posttoday

‘หวาน มัน เค็ม’มากไป ระวังหัวใจไม่แข็งแรง

07 สิงหาคม 2561

พฤติกรรมการรับประทานอาหารของคนในปัจจุบัน มักเน้นรสชาติที่ถูกปาก เมนูหน้าตาถูกใจ สีสันชวนน่ารับประทาน

เรื่อง กันย์

พฤติกรรมการรับประทานอาหารของคนในปัจจุบัน มักเน้นรสชาติที่ถูกปาก เมนูหน้าตาถูกใจ สีสันชวนน่ารับประทาน โดยเฉพาะรสหวาน มัน เค็ม ที่เรียกได้ว่า เป็นรสชาติยอดนิยมของคนไทย แต่กลับส่งผลเสียต่อสุขภาพ หากขาดการควบคุมและบริโภคเกินพอดี

นพ.อนุสิทธิ์ ทัฬหสิริเวทย์ อายุรแพทย์หัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า เมืองไทยมีอาหารให้เลือกรับประทานมากมาย “ที่สำคัญอาหารไทยมีครบทุกรส ทั้งหวาน มัน เค็ม เผ็ด เปรี้ยว รสชาติที่ชวนกินจึงนำไปสู่ความเสี่ยงในการบริโภคเกินพอดี ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดโรคหัวใจ ถ้าไม่รีบควบคุมปริมาณให้พอเหมาะไว้ จะเป็นบ่อเกิดของโรคภัยได้ง่าย ถ้ากินรสจัดมากเกินไป”

หวานไปไม่ดี 

น้ำตาลเป็นแหล่งพลังงานที่ไม่มีสารอาหารอื่นๆ เมื่อบริโภคมากเกินไปร่างกายจึงได้รับแต่พลังงานเพียงอย่างเดียว ที่น่าสนใจคือแม้น้ำตาลจะมีหลายชนิด แต่ให้พลังงานไม่ต่างกันคือประมาณ 4 กิโลแคลอรี/กรัม และแม้ร่างกายจะมีกระบวนการป้องกันไม่ให้น้ำตาลในเลือดสูงเกินไป

หากบริโภคน้ำตาลมากเกินไป ส่งผลให้ร่างกายหลั่งอินซูลินจากตับอ่อนเพื่อนำน้ำตาลในเลือดเข้าสู่เซลล์แล้วเปลี่ยนเป็นพลังงาน แต่ละคนจะตอบสนองต่ออินซูลินไม่เท่ากัน คนที่หลั่งอินซูลิน แต่ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์จะส่งผลทำให้น้ำตาลในเลือดสูง เกิดแนวโน้มที่จะเป็นโรคหัวใจ

เราสามารถป้องกันระดับน้ำตาลในร่างกายไม่ให้เกินได้ โดยควรกินน้ำตาลให้น้อย โดยเฉลี่ยไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา (24 กรัม) เลี่ยงเครื่องดื่มทุกชนิดที่มีน้ำตาลมากกว่าร้อยละ 5 สังเกตได้จากฉลากข้างขวด เลือกกินผลไม้ที่มีปริมาณน้ำตาลน้อย เช่น ฝรั่ง มะละกอ แอปเปิ้ลเขียว ส่วนของหวานหลังอาหารรับประทานได้ แต่ควรเน้นรสหวานน้อยและสลับกับการรับประทานผลไม้หลังมื้ออาหาร

มันมากโรคถามหา 

ไขมัน เป็นสารอาหารจำเป็น และเป็นแหล่งพลังงาน ไขมัน 1 กรัม ให้พลังงาน 9 กิโลแคลอรี มากกว่าคาร์โบไฮเดรตและโปรตีน หากรับประทานไขมันมากเกินไป นอกจากจะทำให้อ้วนยังนำไปสู่โรคเรื้อรังได้ โดยเฉพาะไขมันทรานส์ ซึ่งพบในเนยขาว เนยเทียม เบเกอรี่ โดนัท คุกกี้ ครีมเทียมบางชนิด ฯลฯ หากรับประทานมากเกินไปจะไปสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือด ส่งผลให้เส้นเลือดตีบ ทั้งยังเพิ่มไขมันชนิดไม่ดี (LDL) และลดไขมันชนิดดี (HDL) ทำให้มีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มสูงขึ้นได้

การรับประทานอาหารที่มีกรดไขมันอิ่มตัวมาก ซึ่งมักพบในน้ำมันจากสัตว์ เนื้อสัตว์ที่มีไขมันขาวๆ ไขมันในนม และเนยสด จะส่งผลให้คอเลสเตอรอลสูง เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้นเช่นกัน

วิธีป้องกันไขมันไม่ให้เกิน คือ ควรกินไขมันให้น้อยไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา (30 กรัม) กินเนื้อสัตว์ไม่มีหนัง ไม่ติดมัน และไม่ควรเกิน 9 ช้อนโต๊ะ/วัน เลี่ยงอาหารทอดเพราะน้ำมันที่ใช้ทอดอาหารอย่าง น้ำมันหมู น้ำมันปาล์ม ฯลฯ มักจะมีกรดไขมันอิ่มตัวมาก งดอาหารที่มีไขมันทรานส์ เช่น เค้ก ครีมเทียม ป๊อปคอร์น แฮมเบอร์เกอร์ ฯลฯ และไม่ควรทานอาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ เป็นต้น 

เค็มมากร่างพัง 

ความเค็มเป็นรสชาติที่ติดปากคนไทย มาจากโซเดียมคลอไรด์ หรือเกลือที่นำมาใช้ในการทำอาหาร ซึ่งโซเดียมนั้นมีประโยชน์กับร่างกาย คือ ช่วยให้ระบบไหลเวียนของร่างกายเป็นปกติ ความดันและปริมาตรของเลือดเป็นปกติ แต่หากได้รับโซเดียมมากเกินไปจะนำมาซึ่งผลเสีย คือ เมื่อกินเกลือจะอยากกินน้ำ และจะเข้าไปรวมเป็นน้ำเกลือที่เพิ่มปริมาณเกลือแร่ในเลือด ส่งผลให้หัวใจต้องสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ หนักขึ้น ทำให้แรงดันหลอดเลือดสูง อาจเกิดภาวะหัวใจโต นำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวได้ และการกินเค็มมากไป ทำให้เป็นความดันโลหิตสูงซึ่งนำไปสู่ภาวะเส้นเลือดในสมองแตกหรืออัมพาตได้ ที่น่ากลัวคือเมื่อโซเดียมมากเกินไป ร่างกายอาจไม่แสดงอาการ แต่จะทำลายอวัยวะต่างๆ ไปเรื่อยๆ  

ควรกินโซเดียมไม่เกินวันละ 1 ช้อนชา (2,000 มิลลิกรัม) งดการเติมน้ำปลาในอาหาร ไม่จิ้มพริกเกลือเมื่อกินผลไม้ เลี่ยงการกินอาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูป อาหารหมักดอง อาหารอบแห้ง ขนมกรุบกรอบ และลดความถี่กับปริมาณการรับประทานน้ำจิ้มต่างๆ ลง