posttoday

ไทยติดอันดับโลกเสี่ยงภัยอากาศแปรปรวนสุดในโลก

22 ตุลาคม 2553

ไทยรั้งหัวตารางประเทศที่เสี่ยงต่อการเผชิญกับภัยพิบัติจากภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศสูงสุดในโลกในอีก 30 ปีข้างหน้า

ไทยรั้งหัวตารางประเทศที่เสี่ยงต่อการเผชิญกับภัยพิบัติจากภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศสูงสุดในโลกในอีก 30 ปีข้างหน้า

“เมเปิลครอฟท์” บริษัทที่ปรึกษาความเสี่ยงในอังกฤษ เผยแพร่รายงาน “ดัชนีประเทศเสี่ยงภัยจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง” จาก 170 ประเทศทั่วโลก ปรากฏว่า ประเทศไทยครองอันดับที่ 14 ของตาราง เข้าข่ายกลุ่มประเทศที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างรุนแรง

 

ไทยติดอันดับโลกเสี่ยงภัยอากาศแปรปรวนสุดในโลก

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านในอาเซียนหลายประเทศ จะพบว่ามีหลายแห่งถูกจัดอยู่ใน 16 ประเทศกลุ่มเสี่ยงรุนแรง ไม่ว่าจะเป็น ฟิลิปปินส์ ซึ่งรั้งอันดับ 6 เวียดนาม ครองอันดับที่ 13 พม่าถูกจัดอยู่ในอันดับ 10 และกัมพูชาอยู่ในอันดับที่ 12

อย่างไรก็ตาม นอกจากประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนแล้ว ยังมีประเทศในเศรษฐกิจเกิดใหม่อีกหลายประเทศที่ได้รับการจัดอันดับว่ามีความเสี่ยงสูงสุด ประกอบด้วย บังกลาเทศ ซึ่งครองอันดับ 1 อินเดีย อันดับ 2 และปากีสถาน อันดับที่ 16

รายงานระบุว่า สาเหตุที่ประเทศเหล่านี้ได้รับการจัดอันดับอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดในโลก เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่มีอัตราความยากจนสูง มีจำนวนประชากรหนาแน่น และมีหลักฐานที่ชี้ชัดว่าประเทศเหล่านี้มักเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ดร.แมทธิว บอนซ์ นักวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อมของเมเปิลครอฟท์ ระบุว่า แม้บังกลาเทศ อินเดีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และปากีสถาน จะเป็นกลุ่มประเทศที่มีการเข้าไปลงทุนจากต่างประเทศในระดับสูง ทว่าในอีก 30 ปีข้างหน้า ประเทศเหล่านี้กลับเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศสูง เนื่องจากอิทธิพลของการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ รวมทั้งปริมาณน้ำฝนและความชื้น

“หมายความว่าบริษัทที่เข้าไปตั้งถิ่นฐานในประเทศนั้นๆ มีความเป็นไปได้ว่าต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ” บอนซ์ กล่าว พร้อมระบุว่า รายงานชิ้นนี้จะช่วยเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการลงทุนของบริษัทต่างๆ เพื่อเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด

 การจัดอันดับดังกล่าว ไม่เพียงคำนวณจากปัจจัยด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม 42 ประการ ความพร้อมในการรับมือของรัฐบาล แต่ยังรวมถึงการประเมินความเสี่ยงของสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงที่มีต่อประชาชน ระบบนิเวศ และธุรกิจอีกด้วย


ในการจัดอันดับครั้งนี้ ประเทศในแถบยุโรปเหนือ ครอง 11 อันดับท้ายของตาราง ที่ถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในระดับต่ำที่สุด โดยในปีนี้ นอร์เวย์ รั้งท้ายตารางในอันดับที่ 170

ตามลำดับมาด้วย ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ สวีเดน และเดนมาร์ก

สำหรับประเทศที่ติดอันดับ “กลุ่มเสี่ยงสูง” ได้แก่ จีน อันดับที่ 49 บราซิล อันดับที่ 81 และญี่ปุ่น อันดับที่ 86 ส่วนประเทศที่อยู่ใน “กลุ่มเสี่ยงปานกลาง” ได้แก่ รัสเซีย รั้งอันดับที่ 117 สหรัฐ อันดับที่ 129 เยอรมนี อันดับที่ 131 ฝรั่งเศส อันดับที่ 133 และอังกฤษ อันดับที่ 138

นอกจากนี้ จากผลสำรวจยังพบว่า เอเชียใต้ เป็นภูมิภาคที่มีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากที่สุดในอีก 30 ปีข้างหน้า เพราะมีประเทศในภูมิภาคถึง 5 แห่งที่ได้รับการจัดอันดับอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงรุนแรง ได้แก่ บังกลาเทศ อันดับ 1 อินเดีย อันดับ 2 เนปาล อันดับ 4 อัฟกานิสถาน อันดับ 8 และปากีสถาน อันดับ 16

รายงานระบุว่า สาเหตุที่ทำให้หลายประเทศในทวีปเอเชียใต้ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “เสี่ยงสูง” เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติหลายครั้งในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นเหตุน้ำท่วมในปากีสถานและบังกลาเทศ ส่งผลกระทบต่อประชาชนมากกว่า 20 ล้านคน

“สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นชัดเจนขึ้นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทำให้ปรากฏการณ์ทางสภาพอากาศรุนแรงขึ้นและถี่ขึ้น อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยอาจส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อสภาพแวดล้อมของมนุษย์ เช่น ปริมาณน้ำอุปโภคบริโภค ผลผลิตทางการเกษตร นอกจากนี้ ยังทำให้ที่ดินถูกกัดเซาะเพราะระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และโรคร้ายแพร่ระบาด” แอนนา มอส นักวิเคราะห์จากบริษัทด้านสิ่งแวดล้อม กล่าว

รายงานยังระบุถึงสาเหตุที่บังกลาเทศถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดในโลก เพราะเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดสภาวะแห้งแล้งและอดอยากสูงสุด หากได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากพลเมืองของประเทศยังต้องต่อสู้กับภาวะความยากจนอย่างหนัก และยังพึ่งพาการเกษตรเป็นหลัก นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติในระดับต่ำ

ก่อนหน้านี้ เมื่อปีที่แล้ว เมเปิลครอฟท์ ได้จัดอันดับประเทศที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงรุนแรงทั้งหมด 28 ประเทศ นำโดย โซมาเลีย เฮติ อัฟกานิสถาน เซียร์ราลีโอน และบุรุนดี

ทว่า ฟิโอนา เพลส แห่งเมเปิลครอฟท์ กลับระบุว่า การจัดอันดับในปีนี้ไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบกับเมื่อปีที่แล้วได้ เนื่องจากในปีนี้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการคำนวณและการจัดอันดับใหม่เพิ่มเข้ามา มากกว่าการประเมินความสามารถในการรับมือ ของรัฐบาลต่อภัยพิบัติ