posttoday

จีน-อินเดียโต้สหรัฐ ขึ้นภาษีนำเข้าสู้สงครามการค้า

05 สิงหาคม 2561

จีน-อินเดียตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐรอบใหม่ 5-25% ด้านสหรัฐขาดดุลการค้ามากสุดรอบ 19 เดือนเหตุทำสงครามการค้า

จีน-อินเดียตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐรอบใหม่ 5-25% ด้านสหรัฐขาดดุลการค้ามากสุดรอบ 19 เดือนเหตุทำสงครามการค้า

กระทรวงการคลังจีนประกาศตั้งภาษีนำเข้ารอบใหม่ 5-25% กับสินค้าสหรัฐ มูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.9 ล้านล้านบาท) ครอบคลุมสินค้ากว่า 5,200 รายการ ตั้งแต่สินค้าเกษตร อากาศยาน รวมถึงสินค้าด้านพลังงาน เช่น ก๊าซแอลเอ็นจี เพื่อตอบโต้หลังสหรัฐประกาศตั้งภาษี 25% กับสินค้าจีน 2 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 6.6 ล้านล้านบาท) เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา

สถานการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ว่าความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสองชาติมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

“สหรัฐทำให้สถานการณ์ตึงเครียดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งภาคเอกชนและผู้บริโภค จีนจึงต้องใช้มาตรการตอบโต้ที่จำเป็นเพื่อปกป้องเกียรติและผลประโยชน์ของพลเมือง” แถลงการณ์จากกระทรวงระบุ

นายลาร์รี คุดโลว์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจประจำทำเนียบขาว เปิดเผยว่า รัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะไม่ยอมอ่อนข้อ จนกว่าจีนจะเปลี่ยนแปลงแนวทางการค้า

ด้านอินเดียระบุว่าจะเริ่มเก็บภาษี 20% กับสินค้าสหรัฐในเดือน ก.ย. ซึ่งจะมีผลกับสินค้าเกษตรหลายรายการ เช่น แอปเปิ้ล วอลนัท และอัลมอนด์ เพื่อตอบโต้การตั้งภาษีเซฟการ์ดเหล็กและอะลูมิเนียมนำเข้าจากต่างชาติของสหรัฐ

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขดุลการค้าเดือน มิ.ย. ของสหรัฐ ที่ขาดดุลมากที่สุดในรอบ 19 เดือน เนื่องจากความขัดแย้งทางการค้ากับนานาชาติส่งผลให้สหรัฐส่งออกสินค้าได้น้อยลง โดยเฉพาะรถยนต์และสินค้าเกษตร และมีแนวโน้มจะขาดดุลต่อเนื่องเพราะเศรษฐกิจขยายตัวสูง ส่งผลให้ความต้องการสินค้านำเข้าเพิ่มอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ สหรัฐขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น 7.3% ไปอยู่ที่ 4.63 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 1.5 ล้านล้านบาท) โดยการส่งออกลดลง 0.7% อยู่ที่ 2.13 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 7 ล้านล้านบาท) ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น 0.6% อยู่ที่ 2.6 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 8.6 ล้านล้านบาท)

รายงานระบุว่า สหรัฐยังคงขาดดุลการค้ากับประเทศคู่ค้าทั้งหมดที่มีข้อพิพาทด้วย ทั้งจีน สหภาพยุโรป (อียู) และเม็กซิโก โดยขาดดุลกับจีนถึง 3.25 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 1.07 ล้านล้านบาท)แทบไม่เปลี่ยนแปลงจากยอดขาดดุลเดือน พ.ค. ที่ 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 1.06 ล้านล้านบาท)

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า ค่าเงินในภูมิภาคนี้ยังผันผวนจากปัญหาการตอบโต้ทางการค้า และปัจจัยสำคัญต่อค่าเงินบาทคือการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในสัปดาห์นี้