posttoday

จีนหันใช้ไม้อ่อน ตั้งรับศึกการค้าสหรัฐ

13 กรกฎาคม 2561

จีนเบนเข็มใช้กลยุทธ์รูปแบบใหม่ หันหน้าเป็นพันธมิตรกับชาติต่างๆ ทั้งในยุโรป เอเชีย รวมถึงเอกชนอเมริกัน เพื่อตั้งรับศึกการค้ากับสหรัฐ

จีนเบนเข็มใช้กลยุทธ์รูปแบบใหม่ หันหน้าเป็นพันธมิตรกับชาติต่างๆ ทั้งในยุโรป เอเชีย รวมถึงเอกชนอเมริกัน เพื่อตั้งรับศึกการค้ากับสหรัฐ

****************************

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

ท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาที่กำลังดุเดือดยิ่งขึ้น หลังรัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ข่มขู่รอบใหม่ว่าจะขึ้นภาษีกับสินค้าจีนเพิ่มอีก 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.65 ล้านล้านบาท) โดยจะเรียกเก็บภาษีในอัตรา 10% มีผลบังคับใช้เดือน ก.ย. ซึ่งจะกระทบสินค้าจีนกว่า 6,031 รายการ จีนกำลังเบนเข็มไปใช้กลยุทธ์รูปแบบใหม่ ด้วยการหันหน้าเข้าเป็นพันธมิตรกับชาติต่างๆ ทั้งในยุโรป เอเชีย รวมถึงเอกชนอเมริกันด้วยเช่นกัน เพื่อตั้งรับศึกการค้ากับสหรัฐในครั้งนี้

ไฟแนนเชียล ไทมส์ รายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อครั้งมีข้อพิพาทกับชาติอื่นๆ จีนพุ่งเป้าโจมตีไปที่ภาคธุรกิจของชาติที่จีนขัดแย้งด้วย เพื่อบีบคั้นประเทศดังกล่าว เช่น กรณีขัดแย้งกับเกาหลีใต้เรื่องการติดตั้งระบบต่อต้านขีปนาวุธ (ทาด) เมื่อปี 2017 จีนบอยคอตสินค้าเกาหลีใต้ กดดันและปิดสาขาของ ลอตเต้ ค้าปลีกรายใหญ่และแชโบลใหญ่อันดับ 5 แดนกิมจิที่ทำธุรกิจในจีน รวมถึงแบนทัวร์จีนไปยังเกาหลีใต้ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ในศึกการค้ากับสหรัฐรอบล่าสุด จีนกลับหันไปเลือกใช้ “ไม้อ่อน”ด้วยการชูให้จีนกลายเป็นเป้าหมายการลงทุนที่น่าสนใจสำหรับนานาประเทศ เห็นได้จากการส่ง หลิวเฮ่อ รองนายกรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงเดินสายเจรจากระชับความสัมพันธ์ทางการค้า ออกมาตรการเปิดกว้างตลาดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศมากยิ่งขึ้น

ล่าสุด จีนยังสนับสนุนเงินช่วยเหลือให้ปาเลสไตน์ 15 ล้านดอลลาร์ (ราว 499 ล้านบาท) และประกาศแพ็กเกจเงินกู้ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 6.63 แสนล้านบาท) เพื่อดึงดูดบรรดามิตรประเทศอาหรับ

ทั้งนี้ เคลลี เมแมน ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าจาก แมคลาร์ตี แอสโซซิเอต บริษัทที่ปรึกษาทางการค้านานาชาติในสหรัฐ เปิดเผยว่า จีนหันไปใช้กลยุทธ์ใหม่ดังกล่าว เนื่องจากการตอบโต้สหรัฐด้วยการตั้งภาษีสินค้านำเข้านั้น มีขีดจำกัด และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนเองสอดคล้องกับความเห็นของ แม็ก เซนเจลอิน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากสถาบัน เมริกส์ อินสติติวท์ ในเยอรมนี ที่ระบุว่า จีนต้องพิจารณาการโต้กลับอย่างระมัดระวัง เนื่องจากเศรษฐกิจของจีนและสหรัฐเกี่ยวพันกันอย่างยิ่ง และสหรัฐยังเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่กว่าและมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจมากกว่าญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่จีนเคยฟาดฟันมาด้วยก่อนหน้านี้

“แม้เมื่อมองผิวเผินดูเหมือนจีนพยายามโจมตีสหรัฐ แต่ในความเป็นจริงแล้ว สินค้าสหรัฐ 3 อย่างที่จีนเลือกตั้งกำแพงภาษี ได้แก่ ถั่วเหลือง อากาศยาน และชิป ต่างก็เป็นสินค้าที่จีนต้องการมากที่สุดเช่นกัน” เฉินติงลี่ ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัย ฟู่ตัน ในนครเซี่ยงไฮ้ กล่าว

ขณะเดียวกัน รอยเตอร์สรายงานว่า การหันดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติของจีน สะท้อนออกมาจากการอนุมัติโครงการลงทุนใหญ่เมื่อไม่นานนี้

รายงานระบุว่า จีนอนุมัติให้บีเอเอฟเอส บริษัทปิโตรเคมีจากเยอรมนี เข้ามาลงทุนตั้งโรงงาน 1 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 3.3 แสนล้านบาท) นับเป็นโรงงานแห่งแรกที่ต่างชาติเป็นเจ้าของทั้งหมด ไม่ใช่กิจการร่วมลงทุนกับบริษัทท้องถิ่นในจีน ซึ่งการประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นนายกรัฐมนตรี หลี่เค่อเฉียงของจีน เดินทางเยือนเยอรมนีในสัปดาห์นี้ และลงนามข้อตกลงธุรกิจมูลค่า 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 7.65 แสนล้านบาท)

นอกจากการเอาใจเอกชนยุโรปแล้ว จีนเพิ่งไฟเขียวให้ เทสลา อิงก์ บริษัทรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ในสหรัฐ ตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในนครเซี่ยงไฮ้ โดยไม่ต้องลงทุนร่วมกับบริษัทท้องถิ่น และยังอนุมัติการตั้งบริษัทร่วมลงทุนมูลค่า 2,300 ล้านดอลลาร์ (ราว 7.6 หมื่นล้านบาท) ของ แอลจี บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่จากเกาหลีใต้ เพื่อตั้งโรงงานผลิตหน้าจอ OLED สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้วยเช่นกัน

จับตาความหวังเจรจา

บลูมเบิร์กรายงานอ้างแหล่งข่าวเกี่ยวข้องว่า เจ้าหน้าที่จีนและสหรัฐส่งสัญญาณว่าทั้งสองชาติอาจกลับไปเจรจาการค้าเพื่อลดความขัดแย้งอีกครั้ง หลังทรัมป์ขู่จะเก็บภาษี 2 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งขณะนี้จีนและสหรัฐเหลือเวลาอีกราว 7 สัปดาห์ก่อนภาษีดังกล่าวจะเริ่มบังคับใช้

ขณะเดียวกัน เกาเฟิง โฆษกกระทรวงพาณิชย์จีนแสดงความคาดหวังว่า เอกชนสหรัฐจะสามารถล็อบบี้รัฐบาลเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจเอาไว้ เนื่องจากบริษัทอเมริกันที่ทำธุรกิจในจีนจะได้รับผลกระทบอย่างมากจากสงครามการค้า

ทั้งนี้ หอการค้าอเมริกันในเซี่ยงไฮ้เปิดเผยว่า เอกชนจีนเกือบ 69% จากบริษัทที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 434 แห่ง ต่างคัดค้านมาตรการตั้งภาษีของสหรัฐกับสินค้าจีน เนื่องจากมองว่าการตั้งกำแพงภาษีไม่ช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ในการทำธุรกิจ เช่น การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหรือการจำกัดการเข้าถึงตลาด

“ตอนนี้รัฐบาลสหรัฐเรียกร้องความสนใจจากจีนได้แล้ว แต่ผมคิดว่า อันที่จริงแล้ว ไม่มีทางเลือกอื่นในการแก้ปัญหา นอกจากการกลับไปนั่งโต๊ะเจรจากับจีน” เคน จาร์เร็ตต์ ประธานหอการค้าสหรัฐในเซี่ยงไฮ้ กล่าว

ภาพ เอเอฟพี