posttoday

"เฟด"ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง

26 สิงหาคม 2561

ผู้ว่าเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ชี้เศรษฐกิจสหรัฐโตแกร่ง สวนแรงต้านทรัมป์

ผู้ว่าเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ชี้เศรษฐกิจสหรัฐโตแกร่ง สวนแรงต้านทรัมป์

เจอโรม พาวเวลล์ ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจสหรัฐที่ขยายตัวแข็งแกร่งเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญให้เฟดเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสวนทางกับความเห็นก่อนหน้านี้ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่คัดค้านการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

“เศรษฐกิจปรับตัวแข็งแกร่ง เงินเฟ้อเข้าใกล้เป้าหมาย 2% และผู้คนส่วนใหญ่ที่ต้องการหางานก็มีงานทำแล้ว...หากการขยายตัวแข็งแกร่งดังกล่าวยังดำเนินต่อไป การค่อยๆ ปรับขึ้นดอกเบี้ยตามเป้าหมายจึงยังเป็นสิ่งที่เหมาะสม” พาวเวลล์ กล่าว

ทั้งนี้ พาวเวลล์ไม่ได้กล่าวถึงความเห็นของทรัมป์ที่ไม่เห็นด้วยกับทิศทางนโยบายการเงินของเฟด โดยกล่าวเพียงว่าการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการปกป้องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ขณะที่เฟดต้องพยายามหาจุดสมดุลระหว่างการกระตุ้นการจ้างงานเต็มอัตราและการรักษาระดับการขยายตัวของเงินเฟ้อ

นอกจากนี้ พาวเวลล์ เสริมว่า แนวทางการขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ยังช่วยลดความเสี่ยงที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยเร็วเกินไปโดยไม่จำเป็น หรือขึ้นดอกเบี้ยช้าเกินไปจนไม่ทันเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างร้อนแรง

หลังถ้อยแถลงของพาวเวลล์ตลาดหุ้นสหรัฐต่างปรับตัวขึ้นแดนบวก โดยดัชนีเอสแอนด์พี 500 และดัชนีแนสแด็ก ปิดทำนิวไฮเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) คาดการณ์ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง รวมเป็น 4 ครั้งในปี 2018 โดยตลาดมองว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมวันที่ 25-26 ก.ย.นี้ และมองว่ามีโอกาส 64% ที่เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือน ธ.ค. สำหรับในปี 2019 เฟดคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่เพียงครั้งเดียว

อย่างไรก็ดี เจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ เปิดเผยกับซีเอ็นบีซีว่า เฟดไม่ควรปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว เพราะเงินเฟ้อไม่มีแนวโน้มขยายตัวมากพอ ขณะที่แรงหนุนจากกฎหมายปฏิรูปภาษีและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทรัมป์คาดว่าจะแผ่วลงปีหน้า

ด้านรอยเตอร์สรายงานว่า เอฟโอเอ็มซีคนอื่นๆ วิตกว่านโยบายการค้าของทรัมป์ ที่มุ่งตั้งภาษีตอบโต้จีน รวมถึงประเทศคู่ค้าอื่นๆ อย่างสหภาพยุโรป (อียู) และแคนาดาอาจเพิ่มความเสี่ยงกระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ

ภาพ เอเอฟพี