทั้งนี้ อ้ายฉีอี้ เป็นหนึ่งในบริษัทภาพยนตร์และโทรทัศน์ ที่เคยให้คำมั่นว่าจะร่วมมือต่อต้านการจ้างดาราดังค่าตัวแพงเกินจริง และจะมุ่งมั่นพัฒนาการผลิตคอนเทนต์ที่มีคุณภาพสูงขึ้น

ด้าน หยินหง ศาสตราจารย์สาขาโทรทัศน์และภาพยนตร์ ของมหาวิทยาลัยชิงหวา ในจีน เปิดเผยว่า ความเคลื่อนไหวนี้จะนำไปสู่การเลิกพฤติกรรมการผลิตคอนเทนต์คุณภาพต่ำ และจะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมมีโอกาสมุ่งพัฒนาคุณภาพคอนเทนต์อย่างแท้จริง

“ภาคอุตสาหกรรมกำลังอยู่ในช่วงเจ็บหนัก แต่ถ้าจัดการได้อย่างเหมาะสม มันจะกลายเป็นโอกาสที่ดี” หยิน กล่าว

จีนเชือด "ฟ่านปิงปิง" บีบบันเทิงมุ่งคุณภาพ

โยงใยนโยบายปักกิ่ง

ขณะเดียวกัน การหายตัวของฟ่านยังมีแนวโน้มพัวพันกับประเด็นทางการเมืองของจีนด้วย โดยหุงหวง นักวิจารณ์หนังของจีน ระบุว่า การไล่บี้สอบสวนฟ่านบ่งบอกว่าจีนต้องการเชือดไก่ให้ลิงดู

สแตนลีย์ โรเซน ศาสตราจารย์ด้านการปกครองของมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย ในสหรัฐ ซึ่งศึกษาอุตสาหกรรมภาพยนตร์จีน เปิดเผยว่า รัฐบาลใช้กรณีฟ่านมาเป็นตัวอย่างให้สาธารณชนและชาวโซเชียล เห็นถึงการจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม การร่ำรวยสุดโต่ง และการฉ้อโกงรัฐ โดยความเห็นจากสาธารณชนเป็นองค์ประกอบสำคัญในนโยบายต่ออุตสาหกรรมบันเทิง

อย่างไรก็ดี โรเซน คาดการณ์ว่า ทางการจีนจะไม่กล้าไล่ปราบปรามอุตสาหกรรมบันเทิงไปมากกว่านี้ เนื่องจากกังวลว่าอาจส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมในระยะยาว เพราะทางการยังต้องการกระตุ้นให้บ็อกซ์ออฟฟิศจีนเติบโตจนแซงหน้าบ็อกซ์ออฟฟิศอเมริกาเหนือ

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ สีจิ้นผิง ขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีจีน ในปี 2012 อุตสาหกรรมภาพยนตร์จีนก็เติบโตขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยรายได้บ็อกซ์ออฟฟิศจีนขยายตัวถึง 31% ในช่วงปีแรกของการดำรงตำแหน่งของสี ทำให้จีนกลายเป็นตลาดภาพยนตร์อันดับ 2 ของโลก แซงหน้าญี่ปุ่น และการหันมามุ่งพัฒนาคอนเทนต์อาจเป็นโอกาสดีให้ภาคอุตสาหกรรมปรับแนวทางไปสู่การเติบโตโดยปราศจากปัญหาตามมา

ขณะที่ แคลร์ ตง หุ้นส่วนและทนายของบริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมาย เทียนไท ในกรุงปักกิ่ง เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เกิดปัญหาฟ่าน ความต้องการขอรับคำปรึกษาด้านกฎหมายก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยตงระบุว่า นโยบายควบคุมค่าใช้จ่าย เป็นสิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องทำ เพื่อนำไปสู่การสร้างคอนเทนต์คุณภาพมากยิ่งขึ้น