posttoday

"ซ่อนกล้องแอบถ่าย" ภัยคุกคามทางเพศแดนโสม

05 สิงหาคม 2561

"การซ่อนกล้องแอบถ่าย"กำลังเป็นภัยคุกคามทางเพศที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องในเกาหลีใต้

"การซ่อนกล้องแอบถ่าย"กำลังเป็นภัยคุกคามทางเพศที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องในเกาหลีใต้

***************************

โดย...กุลจิรา นารอง

เมื่อพูดถึงประเทศเกาหลีใต้ หลายคนอาจจะมองว่าเป็นประเทศที่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจให้ฟื้นจากสงครามได้ในระยะเวลาไม่กี่ปี หรืออุตสาหกรรมเพลงป๊อปที่โด่งดังไปทั่วโลก แต่ปัญหาของประเทศที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้าแห่งนี้คือ การซ่อนกล้องแอบถ่ายตามสถานที่สาธารณะ และนำไปเผยแพร่ในโลกออนไลน์

การซ่อนกล้องแอบถ่าย หรือ “โมลกา” (Molka) กำลังเป็นประเด็นทางสังคมที่ร้อนแรงในเดือนที่ผ่านมาที่ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งยิ่งตอกย้ำปัญหาการคุกคามทางเพศต่อผู้หญิงในสังคม โดยเฉพาะการคุกคามทางเพศในสถานที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น ห้องน้ำ ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า หรือสถานที่ทำงาน ท่ามกลางกระแสการรณรงค์ยุติการล่วงละเมิดทางเพศ ผ่านแฮชแท็ก #Metoo เมื่อเร็วๆ นี้

สิ่งที่น่าวิตกคือปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากเรื่อยๆ สะท้อนออกมาจากข้อมูลสถิติจากกรมตำรวจของเกาหลีใต้ ที่เปิดเผยว่าคดีที่เกี่ยวข้องกับการแอบถ่ายเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 6,500 คดีในปี 2017 จาก 1,345 คดีในปี 2010 ส่งผลให้ผู้ที่ต้องใช้บริการห้องน้ำหรือห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าสาธารณะต้องคอยระมัดระวังและตรวจสอบว่ามีวัตถุรูปร่างคล้ายกล้องแอบถ่ายซ่อนอยู่หรือไม่

นอกจากนี้ จากข้อมูลสถิติยังพบว่าผู้กระทำผิดส่วนใหญ่เป็นเพศชายถึง 98% จากจำนวนผู้ต้องสงสัยกว่า 1.62 หมื่นคนที่ถูกจับในข้อหาแอบถ่ายระหว่างปี 2012-2017 และเหยื่อที่ถูกแอบถ่ายกว่า 2.6 หมื่นคน เป็นเพศหญิงถึง 84% ซึ่งส่วนมากจะไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกแอบถ่ายอยู่

ความรุนแรงของปัญหานี้ยังเห็นได้จากการที่ มุนแจอิน ประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ ได้ออกมายอมรับว่าการซ่อนกล้องแอบถ่ายเกิดขึ้นบ่อยจนกลายเป็น “ส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน” ของชาวเกาหลีไปเสียแล้ว และได้เรียกร้องให้เพิ่มบทลงโทษที่รุนแรงยิ่งขึ้น เพื่อขจัดปัญหาการแอบถ่ายให้หมดสิ้นไป

แม้ว่าในเกาหลีใต้นั้น การเผยแพร่ภาพลามกอนาจารเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย โดยกฎหมายระบุให้มีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี หรือปรับ 10 ล้านวอน (ราว 3 แสนบาท) และถ้ามีการเผยแพร่ภาพลามกเพื่อการค้า บทลงโทษจะอยู่ที่การจำคุกสูงสุด 7 ปี หรือปรับ 30 ล้านวอน (ราว 9 แสนบาท) แต่ผู้กระทำผิดส่วนใหญ่กลับไม่ต้องเจอกับบทลงโทษเต็มรูปแบบ ส่วนมากก็แค่จ่ายค่าปรับเพียงเล็กน้อย หรือรอลงอาญาเพียงเท่านั้น

การแบ่งแยกเพศฝังรากลึก

การซ่อนกล้องแอบถ่ายในที่สาธารณะไม่เพียงเป็นปัญหาการคุกคามทางเพศเท่านั้น แต่ยังเน้นย้ำให้เห็นถึงโครงสร้างสังคมแบบปิตาธิปไตย หรือสังคมที่มีชายเป็นใหญ่ของเกาหลีใต้ สะท้อนจากการปฏิบัติงานที่ไม่จริงจังในการช่วยเหลือผู้เสียหายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่งผลให้ไม่มีการแก้ปัญหาและลงโทษต่อผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ชายอย่างจริงจัง

การลงโทษผู้กระทำผิดอย่างไม่จริงจัง สะท้อนให้เห็นจากข้อมูลจากกรมตำรวจของเกาหลีใต้ ที่ระบุว่า ในปี 2017 มีการดำเนินคดีเกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศจากการแอบถ่ายเพียง 119 คดี จาก 6,500 คดี อีกทั้งระหว่างปี 2012-2017 ทางการจับกุมชายแอบถ่ายผู้หญิงเพียง 540 คน หรือคิดเป็น 2.6% เท่านั้น จากผู้ต้องสงสัยก่อเหตุดังกล่าวทั้งหมดกว่า 2 หมื่นคน

นอกจากนี้ ผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อการแอบถ่ายยังต้องเผชิญกับ “การลงโทษผู้เสียหาย” (Victim-Blaming) เมื่อลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิหรือการไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ

“ที่สถานีตำรวจ ฉันรู้สึกโดดเดี่ยว ฉันรู้สึกว่าผู้ชายทุกคนที่กำลังมองมาที่ฉันเหมือนฉันเป็นก้อนเนื้อหรือเป็นวัตถุทางเพศ ฉันกลัวมาก” คิม (นามสมมติ) เหยื่อที่ถูกแอบถ่าย ให้สัมภาษณ์กับบีบีซี

ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าไม่ได้มีการปฏิบัติงานแบบสองมาตรฐานระหว่างเหยื่อที่เป็นผู้หญิงและผู้ชาย โดยทางตำรวจมีการปฏิบัติงานอย่างจริงจังต่อเหยื่อทุกคนในมาตรฐานเดียวกัน

จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้เมื่อต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ผู้หญิงชาวเกาหลีใต้กว่า 2.2 หมื่นคนได้ออกมาประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลกวาดล้างสื่อลามกที่มีต้นตอจากการใช้กล้องแอบถ่าย นับเป็นการประท้วงเรียกร้องสิทธิสตรีครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เกาหลีใต้ โดยป้ายประท้วงบ่งชี้ถึงความคับข้องใจของผู้หญิงเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะเป็น “ชีวิตของฉันไม่ใช่หนังโป๊ของคุณ” หรือ “เราไม่ใช่วัตถุทางเพศของคุณ” นอกจากนี้ กลุ่มผู้ประท้วงยังเรียกร้องให้มีการลงโทษผู้ชายที่ทำการแอบถ่ายอย่างจริงจังด้วย

“ถึงแม้เพศหญิงตกเป็นเหยื่อจากการถูกซ่อนกล้องเพื่อแอบถ่ายในสถานที่สาธารณะ แต่พวกเราก็ยังไม่เห็นการดำเนินคดีแก่ผู้ต้องหาที่เป็นผู้ชายอย่างจริงจัง สะท้อนให้เห็นว่าในเกาหลีใต้ยังคงมีการแบ่งแยกทางเพศที่ฝังลึกอยู่” ผู้เข้าร่วมประท้วงให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวยอนฮับ

เร่งหามาตรการป้องกัน

เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ รายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจในจังหวัดกยองซัง ได้เพิ่มมาตรการตรวจสอบและป้องกันการถูกแอบถ่ายมากขึ้น โดยเฉพาะในห้องน้ำและห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าสาธารณะที่อยู่ในบริเวณริมทะเล หรือสระว่ายน้ำของท้องถิ่น เนื่องจากในช่วงฤดูร้อนของเกาหลีใต้ช่วงปลายเดือน มิ.ย.-ก.ย. พบว่าการแจ้งความกรณีถูกแอบถ่ายปรับตัวสูงขึ้น

“พวกเราต้องออกตรวจบ่อยขึ้นในช่วงหน้าร้อน” ลี ซูฮยอน หนึ่งในเจ้าหน้าที่ตำรวจในทีมป้องกันการถูกแอบถ่ายของจังหวัดกยองซัง ทางตอนใต้ของเกาหลีใต้ กล่าว

ทีมงานตรวจสอบการซ่อนกล้องในเกาหลีใต้มีอุปกรณ์ประจำตัวคือ เครื่องตรวจรังสีอินฟราเรด ที่สามารถตรวจหาเลนส์กล้อง หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ได้ ซึ่งแต่ละคนในทีมจะโบกอุปกรณ์ตรวจสอบดังกล่าวไปตามตู้เก็บของ กรอบประตู ชักโครก ฝักบัว หรือทุกส่วนในห้องน้ำที่สามารถติดตั้งกล้องแอบถ่ายได้

ด้าน แชคยองด๊อก เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นในจังหวัดหนึ่งทางตอนใต้ เปิดเผยถึงวิธีการแอบถ่าย โดยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ว่า ผู้กระทำผิดส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษา เช่น ตำรวจ ข้าราชการ บาทหลวง ผู้พิพากษา แพทย์ โดยส่วนมากกล้องจะถูกซ่อนอยู่ตาม หมวกเบสบอล เข็มขัด นาฬิกา ไฟฉาย ยูเอสบี เนกไท กุญแจรถยนต์ หรือแม้แต่ในรองเท้า

การออกมาตรการต่างๆ ทั้งการตั้งทีมตรวจสอบ และสัญญาณจากประธานาธิบดีมุนแจอิน ที่เรียกร้องให้เพิ่มการลงโทษผู้กระทำผิดจากกรณีดังกล่าว บ่งชี้ว่าเกาหลีใต้เองก็พยายามหาทางแก้ไขปัญหานี้ อย่างไรก็ดี ภัยซ่อนกล้องแอบถ่ายที่เป็นการคุกคามทางเพศ ไม่ใช่สิ่งที่เกาหลีใต้จะแก้ไขได้เพียงลำพัง เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวคนแอบถ่ายเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องมีการจัดการเว็บไซต์เผยแพร่สื่อลามกดังกล่าวควบคู่ไปด้วย เพื่อป้องกันและสกัดปัญหาลุกลามต่อไปในอนาคต