posttoday

"ฮ่องกง"สุดบีบคั้น แค่ตายก็ยังราคาแพง

08 กรกฎาคม 2561

ฮ่องกงกำลังต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนพื้นที่เก็บอัฐิหลังการเผา ดังนั้นการหาสถานที่สุดท้ายแห่งชีวิต จึงกลายเป็นภารกิจราคาแพงไปโดยปริยาย

ฮ่องกงกำลังต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนพื้นที่เก็บอัฐิหลังการเผา ดังนั้นการหาสถานที่สุดท้ายแห่งชีวิต จึงกลายเป็นภารกิจราคาแพงไปโดยปริยาย

************************

โดย...จุฑามาศ เนาวรัตน์

ทั่วโลกต่างรู้ว่าราคาที่อยู่อาศัยในฮ่องกงนั้นยากที่จะเอื้อมถึง แต่ใครจะรู้ว่าแม้แต่สถานที่สำหรับคนตายก็มีมูลค่าที่สูงมากเช่นกัน ปัจจุบันฮ่องกงกำลังต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนพื้นที่เพื่อเก็บอัฐิหลังการเผา ดังนั้นการหาสถานที่สุดท้ายแห่งชีวิต จึงได้กลายเป็นภารกิจราคาแพงไปโดยปริยาย

แม้ว่าฮ่องกงจะมีพื้นที่เพียง 1,100 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) แต่ประชากรที่อาศัยอยู่ในประเทศกลับมีจำนวนมากถึง 7.3 ล้านคน ส่งผลให้ฮ่องกงเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหนาแน่นของประชากรสูงและมีค่าครองชีพแพงที่สุดในโลก อีกทั้งยังได้รับการขนานนามว่าเป็น “เมืองที่มีราคาแพงที่สุดในโลก” ติดต่อกันปีที่ 8

จากผลสำรวจของเดโมกราเฟีย สถาบันวิจัยในสหรัฐ พบว่าคนฮ่องกงจะต้องใช้เวลาเฉลี่ยมากกว่า 19 ปี ถึงจะสามารถซื้อบ้านสำหรับอยู่อาศัยได้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มากเกินไป แม้พวกเขาไม่ต้องจ่ายภาษีและมีภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก็ตาม

ภาพของครอบครัวที่ต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่จำกัดและแบ่งออกเป็นสัดส่วนย่อยๆ หรือที่เรียกว่า “ห้องนอนโลงศพ” ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าเตียงแฝด พบเห็นได้อย่างชินตาทั่วไปในประเทศ สภาพความเป็นอยู่อย่างอัตคัดเช่นนี้ ซึ่งตรงข้ามกับภาพลักษณ์มหานครอันร่ำรวยของฮ่องกง กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจไปทั่วทุกมุมโลก

นอกจากต้องแบกรับค่าที่อยู่อาศัยราคาแพงแล้ว เมื่อล่วงลับไปจากโลกใบนี้ ความตายในฮ่องกงก็ยังมีราคาแพงเช่นกัน

ในปัจจุบันฮ่องกงกำลังเผชิญกับการขาดแคลนช่องจัดเก็บอัฐิ หรือพื้นที่สำหรับจัดเก็บโกศของผู้ล่วงลับอย่างหนัก โดยปัจจุบันราคาช่องเก็บอัฐิสาธารณะอยู่ที่ 330 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.1 หมื่นบาท) ต่อช่อง ซึ่งมีจำนวนเพียง 500 ช่อง/ปี แต่จำนวนผู้เสียชีวิตในแต่ละปีกลับมีมากถึง 4.3 หมื่นคน ส่งผลให้บางครอบครัวจำเป็นต้องใช้เวลารออย่างน้อย 4 ปี หากต้องการปฏิบัติตามธรรมเนียมจีนอย่างแท้จริง

ภาวะขาดแคลนเช่นนี้ ทำให้หลายครอบครัวไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากหันไปพึ่งพาช่องเก็บอัฐิของเอกชนแทน ซึ่งก็ขาดแคลนไม่แพ้ที่อยู่อาศัย ส่งผลให้ราคาของช่องเก็บอัฐิปรับสูงขึ้นตามไปด้วย โดยอยู่ที่ 1 หมื่นดอลลาร์ (ราว 3.3 แสนบาท) ซึ่งราคาจะแตกต่างกันไปตามตำแหน่งที่ตั้งและฮวงจุ้ย โดยช่องเก็บอัฐิที่แพงที่สุดนั้นมีราคามากกว่า 1.5 แสนดอลลาร์ (ราว 4.9 ล้านบาท)

ความตายรบกวนคนเป็น

ในช่วงสิ้นปี 2016 กิจการช่องเก็บอัฐิเอกชนในฮ่องกงมีจำนวนประมาณ 133 แห่ง โดยสามารถให้บริการช่องเก็บอัฐิได้ทั้งหมด 3.65 แสนช่อง

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจช่องเก็บอัฐิส่วนใหญ่มักตั้งอยู่ในพื้นที่อยู่อาศัย ส่งผลให้ผู้อาศัยบริเวณใกล้เคียงเกิดความรู้สึกไม่พอใจ

“กิจการเกี่ยวกับศพและบริการหลังความตายถือเป็นสิ่งต้องห้ามในวัฒนธรรมจีนแบบดั้งเดิม ผู้คนจำนวนมากรู้สึกอึดอัดกับการอาศัยอยู่ใกล้กับสุสานเก็บอัฐิ” ยัม ก๊วก ตุง โฆษกองค์กรพันธมิตรเพื่อปัญหานโยบายช่องเก็บอัฐิ กล่าว

ยัม กล่าวเพิ่มเติมว่า สภาพการจราจรที่คับคั่งหนาแน่นในช่วงเทศกาลเช็งเม้งและชงโหย่ง ซึ่งครอบครัวจะมารวมตัวกันเพื่อกราบไหว้บรรพบุรุษและทำความสะอาดหลุมฝังศพ ได้สร้างความยากลำบากอย่างยิ่งให้แก่ผู้อยู่อาศัยโดยรอบ

จากปัญหาที่เกิดขึ้นรัฐบาลฮ่องกงจึงได้กำหนดโครงการขอรับใบอนุญาตสำหรับกิจการช่องเก็บอัฐิเอกชนเพื่อจัดระเบียบใหม่ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อเดือน มิ.ย.ปีที่แล้ว โดยผู้ดำเนินกิจการช่องเก็บอัฐิเอกชนจะมีเวลาทั้งหมด 9 เดือน ในการขอใบอนุญาตเพื่อเข้าใช้ที่ดิน ดำเนินการ และจัดการกับเถ้าอัฐิ โดยค่าใช้จ่ายเหล่านี้คาดว่าจะมีการเรียกเก็บเพิ่มเติมจากลูกค้า ซึ่งจะทำให้ราคาของช่องเก็บอัฐิสูงขึ้นตามไปด้วยในอนาคต

ภายหลังการกำหนดกฎหมายดังกล่าว มีกิจการช่องเก็บอัฐิเอกชนทั้งหมด 144 แห่ง ยื่นขอใบรับอนุญาตก่อนครบกำหนดหมดเขตในเดือน มี.ค. 2018 แต่คาดว่าใบคำขออนุญาตบางส่วนอาจถูกปฏิเสธ เนื่องจากปัจจุบันกิจการช่องเก็บอัฐิเอกชนได้เข้าไปตั้งอยู่ในชั้นล่างของอาคารที่อยู่อาศัยซึ่งมีคนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ซึ่งช่องเก็บอัฐิที่อยู่ในบริเวณเหล่านี้อาจถือว่าไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของใบอนุญาต

ทั้งนี้ สถิติของรัฐบาลแสดงให้เห็นว่าช่องเก็บอัฐิส่วนใหญ่มักตั้งอยู่ในย่านฮุงฮอม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น และหากผู้ดำเนินกิจการยังคงไม่ได้รับใบอนุญาต โกศจำนวนกว่านับพันจะต้องถูกย้าย และญาติจำเป็นต้องหาสถานที่ใหม่สำหรับจัดเก็บ

"ฮ่องกง"สุดบีบคั้น แค่ตายก็ยังราคาแพง

เร่งยกเครื่องการจัดสรร

สถิติของสำนักงานอาหารและสุขภาพฮ่องกง พบว่าในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้านี้ความต้องการช่องเก็บอัฐิจะพุ่งทะยานขึ้น สวนทางกับพื้นที่เก็บอัฐิที่ลดลงไปทุกที โดยคาดว่าจะมีพิธีการเผาศพประมาณ 1.1 ล้านพิธีในอีก 20 ปีข้างหน้า ขณะที่รัฐบาลจะสามารถจัดสรรพื้นที่ช่องเก็บอัฐิให้ได้เพียง 8-9 แสนช่องเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การจัดหาพื้นที่ของรัฐบาลจะต้องขึ้นอยู่กับว่าประชาชนจะเห็นด้วยกับการสร้างช่องเก็บอัฐิสาธารณะในพื้นที่นั้นๆ หรือไม่ หมายความว่าแม้รัฐบาลได้ดำเนินการสร้างช่องเก็บอัฐิสาธารณะให้มากขึ้น แต่พื้นที่เก็บอัฐิสาธารณะอาจจะไม่เพิ่มขึ้นทันจนรองรับดีมานด์ภายในประเทศ

ดังนั้น รัฐบาลจึงได้นำเสนอให้มีการจัดสรรช่องเก็บอัฐิสาธารณะขึ้นใหม่ ด้วยการตกลงให้ญาติของผู้ล่วงลับจะต้องดำเนินการต่ออายุช่องเก็บอัฐิโดยเสียค่าธรรมเนียมทุก 10 ปี และหากช่องเก็บอัฐิช่องใดไม่ได้รับการต่ออายุ เถ้าอัฐิในช่องนั้นก็จะถูกย้ายและนำมาจัดสรรให้แก่ผู้ล่วงลับคนใหม่แทน

ทว่านโยบายการจัดสรรใหม่ก็ยังคงได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจไม่ได้ผลยั่งยืนในระยะยาว เนื่องจากจะได้ผลแค่ในระยะเวลาจำกัดเพียง 20 ปีเท่านั้น ดังนั้นปัญหาการขาดแคลนช่องเก็บอัฐิจะยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัญหานี้ได้ทำให้ชาวฮ่องกงบางคนถึงกับรู้สึกสิ้นหวัง เพราะหมายความว่าพวกเขาอาจไม่มีสถานที่พักผ่อนอย่างแท้จริงตามประเพณีของชาวจีน หลังวาระสุดท้ายแห่งชีวิตสิ้นสุดลง

พิธีศพทางเลือก

รัฐบาลตระหนักดีว่าการหาพื้นที่เพื่อสร้างช่องเก็บอัฐิสาธารณะใหม่นั้นอาจไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืนนัก เนื่องจากฮ่องกงกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

ดังนั้นรัฐบาลจึงได้เริ่มสนับสนุนพิธีศพในรูปแบบอื่นแทน เช่น การจัดสรรสวนแห่งความทรงจำ 11 แห่ง ไว้เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าโปรยเถ้าอัฐิของคนที่รักได้ การสนับสนุนให้ประชาชนใช้วิธีโปรยเถ้าอัฐิลงในทะเลแทน ซึ่งปัจจุบันได้กำหนดจุดไว้ให้ 3 จุด

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจาก “พิธีศพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” แล้วนั้น ยัมได้เสนอแนะเพิ่มเติมว่า รัฐบาลควรสนับสนุนการทำ “ลูกปัดอัญมณี” หรือการเปลี่ยนเถ้าอัฐิของผู้ล่วงลับให้กลายเป็นลูกปัดและนำไปเก็บไว้ในภาชนะที่ทำจากแก้ว เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการจัดเก็บเถ้าอัฐิ อีกทั้งเพื่อให้คนรุ่นหลังยังสามารถไว้ทุกข์และระลึกถึงบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วได้ด้วยเช่นกัน 

ภาพ เอเอฟพี