posttoday

"นักปั่นข่าวปลอม" ป่วนการเมืองอิเหนา

19 สิงหาคม 2561

ทีมรับจ้างโพสต์ข้อความปั่นกระแสในโซเชียลมีเดีย หรือที่เรียกว่า “บัซเซอร์” กำลังก้าวเข้ามามีบทบาทในสนามการเมืองของอินโดนีเซียมากขึ้น

ทีมรับจ้างโพสต์ข้อความปั่นกระแสในโซเชียลมีเดีย หรือที่เรียกว่า “บัซเซอร์” กำลังก้าวเข้ามามีบทบาทในสนามการเมืองของอินโดนีเซียมากขึ้น

*****************************

โดย...กุลจิรา นารอง

ใน “อินโดนีเซีย” ทีมรับจ้างโพสต์ข้อความปั่นกระแสในโซเชียลมีเดีย หรือที่มีชื่อเรียกว่า “บัซเซอร์” กำลังก้าวเข้ามามีบทบาทในสนามการเมืองของอินโดนีเซียมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งที่ผู้สมัครทั้งหลายมักจะใช้บริการบัซเซอร์ให้โพสต์ข้อความเพื่อโจมตีคู่แข่ง หรือปั่นประเด็นทางการเมืองต่างๆ จึงส่งผลให้ “โรงงานผลิตแอ็กเคานต์ปลอม” ผุดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก

ตัวอย่างการใช้บัญชีปลอมโจมตีคู่แข่งทางการเมืองในอินโดนีเซีย เห็นได้อย่างชัดเจนในการเลือกตั้งผู้ว่าการกรุงจาการ์ตาครั้งล่าสุดเมื่อปี 2017โดยผู้ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากขบวนการดังกล่าว คือ บาสุกี จาฮายา เปอร์นามา หรืออาฮก อดีตผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา ชาวคริสต์ เชื้อสายจีน

ในการเลือกตั้งครั้งนั้น คู่แข่งของอาฮก คือ อากุส ยูโดโยโน บุตรชายของอดีตประธานาธิบดี ซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน และ อานีส์ บาสวีดัน อดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีนโยบายคัดค้านการแบ่งแยกเชื้อชาติและศาสนา

อาฮกนั้นเจอข้อกล่าวหาว่าใช้ศาสนาและเชื้อชาติมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ส่งผลให้เกิดการประท้วงและเรียกร้องให้อาฮกถูกตัดสินจำคุกในข้อหาหมิ่นประมาท

ทั้งนี้ “กองทัพมุสลิมทางไซเบอร์” (เอ็มซีเอ) เป็นกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังการปลุกกระแสให้เกิดการชุมนุมต่อต้านอาฮก โดยใช้บัญชีปลอมและบัญชีที่ไม่ระบุตัวตนนับร้อย เผยแพร่เนื้อหาที่มีการเหยียดเชื้อชาติชาวมุสลิม โดยมีจุดประสงค์ให้ชาวมุสลิมต่อต้านอาฮกเพิ่มขึ้น

“เมื่อคุณอยู่ในสงคราม คุณจะเลือกใช้เครื่องมือใดก็ได้เพื่อโจมตีคู่ต่อสู้ แต่ในบางครั้งผมก็รู้สึกขยะแขยงตัวเองเหมือนกัน” อเล็กซ์ ผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในขบวนการผลิตบัญชีปลอม ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดี้ยน

ในการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงจาการ์ตาครั้งล่าสุด อเล็กซ์ คือ หนึ่งในกองทัพไซเบอร์ลับที่โพสต์ข้อความจากบัญชีโซเชียลมีเดียปลอม โดยปั่นข่าวเกี่ยวกับอาฮกโดยเฉพาะ

อเล็กซ์ เปิดเผยว่า ทุกคนในทีมต้องมีเฟซบุ๊ก 5 บัญชี ทวิตเตอร์ 5 บัญชี และอินสตาแกรม 1 บัญชี และถูกห้ามเปิดเผยข้อมูลและสถานที่ทำงานให้ใครรู้

อเล็กซ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทีมของเขาถูกว่าจ้างให้เผยแพร่ข้อความต่อต้านผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับอาฮก โดยใช้แฮชแท็กที่โจมตีผู้สมัครฝ่ายตรงข้าม หรือการเยาะเย้ยพันธมิตรที่เป็นชาวมุสลิม

ทีมงานรับจ้างโพสต์ข้อความของอเล็กซ์ ประกอบไปด้วย ผู้สนับสนุนของอาฮก และนักศึกษามหาวิทยาลัย ที่ถูกจูงใจมาทำงานด้วยค่าจ้างประมาณ 280 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9,500 บาท) ต่อเดือน โดยแต่ละคนต้องเผยแพร่ข้อความวันละ 60-120 ข้อความ/วัน ในทวิตเตอร์ และเผยแพร่ข้อความในเฟซบุ๊กประมาณ 1-2 ครั้ง/วัน โดยสถานที่ทำงานตั้งอยู่ในบ้านพักหรูที่ย่านเมนเตง ใจกลางกรุงจาการ์ตา

กองกำลังพิเศษ

อเล็กซ์เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับโรงงานผลิตแอ็กเคานต์ปลอมเพิ่มมากขึ้น โดยระบุว่าทีมที่อเล็กซ์ทำงานนั้นมีสมาชิก 20 คน แต่ละคนมีบัญชีโซเชียลมีเดียคนละ 11 บัญชี จะเผยแพร่ข้อความรวมทั้งหมดประมาณ 2,400 ข้อความ/วัน

การดำเนินการต่างๆ จะมีการประสานงานกันผ่านกลุ่มที่มีชื่อว่า “Pasukan Khusus” หรือ “กองกำลังพิเศษ” ในแอพพลิเคชั่นวอตแอพส์ ภายในกลุ่มนั้นประกอบไปด้วยสมาชิกทั้งหมด 80 คน และมีการวางแผนว่าในแต่ละวันจะต้องมีการเผยแพร่เนื้อหาและแฮชแท็กเกี่ยวกับประเด็นใด

“นายจ้างไม่ต้องการให้มันเป็นบัญชีที่ไร้ตัวตนเกินไป เขาจึงขอให้พวกเราเพิ่มรูปโปรไฟล์ในบัญชีโซเชียลมีเดียต่างๆ ด้วย โดยพวกเราก็ได้ไปหารูปมาจากในกูเกิล เฟซบุ๊ก หรือจากเพื่อน นอกจากนี้เขายังระบุว่าให้พวกเราใช้รูปผู้หญิงหน้าตาดี เพื่อใช้ดึงดูดความสนใจจากคนทั่วไป” อเล็กซ์ ระบุเพิ่ม

นอกจากนี้ แต่ละคนต้องสร้างบัญชีเฟซบุ๊กขึ้นมาใหม่ประมาณ 1-2 บัญชี โดยใช้รูปโปรไฟล์เป็นรูปดารานักแสดงต่างประเทศ เพื่อให้ผู้คนในประเทศหันมาสนใจมากยิ่งขึ้น

หลายบัญชีสร้างใหม่มีผู้ติดตาม

เพียงไม่กี่ร้อยคน จึงต้องมีการทำให้แฮชแท็กบนโซเชียลมีเดียเป็นกระแสขึ้นมา ด้วยการมีส่วนร่วมบนโซเชียลมีเดียมากขึ้น รวมถึงการว่าจ้างผู้มียอดติดตามสูงมาช่วยปั่นข่าว เช่น บนทวีตเตอร์ โดยกลุ่มคนที่มียอดติดตามมหาศาลจะได้รับค่าจ้าง 20 ล้านรูเปียห์/การทวิตหนึ่งครั้ง หรือถ้าหากต้องการให้ประเด็นใดก็ตามเป็นกระแสภายใน 1-2 ชั่วโมง ต้องจ่ายประมาณ 1-4 ล้านรูเปียห์ แอนดี้ หนึ่งในนักปั่นกระแสในทวิตเตอร์ อธิบาย

ด้านนักวิจัยจากศูนย์วิจัยนวัตกรรมและวิจัยนโยบาย ได้เผยผลการศึกษาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมบัซเซอร์ในอินโดนีเซีย ว่า ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าการจาการ์ตาทั้งหมดในปี 2017 ต่างใช้ทีมปั่นประเด็นในโซเชียลมีเดีย เช่น หนึ่งในคู่แข่งของอาฮกก็ใช้บอตทวิตเตอร์หลายร้อยแอ็กเคานต์ในการโจมตี และปล่อยข่าวลวงเกี่ยวกับอาฮก อย่างไรก็ตามทีมหาเสียงของบาสวีดัน ปฏิเสธว่าไม่ได้ใช้แอ็กเคานต์ปลอมหรือบอตในการโจมตีฝ่ายตรงข้ามแต่อย่างใด

ข่าวลวงใส่ร้ายป้ายสี

แม้รัฐบาลอินโดนีเซียพยายามควบคุมการเผยแพร่ข่าวลวงและการใช้คำพูดที่แสดงความเกลียดชัง แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะจัดการกับบัญชีโซเชียลมีเดียปลอมที่ทำการเผยแพร่ข่าวลวง เพราะการดำเนินการเหล่านี้กระทำอยู่ภายใต้พื้นที่สีเทา ทำให้เล็ดลอดการตรวจสอบไปได้

ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ที่ชื่อ @IasMardiyah เป็นตัวอย่างบัญชีทวิตเตอร์ที่เผยแพร่ข้อความเพื่อปั่นกระแสทางการเมือง ซึ่งอเล็กซ์อ้างว่าเป็นแอ็กเคาต์ของทีมที่สนับสนุนอาฮก บัญชีผู้ใช้งานดังกล่าวมีการโพสต์เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล และโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับประธานาธิบดี โดยจะมีการรีทวีตเนื้อหาที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและการดำเนินนโยบายต่างประเทศของอินโดนีเซีย รวมถึงการปกป้องความเป็นหนึ่งเดียวของชาติ

ทวิตเตอร์บัญชีดังกล่าวใช้รูปโปรไฟล์เป็นหญิงสาวใส่ผ้าคลุมฮิญาบและแว่นกันแดด ซึ่งทวีตสนับสนุนรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ พร้อมใส่แฮชแท็กที่เกี่ยวข้อง

เมื่อไม่นานมานี้ บัญชีดังกล่าวยังได้ทวีตข้อความเกี่ยวกับการที่อินโดนีเซียลุ้นเป็นสมาชิกไม่ถาวรของยูเอ็นเอสซี การต่อสู้กับการก่อการร้าย การผลักดันให้มีการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น การสร้างสนามบินในเมืองจาวาตะวันตก การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ที่จะจัดขึ้นที่อินโดนีเซียในเดือนส.ค.นี้ รวมถึงประเด็นที่ค่อนข้างอ่อนไหวเกี่ยวกับปาปัวตะวันตก

หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดี้ยนได้ถามความเห็นไปยังโฆษกของประธานาธิบดี เกี่ยวกับการปั่นกระแสที่เกิดขึ้นในการเมืองอินโดนีเซีย แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ

ด้านโฆษกของทวิตเตอร์ปฏิเสธในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนแอ็กเคานต์ทวิตเตอร์ปลอมของอินโดนีเซีย ที่ถูกระงับบัญชีจากทวิตเตอร์เมื่อปีที่แล้ว โดยทางทวิตเตอร์กล่าวว่า บริษัทได้พัฒนาเทคนิคใหม่ๆ ในการตรวจจับบัญชีที่เป็นอันตราย

ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของอินโดนีเซียที่กำลังจะมาถึงใน 2019 นี้ จึงเป็นที่น่าจับตามองว่าบัซเซอร์ โรงงานผลิตแอ็กเคาปลอม หรือกองทัพมุสลิมไซเบอร์ จะมีบทบาทและจะมีอิทธิพลอย่างไรต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ ในยุคสมัยที่ทุกคนสามารถมีบัญชีโซเชียลมีเดียและรับรู้ข่าวสารได้ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วคลิก