posttoday

ทำไมส้มตำไทย มัดใจชาวโลก?

19 สิงหาคม 2561

Lonely Planet สื่อสายท่องเที่ยวจัดให้ "ส้มตำ" ของไทยติดอันดับ 5 จาก 500 อาหารและสถานที่ห้ามพลาดในโลก

Lonely Planet สื่อสายท่องเที่ยวจัดให้ "ส้มตำ" ของไทยติดอันดับ 5 จาก 500 อาหารและสถานที่ห้ามพลาดในโลก

สัปดาห์ทีผ่านมา Lonely Planet สื่อสายท่องเที่ยวที่ทรงอิทธิพลระดับโลก เปิดตัวหนังสือแนะนำสุดยอดสถานที่ในฝันและอาหารถูกปากของนักชิมทั่วโลก หรือ Ultimate Eatlist ปรากฏว่า ส้มตำในกรุงเทพฯ ติดอยู่ในอันดับที่ 5 จากการจัดอันดับทั้งหมด 500 แห่ง โดยอันดับ 1 เป็นของ ปินโช กับแกล้มกินเล่นของชาวแคว้นภาคเหนือของสเปน โดยแหล่งชิมของอาหารประเภทนี้คือ ที่เมืองซาน เซบัสเตียน อันดับ 2 คือ ลักซา ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ อันดับ 3 คือ ซูชิ ที่โตเกียว อันดับ 4 คือ สเต๊กเนื้อติดมัน ที่รัฐเทกซัส

แน่นอนว่า ใน 500 อาหารและสถานที่ ไม่ได้มีแค่ส้มตำเท่านั้นที่เป็นอาหารไทยต้องห้ามพลาดของชาวโลก แต่หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมส้มตำถึงกลายเป็นอาหารไทยหมายเลข 1 แทนที่จะเป็นของที่รู้จักกันดีทั่วโลกอย่าง ต้มยำกุ้ง หรือ ผัดไทย?

หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า ในตอนนี้ส้มตำกำลังกลายเป็นเทรนด์ใหม่ของอาหารไทยในหมู่ชาวต่างชาติ หากลองดูคลิปในช่องยูทูบจะพบรีวิวการชิมส้มตำเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ร้านอาหารในเมืองไทยและในต่างประเทศ

แต่สำหรับชาวต่างชาติที่น่าจะรู้ซึ้งในความนิยมของส้มตำมากที่สุดคนหนึ่ง เห็นจะเป็น แอนดี้ ริกเกอร์ เชฟและเจ้าของร้าน Pok Pok ซึ่งเป็นร้านอาหารไทยชื่อดังในสหรัฐ ริกเกอร์เคยใช้ชีวิตและเที่ยวกินอาหารในไทยนานนับสิบปี หลังจากนั้นกลับไปเปิดร้านอาหารไทยของตัวเองในปี 2005 โดยริกเกอร์เน้นอาหารไทยที่รสชาติดั้งเดิมแท้ๆ ไม่ดัดแปลงรสชาติเพื่อเอาใจชาวอเมริกัน แต่ผลที่ได้กลับทำให้ร้าน Pok Pok ดังเป็นพลุแตก และอาหารไทยรสดั้งเดิมกลายเป็นที่นิยมมากขึ้น

ด้วยความที่ริกเกอร์เชี่ยวชาญอาหารภาคเหนือเป็นพิเศษ หนึ่งในซิกเนเจอร์ดิชของร้าน Pok Pok คือข้าวซอยและลาบทั้งหลายแหล่ แต่อีกหนึ่งพระเอกของร้านคือ “ส้มตำ” ที่หนังสือสูตรอาหารของร้านบรรยายว่าเป็นสลัดมะละกอของภาคกลาง

อย่างไรก็ตาม ริกเกอร์ให้สัมภาษณ์กับ The Splendid Table ว่า “อาหารจานที่โดดเด่นที่สุด (ที่มาจากภาคอีสาน) อาจเป็นส้มตำ หรือสลัดมะละกอ หรืออย่างที่คนแถบนั้นเรียกว่า ตำส้ม” การอธิบายที่แตกต่างกันนี้ เป็นเพราะส้มตำในร้านของริกเกอร์มีทั้งส้มตำที่รับประทานกับข้าวมัน หรือข้าวมันส้มตำแบบภาคกลาง และตำซั่วแบบภาคอีสาน

เว็บไซต์ eatkunedo.com ซึ่งว่าด้วยความหลากหลายด้านอาหารอธิบายว่า ร้าน Pok Pok มีความเป็นของแท้ในตัวของมันเอง เพราะคำว่า Pok Pok (ป๊อกป๊อก) เป็นคำที่ไม่มีความหมายในภาษาไทย เป็นเพียงเสียงเลียนการตำส้มตำเท่านั้น และถูกนำมาใช้เรียกแทนคำว่าส้มตำ เพราะคนไทยคิดว่าคำว่า ป๊อกป๊อก น่าจะเข้าใจง่ายกว่าสำหรับชาวต่างชาติ

ทั้งนี้ สูตรส้มตำแบบไทยแท้ๆ ของริกเกอร์ได้รับความนิยมมาก ถึงขนาดมีการเผยแพร่สูตรตามเว็บไซต์ต่างๆ จนทำให้ชื่อของเขาแทบจะกลายเป็นหนึ่งเดียวกับส้มตำและ Pok Pok

ที่มา www.m2fnews.com