posttoday

"เครซี่ ริช เอเชียนส์" ฝันลวงบนโลกจริง

26 สิงหาคม 2561

อัญมณีอันแพรวพราว คฤหาสน์หรูหรา หรือเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว ล้วนเป็นภาพที่หนังสื่อออกมา และได้กลบสภาพความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริงในสิงคโปร์

อัญมณีอันแพรวพราว คฤหาสน์หรูหรา หรือเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว ล้วนเป็นภาพที่หนังสื่อออกมา และได้กลบสภาพความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริงในสิงคโปร์

******************************

โดย...จุฑามาศ เนาวรัตน์

การปรากฏตัวบนจอเงินของ “Crazy Rich Asians” หรือในชื่อไทยว่า “เหลี่ยมโบตั๋น” ภาพยนตร์เรื่องแรกในรอบ 25 ปี นับตั้งแต่ The Joy Luck Club ในปี 1993 ที่ฮอลลีวู้ดยอมลงทุนสร้างเองกับมือและใช้นักแสดงเชื้อสายเอเชียทั้งหมด ทำให้หลายคนมองว่าหนังเรื่องนี้จะก้าวเข้ามาสร้างแรงสะเทือนต่อค่านิยมแบบเดิมๆ ของวงการฮอลลีวู้ด และอาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ภาพจำที่ชาวตะวันตกมีต่อชาวเอเชียนั้นเปลี่ยนไป

แต่ดูเหมือนว่าเส้นทางการพลิกภาพจำดังกล่าวกลับไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะผู้คนในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่เครซี่ ริช เอเชียนส์ ใช้เป็นฉากเหตุการณ์หนังเกือบ 100% กำลังถกเถียงกันอย่างหนักว่า หนังเรื่องนี้แทบไม่ได้นำเสนอมุมมองที่แตกต่างไปจากเดิมเกี่ยวกับชาวสิงคโปร์เชื้อสายจีน หรือแม้กระทั่งชาวเอเชียในอเมริกัน ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือยังเป็นการตอกย้ำภาพจำแบบผิดๆ ต่อคนเอเชียมากยิ่งขึ้นไปอีก

เครซี่ ริช เอเชียนส์ ว่าด้วยเรื่องราวของคู่รักชาวเอเชีย-อเมริกัน โดยฝ่ายหญิงเป็นอาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ สอนที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ส่วนฝ่ายชายเป็นทายาทตระกูลอันทรงอิทธิพลและร่ำรวยที่สุดในสิงคโปร์ ทว่าแม่ของฝ่ายชายกลับไม่ปลื้มว่าที่ลูกสะใภ้คนนี้นัก แม้พล็อตเรื่องจะไม่ต่างกับละครหลังข่าวที่เห็นกันอยู่ทั่วไปจนชินตา แต่หนังเรื่องนี้กลับกวาดรายได้ในอเมริกาเหนือไปได้มากถึง 33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,080 ล้านบาท) ภายในวัน 5 วัน

"เครซี่ ริช เอเชียนส์" ฝันลวงบนโลกจริง

มายาคติฝังกลบความจริง

“ทุกคน มันก็เป็นแค่หนัง เพราะฉะนั้น จงสนุกไปกับมัน” นี่เป็นข้อความจากผู้อ่านที่โพสต์ในเฟซบุ๊กของสำนักข่าวสิงคโปร์ แชนแนล นิวส์ เอเชีย ใต้บทความวิเคราะห์ถึงการถ่ายทอดภาพของสิงคโปร์ผ่านหนังเรื่องนี้ และสะท้อนให้เห็นว่า เครซี่ ริช เอเชียนส์ ไม่ได้กระตุ้นให้คนต่างชาติเข้าใจความเป็นเอเชียมากขึ้นเลย

อัญมณีอันแพรวพราว คฤหาสน์หรูหราอลังการ หรือเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว ล้วนเป็นภาพที่หนังสื่อออกมา และได้กลบสภาพความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริงในสิงคโปร์ โดยจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งสิงคโปร์ ระบุว่า ความแตกต่างระหว่างรายได้ของคนรวยและคนจนสิงคโปร์เพิ่มสูงถึง 54% จาก 8,236 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 1.69 แสนบาท) ในปี 2007 เป็น 1.26 หมื่นดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 3 แสนบาท) ในปี 2017

ยิ่งไปกว่านั้น หนังแทบไม่ได้ให้ภาพของความหลากหลายทางเชื้อชาติในสิงคโปร์ แต่กลับนำเสนอแต่เรื่องราวของชาวสิงคโปร์เชื้อสายจีนเท่านั้น ซึ่งแท้ที่จริงแล้วสิงคโปร์เป็นประเทศที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางเชื้อชาติประเทศหนึ่ง ที่ประกอบด้วยทั้งพลเมืองเชื้อสายจีน อินเดีย และมาเลเซีย

“สิ่งที่ฉันอยากเห็นในฐานะคนสิงคโปร์คือ หนังที่สะท้อนให้เห็นว่าประเทศและสังคมของเราเต็มไปด้วยความหลากหลายและซับซ้อน ซึ่งหนังเรื่องนี้ไม่ได้เป็นกระจกสะท้อนภาพความหลากหลายใดๆ เลย” คริสเตน ฮานนักเคลื่อนไหวทางสังคมชาวสิงคโปร์ กล่าว

"เครซี่ ริช เอเชียนส์" ฝันลวงบนโลกจริง

ภาพจำผิดเพี้ยน?

ไม่เพียงไม่ให้ภาพความเป็นจริงของสังคมสิงคโปร์แล้ว เครซี่ ริชเอเชียนส์ก็ไม่ได้สะท้อนสภาพชีวิตจริงของชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียที่อาศัยอยู่ในสหรัฐเช่นกัน ภาพในหนังนั้นเต็มไปด้วยความอู้ฟู่หรูหราชนิดที่เรียกได้ว่าตัวละครแทบจะไม่ได้พบเจอกับความยากลำบากทางการเงินใดๆ

ภาพดังกล่าวตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับผลการศึกษาของสมาคมชาวเอเชีย-อเมริกันที่ระบุว่า ชาวเอเชียคือกลุ่มคนที่ยากจนมากที่สุดในนิวยอร์ก โดยจำนวนชาวเอเชียที่ยากจนพุ่งขึ้นมากถึง 44% ในช่วงเวลาเพียงครึ่งทศวรรษ จาก 1.7 แสนคนในปี 2000 เป็น 2.45 แสนคนในปี 2016

ความไม่เท่าเทียมทางรายได้ระหว่างชาวเอเชีย-อเมริกันด้วยกันเองยังเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าตัว จากปี 1970 จนถึงปี 2016 ซึ่งเป็นผลมาจากความแตกต่างของระดับการศึกษา ทักษะวิชาชีพ และความสามารถทางภาษา

เจนนิเฟอร์ ลี ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เปิดเผยว่า 3 ใน 4 ของชาวไต้หวันและชาวอินเดียในอเมริกา จบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า ขณะที่กลุ่มชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนมาก เช่น จากเวียดนาม กัมพูชา และลาว มีระดับการศึกษาที่ต่ำกว่า ส่งผลให้ใช้ชีวิตได้ยากลำบากกว่าชาวเอเชียจากแถบอื่นๆ โดยราว 35% ของชาวเอเชีย-อเมริกันมีความสามารถด้านภาษาอังกฤษที่จำกัด

นอกจากนี้ คาร์ทิก รามาคริสนัน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลประชากรและการวิจัยเกี่ยวกับชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียและชาวเกาะแปซิฟิก กล่าวว่า ความไม่เท่าเทียมทางรายได้ยิ่งถ่างออกกว้างขึ้นไปอีก โดยส่วนหนึ่งเกิดจากชาวเอเชียที่เข้ามาในอเมริกาบางส่วนได้รับวีซ่าแรงงานมีทักษะ ขณะที่บางส่วน เช่น ชาวเวียดนาม กัมพูชา และลาวมักจะถูกจัดให้อยู่ในฐานะผู้อพยพในช่วงแรก

“ชาวอินเดียและชาวจีนที่อพยพเข้ามาในอเมริกาตั้งแต่แรกมีการศึกษาสูงมาก ขณะที่สหรัฐมีแนวโน้มให้วีซ่ากับคนที่มีการศึกษาสูงมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จากการที่รัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ผลักดันการปรับเปลี่ยนแนวทางการให้วีซ่า” รามาคริสนัน กล่าว

แม้ว่า เครซี่ ริช เอเชียนส์ ได้สร้างปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เห็นมานานในรอบหลายปีด้วยการใช้นักแสดงชาวเอเชียทั้งหมด แต่ก็ยังไปไม่ถึงแก่นสำคัญในการสะท้อนภาพจริงของชาวเอเชียและความหลากหลายทางสังคม ที่สุดท้ายแล้วยังคงไม่หลุดกรอบมายาคติแบบเดิมๆ ที่มีต่อชาวเอเชีย

"เครซี่ ริช เอเชียนส์" ฝันลวงบนโลกจริง