posttoday

ชี้หุ่นยนต์ทำแรงงานทาสพุ่ง เตือนคนเกินครึ่งใน5ชาติอาเซียนเสี่ยงตกงาน

13 กรกฎาคม 2561

การใช้หุ่นยนต์ช่วยผลิตอาจทำให้ปัญหาแรงงานทาสยุคใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แย่ลง จี้ภาครัฐ-เอกชนหามาตรการแก้ไข

การใช้หุ่นยนต์ช่วยผลิตอาจทำให้ปัญหาแรงงานทาสยุคใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แย่ลง จี้ภาครัฐ-เอกชนหามาตรการแก้ไข

รอยเตอร์ส รายงานว่า การเติบโตของการใช้ระบบหุ่นยนต์ในภาคการผลิตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีแนวโน้มทำให้ปัญหาแรงงานทาสยุคใหม่ร้ายแรงยิ่งขึ้น เนื่องจากแรงงานที่ตกงานเพราะระบบอัตโนมัติอาจต้องยอมแข่งขันเพื่อแย่งชิงตำแหน่งงานที่ได้ค่าจ้างต่ำ

บริษัทที่ปรึกษาความเสี่ยง เวอริสก์เมเปิลครอฟต์ ในอังกฤษ เปิดเผยรายงานเรื่องสิทธิมนุษยชนประจำปี 2018 ว่า แนวโน้มการตกงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากการเติบโตของระบบอัตโนมัติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการผลิตหลายประเภท ตั้งแต่เสื้อผ้าไปจนถึงยานยนต์ อาจเป็นสาเหตุที่จะทำให้ปัญหาการกดขี่แรงงาน และแรงงานทาสในซัพพลายเชนเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ข้อมูลจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า แรงงานอย่างน้อย 137 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 56% ของแรงงานทั้งหมดในกัมพูชา อินโดนีเซีย ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ มีความเสี่ยงเสียตำแหน่งงานให้กับระบบอัตโนมัติ ภายใน 2 ทศวรรษข้างหน้า

ทั้งนี้ 5 ประเทศดังกล่าว ตกเป็นกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงด้านแรงงานทาสยุคใหม่อยู่แล้ว เนื่องจากมีการกดขี่แรงงานอย่างแพร่หลาย ค่าแรงต่ำ และแรงงานต้องทำงานในงานที่ใช้ทักษะน้อย

อเล็กซานดรา ชานเนอร์ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ด้านสิทธิมนุษยชนของเวอริสก์เมเปิลครอฟต์ ระบุว่า ความเสี่ยงของการใช้แรงงานทาสในซัพพลายเชนจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากแรงงานที่ตกงานเพราะการผลิตด้วยระบบหุ่นยนต์จะทำให้มีโอกาสเกิดการกดขี่แรงงานมากขึ้น เพราะแรงงานจำนวนมากต้องแย่งตำแหน่งงานที่มีน้อยลงอยู่แล้ว และได้ค่าจ้างน้อยลงด้วย

“แรงงานที่ขาดทักษะสำหรับการปรับตัว หรือไม่ได้รับมาตรการเยียวยาของประกันสังคมจะต้องแข่งขันกันเพื่องานที่ได้ค่าจ้างน้อยลง หรืองานที่ใช้ทักษะน้อย ซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจเกิดการเอารัดเอาเปรียบสูงขึ้น” ชานเนอร์ กล่าว พร้อมกับเตือนว่า แรงงานจำนวนมากอาจต้องแข่งขันเพื่อตำแหน่งงานล่างสุด ถ้าภาครัฐไม่มีมาตรการที่เป็นรูปธรรมที่จะช่วยปรับตัว และฝึกทักษะคนรุ่นใหม่ให้ทำงานควบคู่ไปกับเครื่องจักร

รายงานของเวอริสก์ เมเปิลครอฟต์ ระบุว่า อุตสาหกรรมการเกษตร ป่าไม้ ประมง การผลิต การก่อสร้าง ค้าปลีก และการบริการ คือภาคอุตสาหกรรมที่แรงงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มตกงานเพราะระบบหุ่นยนต์มากที่สุด โดยเวียดนามเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด

อย่างไรก็ตาม ซินดี เบอร์มัน หัวหน้าฝ่ายความรู้และการศึกษาของความริเริ่มการค้าอย่างมีศีลธรรม ซึ่งเป็นกลุ่มของสหภาพ บริษัท และมูลนิธิที่ส่งเสริมสิทธิแรงงาน เปิดเผยว่า แม้ว่าการใช้ระบบอัตโนมัติเป็นความเสี่ยงสำหรับตำแหน่งงานที่ใช้ความสามารถต่ำ แต่ภาครัฐ และภาคเอกชนสามารถลดผลกระทบที่มีต่อกลุ่มแรงงาน

“เทคโนโลยีอาจส่งผลเสียต่อแรงงาน แต่เทคโนโลยีก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาด้วยการสร้างโอกาสสำหรับงานที่ดีขึ้นเช่นกัน” เบอร์มัน กล่าว

ภาพ เอเอฟพี