posttoday

ทำไมมหาวิทยาลัยลัยญี่ปุ่นตัดโอกาสผู้หญิง?

09 สิงหาคม 2561

สำรวจเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังกรณีอื้อฉาวของวงการศึกษาญี่ปุ่น เมื่อมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์โตเกียว ตัดโอกาสผู้หญิงเข้าเรียนหมอ

สำรวจเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังกรณีอื้อฉาวของวงการศึกษาญี่ปุ่น เมื่อมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์โตเกียว ตัดโอกาสผู้หญิงเข้าเรียนหมอ

กรณีอื้อฉาวที่สร้างความสั่นสะทือนให้กับวงการการศึกษาของญี่ปุ่นมากที่สุดในตอนนี้ คือการที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์โตเกียว หรือ TMU ยอมรับว่า มีการแก้ไขผลการสอบของนักศึกษาจริง โดยก่อนหน้านี้มีรายงานว่า ทางมหาวิทยาลัยแก้ไขคะแนนของนักศึกษาหญิงให้ต่ำกว่านักศึกษาชาย อ้างว่านักศึกษาหญิงมักไม่ได้ทำงานด้านการแพทย์หลังสำเร็จการศึกษา เพราะต้องไปเป็นภรรยาและแม่บ้านหลังจากแต่งงงานแล้ว

การตัดคะแนนดังกล่าวทำกันมาตั้งแต่ปี 2006 โดยแทบไม่มีใครทราบเรื่องจนกระทั่งหนังสือพิมพ์โยมิอูริ ชิมบุน ได้ทำการสืบสวนจนทราบความจริงในที่สุด และกลายเป็นข่าวใหญ่ที่สั่นสะเทือนความเชื่อมั่นในระบบการศึกษาของประเทศ

เมื่อเรื่องนี้แดงออกไป ทำให้สาธารณชนชาวญี่ปุ่นรู้สึกไม่พอใจอย่างรุนแรง จนกระทั่ง TMU ต้องทำการสอบสวนภายในกันเอง จนพบว่ายังมีการฉ้อโกงอีกกรณี คือการที่มหาวิทยาลัยเพิ่มคะแนนให้กับนักศึกษา 19 คน ที่บริจาคเงินให้กับมหาวิทยาลัย

เทตสึโอะ ยูกิโอะ อธิการบดี TMU กล่าวขอโทษต่อสาธารณชนว่า "เราทรยศต่อความเชื่อมั่นของสาธารณะ เราต้อขออภัยอย่างสุดซึ้งต่อเรื่องที่เกิดขึ้น" ส่วน เคสุเกะ มิยาซาวะ รองอธิการบดี TMU ยืนยันว่า การสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปีหน้าจะบริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างแน่นอน

คำถามสำคัญก็คือ ทำไมสถาบันการศึกษาชั้นแนวหน้าของญี่ปุ่นที่เก่าแก่กว่า 100 ปี ถึงต้องกดขี่นักศึกษาหญิงและยอมทิ้งหลักการ แล้วลดตัวลงมารับเงินสินบน? ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สวนทางกับความเข้าใจของคนทั่วไป ที่คิดว่าญี่ปุ่นคงจะมีความซื่อสัตย์และรับผิดชอบมากกว่าประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศ

การตัดคะแนนของนักศึกษาหญิงโดยอ้างว่าถึงจบไปก็ไม่ได้ทำงาน เพราะต้องเป็นแม่บ้าน เป็นข้ออ้างที่มูล เพราะในสังคมญี่ปุ่นมักไม่ส่งเสริมให้ผู้หญิงที่สมรสแล้วทำงานนอกบ้าน หลังจากที่มีสถานะเป็นภรรยา ผู้หญิงต้องคอยดูแลธุระของครอบครัว โดยเฉพาะสวัสดิภาพของลูกๆ และสามี จากการสำรวจโดย WEF พบว่า บริษัทญี่ปุ่นถึง 73% ไม่มีพนักงานผู้หญิง ส่วนผู้หญิงที่ทำงานถึง 57% ไม่ได้ทำงานในระบบ

นอกจากนี้ WEF ยังพบช่องว่างความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิงในญี่ปุ่นมีอัตราถ่าง หรือไม่เท่าเทียมกันมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก จาก 10 ปีก่อนอยู่ในอันดับที่ 80 แต่อันดับตกลงต่อเนื่อง จนกระทั่งปีที่แล้วอยู่ในอันดับที่ 114

ทำไมมหาวิทยาลัยลัยญี่ปุ่นตัดโอกาสผู้หญิง?

ในช่วงที่ทั่วโลกเกิดกระแส #MeToo หรือการเปิดโปงการล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิง แต่ที่ญี่ปุ่นกระแสนี้กลับก่อตัวขึ้นอย่างล่าช้ามาก และได้รับการตอบรับอย่างเย็นชา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแรงกดดันจากสังคมที่ผู้เป็นใหญ่ยังมีพลังค่อนข้างมาก

แหล่งข่าวที่เปิดเผยข้อมูลการตัดคะแนนของนักศึกษาหญิงบอกกับโยมิอูริ ชิมบุนว่า การปฏิบัติดังกล่าวเป็นเรื่องที่รู้กันเงียบๆ เพราะกังวลกันว่านักศึกษาหญิงมักจะไม่ประกอบอาชีพแพทย์หลังจากจบการศึกษา

นอกจากนี้ ยังดูเหมือนว่าแม้แต่ผู้หญิงเองก็ยอมรับการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกัน โทรทัศน์ NHK รายงานอ้างผลสำรวจของบริษัทแห่งหนึ่งพบว่า 65% ของแพทย์หญิงในญี่ปุ่นยอมรับได้ว่า เข้าใจถึงเหตุผลที่ทางมหาวิทยาลัยตัดคะแนนของนักศึกษาหญิง และ มีบางรายที่บอกว่า การปฏิบัติของ TMU ไม่สมเหตุสมผล แต่ก็พอจะเข้าใจได้

ขณะที่ ผู้ตอบแบบสอบถามรายหนึ่งเผยว่า เธอเคยแท้งลูกหลังจากต้องทำงานช่วงวันหยุดและช่วงดึก ถ้าไม่ได้รับความเห็นใจจากเพื่อนร่วมงาน คงไม่สามารถทำงานต่อได้ ซึ่งข้อมูลนี้ยังช่วยตอกย้ำว่า ญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมการทำงานที่หามรุ่งหามค่ำ จนส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพของพนักงาน

รูริโกะ สึชิมะ แพทย์หญิงและสมาชิกของคณะกรรมการสมาคมร่วมผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์หญิง กล่าวว่า แพทย์หญิงหลายคนต้องเลิกอาชีพนี้ เพราะต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำไม่มีวันหยุด เธอจึงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปเวลาทำงานของแพทย์ทั้งชายและหญิง

ที่มา www.m2fnews.com

ภาพ เอเอฟพี