posttoday

ส่องกฎหมายต่างชาติ คุ้มครอง"ผู้ช่วยเหลือ"คนที่ตกอยู่ในอันตราย

23 กรกฎาคม 2561

กฎหมายของต่างประเทศทั้งยุโรปและเอเชีย ต่างให้ความคุ้มครองผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือคนที่ตกอยู่ในอันตราย อย่างน้อยต้องแจ้งเจ้าหน้าที่เข้าระงับเหตุ

กฎหมายของต่างประเทศทั้งยุโรปและเอเชีย ต่างให้ความคุ้มครองผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือคนที่ตกอยู่ในอันตราย อย่างน้อยต้องแจ้งเจ้าหน้าที่เข้าระงับเหตุ

จากกรณีสาวทอมทำร้ายแฟนจนบาดเจ็บสาหัส และเกิดกระแสโจมตีผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ว่าไม่เข้าไปช่วยเหลือเหยื่อ ทำให้เกิดการถกเถียงในหมู่คนไทยว่า ในสถานการณ์ดังกล่าวควรจะเข้าไปแทรกแซงหรือไม่ เพราะหากไม่เข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ถูกทำร้าย จะมีความผิดทางกฎหมาย แต่ถ้าเข้าไปช่วยอาจเสี่ยงที่จะถูกทำร้าย หรือถูกต่อว่าไม่ให้เข้ามายุ่งเรื่องส่วนบุคคล

ปัญหานี้เกิดขึ้นในต่างประเทศเช่นกัน แต่ว่าโครงสร้างกฎหมายที่มีความซับซ้อนเพื่อตอบรับสถานการณ์และคุ้มครองผู้ที่เข้าไปแทรกแซงในเวลาเดียวกัน

ในประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบคอมมอนลอว์ เช่น อังกฤษและสหรัฐ มีหลักการ Duty to rescue หรือหน้าที่ที่ต้องช่วย บังคับให้ผู้ที่เห็นเหตุการณ์อันตรายของอีกฝ่ายหนึ่งต้องเข้าแทรกแซงสถานการณ์อันตรายที่คนแปลกหน้ากำลังเผชิญอยู่ ในสหรัฐมีอยู่ 10 รัฐที่กำหนดให้คนที่อยู่ในเหตุการณ์ต้องช่วยคนแปลกหน้าที่กำลังเข้าตาจน อย่างน้อยต้องเรียกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมาระงับเหตุ

ส่วนประเทศที่ใช้กฎหมายซีวิลลอว์ เช่น ยุโรปและเอเชีย มักระบุว่า บุคคลที่สามต้องเข้าช่วยเหลือคนแปลกหน้าที่กำลังตกอยู่ในอันตราย แต่ต้องช่วยอย่างสมเหตุสมผล ไม่เป็นภัยต่อตัวเองและผู้อื่น แต่ส่วนใหญ่มักระบุให้แจ้งเจ้าหน้าที่บ้านเมืองให้เข้ามาแก้ไขสถานการณ์มากกว่า ประเทศที่มีกฎหมายกำหนดชัดในเรื่องนี้ เช่น เยอรมนี มีข้อกำหนดให้เข้าช่วยเหลือบุคคลที่กำลังอยู่ในอันตราย หากไม่ช่วยเหลือจะมีความผิด โดยที่ผู้ให้ความช่วยเหลือจะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายหากมีเจตนาที่ดี แต่ถ้าไม่เข้าไปช่วยเพราะมีเหตุผลจำเป็น (เช่น กลัวเลือด) กฎหมายก็ไม่สามารถเอาผิดได้

หลักการให้ความคุ้มครองทางกฎหมายกับผู้ช่วยเหลือ เรียกว่า Good Samaritan laws หรือกฎหมายผู้ที่มีใจกุศล เพื่อคุ้มครองบุคคลที่สามให้เกิดความแน่ใจว่า จะไม่ถูกฟ้องกลับหากเข้าไปแทรกแซงสถานการณ์ มีใช้ในระบบกฎหมายแบบคอมมอนลอว์ เช่น ออสเตรเลีย และแคนาดา รวมถึงจีน ซึ่งก่อนหน้านี้มีปัญหาคนแปลกหน้าไม่ยอมช่วยเหลือกัน เพราะจะถูกฟ้องกลับ จนต้องผ่านกฎหมายคุ้มครองในปี 2017

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการกำหนดตัวบทกฎหมายให้ความช่วยเหลือและมีมาตราคุ้มครองผู้ให้ความช่วยเหลือ แต่สังคมก็ยังเมินเฉยต่อเรื่องอันตรายต่อบุคคลแปลกหน้า เพราะพฤติกรรมสังคมที่เรียกว่า Bystander effect หรือปฏิกิริยาของผู้มองเหตุการณ์ข้างๆ ทาง ซึ่งจากการวิจัยพบว่า ยิ่งมีคนมุงดูเหตุการณ์มากเท่าไหร่ ความเต็มใจที่ให้ความช่วยเหลือยิ่งจะน้อยลงเท่านั้น เนื่องจากความลักลั่นตัดสินใจไม่ถูก และการเกี่ยงกันรับผิดชอบ

เมื่อปี 2016 เกิดเหตุชายวัย 83 ปีทรุดล้มลงกลางธนาคารแห่งหนึ่งในรัฐเอสเซน ประเทศเยอรมนี ต่อมาเสียชีวิตโดยผู้ที่อยู่ในธนาคารเดินเข้าไปห้ามไม่ให้การช่วยเหลือเขา ต่อมาได้มีการตรวจสอบกล้องวงจรปิดและตามตัวผู้ที่ละเลยที่จะให้ความช่วยเหลือมาดำเนินคดี ยกเว้นลูกค้าคนหนึ่งที่โทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่ฉุกเฉิน

ภาพ เอเอฟพี

ที่มา www.m2fnews.com