posttoday

จับตาวิกฤต"ค่าเงินตุรกี"อาจลามทั่วโลก

14 สิงหาคม 2561

สถานการณ์ค่าเงินตุรกีอ่อนค่าลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ อันมีสาเหตุมาจากการเผชิญหน้ากับสหรัฐอาจกลายเป็นวิกฤตที่ลามไปทั่วโลก

สถานการณ์ค่าเงินตุรกีอ่อนค่าลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ อันมีสาเหตุมาจากการเผชิญหน้ากับสหรัฐอาจกลายเป็นวิกฤตที่ลามไปทั่วโลก

ก่อนปิดตลาดทุนเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว สกุลเงินลีราของตุรกีอ่อนยวบถึง 20% ถือเป็นอัตราการอ่อนค่าที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ สาเหตุเริ่มต้นมาจากการเผชิญหน้าระหว่างตุรกีกับสหรัฐที่ทวีความดุเดือดยิ่งขึ้น เมื่อ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ขีดเส้นตายให้ตุรกีปล่อยตัวนักสอนศาสนาชาวอเมริกัน 2 คน ที่ถูกควบคุมตัวไว้ที่ตุรกีนานถึง 2 ปี ข้อหาเกี่ยวกับความพยายามยึดอำนาจเมื่อปี 2016 เมื่อตุรกียังยืนยันเสียงแข็ง ทรัมป์จึงสั่งเพิ่มพิกัดอัตราภาษีที่เรียกเก็บจากสินค้าตุรกีอีก 2 เท่าตัว และหลังจากนั้น ทั้งสองฝ่ายเปิดสงครามวาทะกันอย่างดุเดือด

วานนี้ เมื่อตลาดทุนทั่วโลกเปิดซื้อขายอีกครั้ง ความเชื่อมั่นในสกุลเงินลีราก็ยังไม่ดีขึ้น ทั้งยังฉุดให้สกุลเงินต่างๆ ในเอเชียผันผวนอย่างหนักไปด้วย ท่ามกลางกระแสวิตกของนักลงทุนและนักวิเคราะห์ว่า วิกฤตลีราอาจจะลุกลามไปทั่วโลก และในเวลานี้ตุรกีเริ่มหมดทางเลือกในการแก้ปัญหาลงไปเรื่อยๆ

แต่ถึงขนาดนี้ ประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน แห่งตุรกี ยังมั่นใจว่าจะแก้ปัญหาได้ พร้อมกับลั่นวาจาว่า จะไม่ยอมจำนนกับแผนการที่จะบ่อนทำลายประเทศ พร้อมกับแนะนำให้ประชาชนเตรียมรับมือกับสงครามเศรษฐกิจ ด้วยการเปลี่ยนสกุลเงินลีราเป็นสกุลเงินต่างประเทศและทองคำซึ่งมีเสถียรภาพมากกว่า เพราะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเป็นทั้งการต่อสู้ดิ้นรนของประชาชนและของประเทศชาติโดยรวม

สาเหตุที่เรื่องนี้กำลังจะกลายเป็นวิกฤตก็เพราะ เมื่อค่าเงินของตุรกีอ่อนลง ทำให้ต้นทุนการกู้ยืม เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้ที่รัฐบาลต้องจ่ายรายปีสูงขึ้นถึง 18% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อสูงถึง 15% และตลาดหุ้นปรับตัวลงถึง 17% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เฉพาะค่าเงินลีราตลอดทั้งปีนี้อ่อนค่าลงถึง 40% แล้ว ตัวเลขเหล่านี้เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าตุรกีกำลังจะประสบกับวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ในไม่ช้า

จับตาวิกฤต"ค่าเงินตุรกี"อาจลามทั่วโลก

ไม่แน่ว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF อาจต้องเข้ามาเกี่ยวพันกับสถานการณ์ในตุรกี แต่เนื่องจาก IMF มีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลสหรัฐอย่างเหนี่ยวแน่น ทำให้ตุรกีอาจไม่ยอมรับความช่วยเหลือจาก IMF โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่าทีของรัฐบาลตุรกีในเวลานี้ ค่อนข้างชัดเจนว่า เห็นสหรัฐเป็นตัวการความปั่นป่วนที่เกิดขึ้น

ก่อนหน้านี้ แอร์โดอันกล่าวเป็นนัยว่า "บางประเทศมีพฤติกรรมที่ชอบปกป้องพวกที่ก่อการรัฐประหาร และไม่รู้จักนิติธรรมหรือความเป็นธรรม ความสัมพันธ์กับประเทศจำพวกนี้ถึงจุดที่ยากจะเยียวยาแล้ว" แม้จะไม่เอ่ยชื่อประเทศ แต่คำกล่าวของแอร์โดอันเพ่งเล็งไปที่สหรัฐโดยตรง ในฐานะที่สหรัฐมีส่วนเกี่ยวข้องกับแผนรัฐประหารยึดอำนาจแอร์โดอันเมื่อปีที่แล้ว แต่ล้มเหลว

จนกระทั่งวานนี้ ผู้นำตุรกีกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่าสหรัฐเป็นตัวการเรื่องทั้งหมด โดยกล่าวหาว่าสหรัฐกำลังแทงข้างหลัง ทั้งๆ ที่ตุรกีเป็นพันธมิตรสำคัญ เขากล่าวว่า "ด้านหนึ่งคุณทำตัวเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ อีกด้านหนึ่งคุณยิงปืนเข้าใส่เท้าของหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ เราอยู่ในนาโตด้วยกัน แล้วคุณยังแทงข้างหลังหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อีกหรือ เรื่องแบบนี้มันจะรับได้ที่ไหน?" ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกีขานรับผู้นำ โดยย้ำว่า สหรัฐควรจะตระหนักว่าการข่มขู่ตุรกีจะไม่มีวันสำเร็จ และตุรกีหมดทางเลือที่จะคืนสัมพันธไมตรีกับสหรัฐแล้ว

ในเวลาเดียวกัน รัฐบาลตุรกีพยายามจะควบคุมสถานการณ์ด้วยการสั่งกวาดจับสมาชิกโซเชียลมีเดียถึง 346 ราย ฐานปลุกปั่นข้อมูลจนทำให้เงินลีราดิ่งเหวและบั่นทอนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ที่มา www.m2fnews.com

ภาพ เอเอฟพี