posttoday

ค่ายรถงัดแผนรับศึกค้าโลก

04 สิงหาคม 2561

ค่ายรถเร่งหาแผนรับมือศึกการค้าสหรัฐ-จีน ด้าน รมว.พาณิชย์สหรัฐ เผยจะกดดันจีนต่อ

ค่ายรถเร่งหาแผนรับมือศึกการค้าสหรัฐ-จีน ด้าน รมว.พาณิชย์สหรัฐ เผยจะกดดันจีนต่อ

บลูมเบิร์กรายงานว่า โตโยต้ากำลังเร่งปรับการดำเนินงานเพื่อควบคุมรายจ่ายของบริษัท และจะหันไปกระตุ้นดีมานด์ในตลาดจีนมากยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมรับมือผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ

มาซาโยชิ ชิรายานางิ กรรมการอาวุโสของโตโยต้า เปิดเผยว่า บริษัทกำลังเร่งปรับการดำเนินงานเพื่อควบคุมรายจ่าย ซึ่งขณะนี้โตโยต้าลดรายจ่ายได้แล้วราว 540 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.7 หมื่นล้านบาท) ในไตรมาสที่ผ่านมา

ขณะนี้โตโยต้ายังไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า โดยบริษัทเปิดเผยว่า ผลกำไรปรับขึ้น 7.2% ไปอยู่ที่ 6.43 แสนล้านเยน (ราว 1.91 แสนล้านบาท) ช่วงไตรมาสเดือน เม.ย.-มิ.ย. ซึ่งเป็นผลกำไรรายไตรมาสที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากยอดขายในเอเชีย โดยเฉพาะในจีนเพิ่มขึ้นมา 13%

อย่างไรก็ดี โตโยต้าระบุว่า ความ ขัดแย้งทางการค้าที่กลับมาทวีความรุนแรงขึ้น เสี่ยงกระทบต่อผลประกอบการในอนาคต เพราะต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้นหากมีการตั้งภาษีรถนำเข้า

"หากมีการตั้งภาษี ต้นทุนการผลิตรถในท้องถิ่นจะเพิ่มขึ้นราว 1,800 ดอลลาร์/คัน และต้นทุนสำหรับรุ่นที่นำเข้าจากญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นเป็น 6,000 ดอลลาร์ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อบริษัท" ชิรายานางิ กล่าว

โตโยต้าถือเป็นค่ายรถรายล่าสุดที่เร่งหามาตรการรับมือความขัดแย้งทางการค้า โดยรอยเตอร์สรายงานว่า ฮาราลด์ ครูเจอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของบีเอ็มดับเบิลยู เปิดเผยว่า บริษัทกำลังผลิตรถรุ่น เอ็กซ์5 ในไทยจำนวน 1-2 หมื่นคัน เพื่อส่งไปจำหน่ายในตลาดจีนโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการลดผลกระทบ โดยขณะนี้บริษัทต้องเสียภาษีแล้ว 40% สำหรับรถที่ผลิตในสหรัฐแล้วส่งไปขายในจีน

ขณะเดียวกัน เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) ค่ายรถรายใหญ่ของสหรัฐ เปิดเผยว่า กำลังหาทางขอยกเว้นภาษี 25% ที่สหรัฐจะเก็บกับรถเอสยูวีรุ่น บูอิค เอนวิสชั่น ที่ผลิตในจีน

ด้านบลูมเบิร์กรายงานว่า วิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐ ส่งสัญญาณว่าสหรัฐจะกดดันจีนยิ่งขึ้นจนกว่าจีนจะปฏิรูปเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจ

"จุดเริ่มต้นของการตั้งภาษีคือการพยายามให้จีนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่จีนกลับเลือกตอบโต้ ดังนั้น ท่านประธานาธิบดีจึงรู้สึกว่าอาจจำเป็นต้องเพิ่มแรงกดดันมากยิ่งขึ้น" รอสส์ กล่าว

ทั้งนี้ ความตึงเครียดทางการค้า ล่าสุดฉุดให้ค่าเงินหยวนร่วงแตะระดับต่ำสุดรอบ 14 เดือน ไปอยู่ที่ 6.8322 หยวน/ดอลลาร์ ระหว่างการซื้อขาย วานนี้ โดยค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงมาแล้ว 8% เมื่อเทียบดอลลาร์ในช่วง 6 เดือน ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ความวิตกเรื่องสถานการณ์การค้ายังกดดันตลาดหุ้นจีนด้วยเช่นกัน โดยบลูมเบิร์กรายงานว่า มูลค่าของตลาดหุ้นจีนปรับลงต่ำกว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2014 โดยอยู่ที่ 6.09  ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 202 ล้านล้านบาท) เมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ 6.17 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 205 ล้านล้านบาท)