posttoday

ภัยที่ต้องนึกถึง

20 ตุลาคม 2553

ปีนี้ถือเป็นปีที่สภาพอากาศทั่วโลกแปรปรวน และผันผวนอย่างเห็นได้ชัด หนาวก็หนาวจัด แล้งก็แล้งรุนแรง พายุฝนก็ตกกันแบบฟ้ารั่วเกิดน้ำท่วมดินถล่มไปทั่วโลก

ปีนี้ถือเป็นปีที่สภาพอากาศทั่วโลกแปรปรวน และผันผวนอย่างเห็นได้ชัด หนาวก็หนาวจัด แล้งก็แล้งรุนแรง พายุฝนก็ตกกันแบบฟ้ารั่วเกิดน้ำท่วมดินถล่มไปทั่วโลก

โดย....ธนพล ไชยภาษี

ปีนี้ถือเป็นปีที่สภาพอากาศทั่วโลกแปรปรวน และผันผวนอย่างเห็นได้ชัด หนาวก็หนาวจัด แล้งก็แล้งรุนแรง พายุฝนก็ตกกันแบบฟ้ารั่วเกิดน้ำท่วมดินถล่มไปทั่วโลก

เป็นความสุดขั้วของปรากฏการณ์เอลนินโญ ที่ต่อเนื่องด้วยลานินญาที่ทั่วโลกเจอกันแบบถ้วนหน้า เมื่อปลายปีที่แล้วเมืองไทยไม่ค่อยหนาวเท่าไหร่ แต่ประเทศที่อยู่เหนือเราขึ้นไปนั้นหนาวเหน็บกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมา ครั้นเมื่อถึงฤดูแล้งก็ทำให้แม่น้ำหลายสายทั่วโลกแห้งขอด แต่เมื่อน้ำมา ก็มากันแบบเกินพอที่จะรับไหว

จีนเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ใกล้บ้านเรา ที่เห็นความสุดขั้วของสภาพอากาศได้ดีที่สุดในปีนี้ และได้ส่งผลกระทบต่อตัวเลขเศรษฐกิจทันทีด้วย เมื่อต้นปีตอนเหนือของจีนมีสภาพอากาศหนาวรุนแรง ตามมาด้วยภัยแล้งต่อเนื่องแม่น้ำหลายสายแห้งขอดทำลายพื้นที่การเกษตร ครั้นพอเข้าฤดูมรสุมก็มากันเกินพอดี ทำให้เกิดน้ำท่วม ดินถล่ม สร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สินตลอดจนพื้นที่การเกษตร

ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคในจีนประจำเดือน ส.ค. พุ่งขึ้นในทันทีถึง 3.5% จากเดือนก่อนหน้า อันเป็นผลจากสินค้ามีราคาแพงมากขึ้น เนื่องจากพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายรุนแรงจากภัยธรรมชาติมาอย่างต่อเนื่อง

ฟ้าฝน มนุษย์เราควบคุมไม่ได้ แต่มนุษย์ก็กลับทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงไปอีก จีนยอมรับว่าปัญหาส่วนหนึ่งที่ซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายลงไปอีกก็คือ การขยายตัวของเมืองในชนบท ที่เริ่มมีการปลูกสิ่งก่อสร้างเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ที่ไม่ควรจะปลูก ส่งผลให้การก่อสร้างกีดขวางทางน้ำ การปลูกที่อยู่อาศัยตามเชิงเขาก็เสี่ยงต่อดินถล่ม

หันมาดูไทย แม้ว่าขณะนี้เหตุการณ์น้ำท่วมใน จ.นครราชสีมา และอีกหลายจังหวัดจะรุนแรงมากที่สุดในรอบหลายสิบปีของบ้านเรา แต่ก็ยังถือว่าน้อยกว่าที่จีนเจอมากครับ

แต่จะว่าไป สถานการณ์ของจีนและไทยนั้นก็มีสภาพไม่ต่างกัน คือการขยายตัวของเมือง การขยายของพื้นที่เกษตรกรรมที่ไปกินพื้นที่ป่าที่คอยซับน้ำไว้ ตลอดจนการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างใหม่ๆ ในชนบทที่ไปขวางทางน้ำเดิม

พื้นที่ที่เคยใช้รองรับน้ำก็ถูกถมปลูกสิ่งก่อสร้างกันไป อย่างเช่นการถมอ่างเก็บน้ำเถกิงพล ใน อ.เมืองนครราชสีมา ก็ทำให้เส้นทางระบายน้ำถูกตัดออกไป เมื่อน้ำไม่มีที่ระบาย ก็เอ่อไหลทะลักเข้าเมืองอย่างที่เห็นนั่นแหละครับ

เท่านั้นยังไม่พอ ทุกวันนี้เห็นรีสอร์ตหลากหลายสไตล์ผุดขึ้นกันอย่างดอกเห็ดตามพื้นที่เสี่ยงตามเชิงเขา ในหลายจังหวัด ไม่ว่าจะที่ อ.สวนผึ้ง ราชบุรี หรือที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา หรือจะเป็นที่อื่นๆ เห็นแล้วก็น่าหวาดเสียวครับ เห็นว่ามีข่าวดินถล่มใส่รีสอร์ตเชิงเขาที่สวนผึ้งเมื่อต้นเดือนเกิดขึ้นแล้วด้วย

การเร่งการพัฒนาเมืองที่มากเกินไปอย่างไม่มีแผนรองรับอย่างรอบคอบนั้นก็จะสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้ และความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นมักจะรุนแรงเสมอครับ