posttoday

หั่นคะแนนสอบ มหา’ลัยแพทย์ ฉุดฝันญี่ปุ่นชูบทบาท‘ผู้หญิง’

04 สิงหาคม 2561

นสพ.โยมิอุริ ชิมบุน รายงาน มหาวิทยาลัยแพทย์โตเกียวแอบลดคะแนนสอบของผู้สมัครหญิงอย่างเป็นระบบ เพื่อจำกัดจำนวนนักศึกษาหญิงให้อยู่ที่ประมาณ 30% ของนักศึกษาทั้งหมด

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

ตลอดหลายปีมานี้ รัฐบาลญี่ปุ่นของนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ได้พยายามส่งเสริม “บทบาทของผู้หญิงในโลกการทำงาน” ทั้งการกระตุ้นให้เหล่าแม่บ้านกลับมาทำงานกันอีกครั้ง และสร้างญี่ปุ่นให้เป็นสังคมที่ผู้หญิงสามารถเฉิดฉายได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่ทุกหน่วยงานที่จะตอบสนองนโยบายนี้ และผู้หญิงญี่ปุ่นก็ยังคงเผชิญกับอุปสรรคอีกมาก

ล่าสุด หนังสือพิมพ์ โยมิอุริ ชิมบุน รายงานว่า มหาวิทยาลัยแพทย์โตเกียว (Tokyo Medical University) แอบลดคะแนนสอบของผู้สมัครหญิงอย่างเป็นระบบ เพื่อจำกัดจำนวนนักศึกษาหญิงให้อยู่ที่ประมาณ 30% ของนักศึกษาทั้งหมด โดยมหาวิทยาลัยทำแบบนี้มาตั้งแต่ปี 2011 หลังจากผู้หญิงเพิ่มขึ้นจนถึงสัดส่วน 40% ของผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือก ในปี 2010

รายงานอ้างแหล่งข่าวในมหาวิทยาลัยว่า มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องลดคะแนนผู้สมัครหญิง และเชื่อว่าวิธีนี้เป็น “แผนชั่วร้ายที่จำเป็นต้องทำ” (Necessary Evil) เพราะนักศึกษาหญิงส่วนมากที่จะจบการศึกษา และไปทำงานให้โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย มักจะลาออกจากงานเพื่อแต่งงานและเลี้ยงดูบุตร จนทำให้โรงพยาบาลขาดแคลนบุคลากร

นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์อาซาฮี รายงานว่า จำนวนผู้สมัครที่ผ่านการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแพทย์โตเกียวของปีนี้มีผู้หญิงเพียง 30 คน ต่างกับผู้ชายที่มีสูงถึง 141 คน นอกจากนี้ จำนวนผู้หญิงที่ยื่นสมัครสอบยังลดลงด้วย โดยปีนี้มีผู้สมัครหญิงเพียง 39% ของผู้สมัครทั้งหมด

การตัดคะแนนผู้สมัครหญิงกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวรอบล่าสุดของมหาวิทยาลัยแพทย์โตเกียว โดยมหาวิทยาลัยพบว่ามีการหั่นคะแนนผู้หญิงระหว่างการสอบสวนเรื่องการแอบเพิ่มคะแนนสอบให้กับลูกชายของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการคนหนึ่ง เพื่อช่วยให้ได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย จนทำให้เจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาธิการ และอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของมหาวิทยาลัย 2 คน ถูกสอบสวนฐานติดสินบน

ทั้งนี้ กระทรวงการศึกษา วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีญี่ปุ่น เปิดทางให้มหาวิทยาลัยสามารถกำหนดสัดส่วนการรับนักศึกษาหญิงและชายขึ้นมาเอง หากนโยบายการรับนักศึกษามีความชัดเจนพอ

อย่างไรก็ดี นิกเกอิ เอเชียน รีวิว รายงานอ้างแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่นว่า มหาวิทยาลัยแพทย์โตเกียวตัดคะแนนผู้สมัครหญิงทุกคน และมหาวิทยาลัยจะมีนักศึกษาหญิงจำนวนมากหากไม่หั่นคะแนนสอบแบบนี้ ซึ่งถือว่าเป็นความอยุติธรรมที่เกินธรรมดาไปแล้ว พร้อมเปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการอาจตัดงบอุดหนุนมหาวิทยาลัย ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านเยน (ราว 596 ล้านบาท)

“ผู้หญิงมีอัตราการลาออกจากงานสูง และการหั่นคะแนนเป็นการตัดสินใจของมหาวิทยาลัยที่ว่าจะเลือกรับนักศึกษากลุ่มไหน” แหล่งข่าวเปิดเผย

รายงานระบุด้วยว่า มหาวิทยาลัยแพทย์โตเกียวอาจไม่ใช่สถาบันเดียวที่หั่นคะแนนสอบผู้หญิง โดยอ้างจากข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งพบว่า ในปีงบประมาณ 2017 ผู้หญิงที่สมัครเข้าศึกษาด้านการแพทย์สามารถสอบผ่านเพียง 5.9% ต่ำกว่าผู้ชายที่มีสัดส่วนสอบผ่าน 6.6% แต่สำหรับสาขาอื่นๆ ผู้หญิงและผู้ชายมีสัดส่วนสอบผ่านที่ใกล้เคียงกัน เช่น ผู้หญิงและผู้ชายที่สมัครเข้าศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์มีสัดส่วนสอบผ่าน 11.6% เท่ากัน และสาขาวิศวกรรม ผู้หญิงมีสัดส่วนสอบผ่านสูงกว่าผู้ชาย 0.2%

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีสัดส่วนแพทย์หญิงต่ำมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศ โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่น ระบุว่า ในปี 2016 สัดส่วนแพทย์หญิงของญี่ปุ่นอยู่ที่ 21.1% เทียบกับกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ซึ่งมีสัดส่วนแพทย์หญิงเฉลี่ย 46% โดยเฉพาะลัตเวียและเอสโตเนียที่มีสัดส่วนแพทย์หญิงสูงกว่า 70% ส่วนอังกฤษ เยอรมนี และอีกหลายชาติในยุโรป มีสัดส่วนแพทย์หญิงเกิน 40%


มุ่งแก้ขาดแรงงานมากกว่า

ข้อมูลจากการสำรวจของกระทรวงกิจการภายในญี่ปุ่น พบว่า ผู้หญิงกลุ่มอายุระหว่าง 25-39 ปี มีงานทำ 75.7% ในปี 2017 ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เช่นเดียวกับกลุ่มอายุระหว่าง 15-64 ปี มีสัดส่วนการทำงาน 68.5% ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน

ทั้งนี้ จำนวนผู้หญิงที่ทำงานมากขึ้นเกิดขึ้นจากภาคเอกชนปรับเวลาการทำงานให้ยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งช่วยให้หญิงวัยกลางคนสามารถรักษาตำแหน่งงานไปพร้อมกับการเลี้ยงลูก ต่างกับกระแสเดิมที่ผู้หญิงมักจะลาออกจากงาน เพื่อไปทุ่มเทเวลากับดูแลบุตรโดยเฉพาะ อย่างไรก็ดี ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน มากกว่าการส่งเสริมให้ผู้หญิงได้เฉิดฉายในสังคมญี่ปุ่น

ตราบใดที่ความพยายามผลักดันบทบาทผู้หญิงไม่ไปเป็นองคาพยพเดียวกันในประเทศ ความหวังที่ผู้หญิงญี่ปุ่นจะสลัดภาพ “แม่บ้าน” มาเป็น “เวิร์กกิ้งวูแมน” ก็คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงในเร็ววันนี้