posttoday

"กระตุ้นผู้หญิงมีลูก" ภารกิจราคาแพงของจีน

01 กรกฎาคม 2561

ความพยายามในการกระตุ้นให้ผู้หญิงในประเทศมีลูกมากขึ้น เพื่อรับมือกับสังคมสูงวัยกำลังกลายเป็น "ภารกิจราคาแพง" สำหรับรัฐบาล

ความพยายามในการกระตุ้นให้ผู้หญิงในประเทศมีลูกมากขึ้น เพื่อรับมือกับสังคมสูงวัยกำลังกลายเป็น "ภารกิจราคาแพง" สำหรับรัฐบาล

**********************************

โดย...ชลทิพย์ สุริสาร / นรินรัตน์ พรหมพิทักษ์

ความพยายามของรัฐบาลประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ของจีน ในการกระตุ้นให้ผู้หญิงในประเทศมีลูกมากขึ้น เพื่อรับมือกับสังคมสูงวัยที่กำลังคืบคลานเข้ามาใกล้จีนมากขึ้นทุกที กำลังกลายเป็น “ภารกิจราคาแพง” สำหรับรัฐบาล

ในปี 2016 กองทุนประกันสังคมเผชิญภาวะขาดดุลเป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปี โดยมีรายจ่ายสูงถึง 5.31 หมื่นล้านหยวน (ราว 2.64 แสนล้านบาท) มากกว่าที่เอกชนจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนที่ 900 ล้านหยวน (ราว 4,489 ล้านบาท)

ปัญหาทางการเงินดังกล่าวมาจากรายจ่ายค่าชดเชยให้ผู้หญิงลาคลอดปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่จีนยกเลิกนโยบาย “ลูกคนเดียว” ที่ใช้มานาน 4 ทศวรรษ เมื่อปี 2016 รัฐบาลท้องถิ่นเกือบทุกมณฑลต่างขยายเวลาลาคลอด เพื่อให้ผู้หญิงมีลูกมากขึ้น หมายความว่า ค่าชดเชยดังกล่าวก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้ รัฐบาลจีนกำหนดให้ผู้หญิงสามารถลาคลอดได้ 98 วัน ในปี 2012 อย่างไรก็ดี หนังสือพิมพ์ไชน่า เดลี่ รายงานว่า ระยะเวลาการลาโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 138-158 วัน เมื่อปี 2017 ขึ้นอยู่กับสถานที่อยู่ของแม่เด็ก โดยรัฐบาลท้องถิ่นจะรับผิดชอบดูแลการจ่ายค่าชดเชยให้กับมารดาที่ลาคลอด

แม้ว่าสถานการณ์กองทุนประกันสังคมของจีนยังไม่เข้าขั้นวิกฤตเร่งด่วน เนื่องจากกองทุนยังได้อานิสงส์จากการเกินดุลช่วงก่อนยกเลิกนโยบายลูกคนเดียว ขณะที่อัตราการเกิดเมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ 17.2 ล้านคน ลดลง 3.5% จากปี 2016 แต่ช่วงก่อนหน้านี้ มณฑลและเมืองหลายแห่ง รวมถึงกรุงปักกิ่ง ต่างจ่ายค่าลาคลอดเกินรายได้ของกองทุนไปแล้ว อีกทั้งเตรียมจะขยายสิทธิประโยชน์ให้ครอบครัวผู้มีบุตรและเพิ่มวันลาคลอดอีก ซึ่งนั่นจะยิ่งกดดันวงเงินของกองทุนประกันสังคมมากยิ่งขึ้น

เร่งแก้การเงินตึงตัว

ในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรมนุษย์จีน ประกาศออกมาตรการกำหนดให้มณฑลต่างๆ ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้มีบุตรแบบเต็มเวลาและตรงเวลา โดยกำหนดให้ต้องตั้งกลไกเฝ้าระวังความเสี่ยงสำหรับกองทุนประกันสังคมเพื่อผู้หญิงมีบุตร และต้องมีวงเงินเพียงพอต่อการจ่ายเงินตลอด 6-9 เดือน

มาตรการดังกล่าวเกิดขึ้นหลังรัฐบาลออกแนวทางเมื่อเดือน ส.ค. แจกแจงขั้นตอนที่รัฐบาลท้องถิ่นควรทำเมื่อกองทุนเข้าสู่ภาวะขาดดุล นอกจากนี้ รัฐบาลกลางยังเปิดหน่วยงานใหม่เมื่อเดือน พ.ค. เพื่อดูแลเรื่องประกันสังคมสำหรับหญิงมีบุตรโดยเฉพาะ เพื่อลดค่าใช้จ่ายกองทุนและปรับให้เงินชดเชยครอบคลุมมากขึ้น

“นี่เป็นข่าวดีสำหรับลูกจ้างผู้หญิง โดยการรวมเงินจากแหล่งเงินกองทุนประกันสังคมของภาคส่วนต่างๆ มาไว้ด้วยกัน จะช่วยการันตีว่าพนักงานหญิงจะได้รับเงินชดเชยจากประกันสังคมเมื่อมีบุตร” ปัน จินถ่าง ศาสตราจารย์ด้านทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยเหริน
หมิน ในกรุงปักกิ่ง กล่าว

ทั้งนี้ มาตรการหลายอย่างดังกล่าวยังเกิดขึ้นหลังรัฐบาลตั้งโครงการนำร่องขึ้นมาในหลายสิบเมืองเมื่อปีที่แล้ว เพื่อขยายการเข้าถึงสิทธิเรียกขอเงินประกันกรณีคลอดบุตร โดยนำสิทธิประกันส่วนดังกล่าวเข้าไปรวมกับแผนการประกันด้านสุขภาพทั่วไปเพื่อลดค่าใช้จ่ายลง

"กระตุ้นผู้หญิงมีลูก" ภารกิจราคาแพงของจีน

หวั่นกีดกันหญิงตั้งครรภ์

อย่างไรก็ดี ระบบประกันสังคมไม่ได้ครอบคลุมค่าชดเชยในการลาคลอดทั้งหมด โดย หลิวเสี่ยวฉวน ทนายความจากบริษัทกฎหมาย เป่ยจิง เฉียนเฉียน ที่รับผิดชอบคดีเกี่ยวกับนโยบายลาคลอดโดยเฉพาะ เปิดเผยว่า ยิ่งรัฐบาลท้องถิ่นให้สิทธิประโยชน์กับหญิงตั้งครรภ์มากเท่าใด นายจ้างยิ่งมีแนวโน้มเลือกปฏิบัติกับผู้หญิงมากขึ้น เพราะคิดว่าผู้หญิงเหล่านั้นมีโอกาสตั้งครรภ์ในอนาคต และจะทำให้บริษัทต้องแบกรับค่าชดเชยช่วงลาคลอดเพิ่มขึ้น

“ทางแก้ในท้ายที่สุด คือ รัฐบาลและบริษัทควรร่วมรับภาระดังกล่าวร่วมกัน” หลิว กล่าว

ด้าน จอฟฟรีย์ ครอทฮอล ผู้อำนวยการ ไชน่า เลเบอร์ บูเลอติน กลุ่มส่งเสริมสิทธิสตรี เปิดเผยว่า การต่อต้านผู้หญิงตั้งครรภ์ในที่ทำงานนั้นยังคงมีอยู่ โดยบางบริษัทเรียกร้องให้ผู้หญิงเซ็นสัญญาที่ระบุเงื่อนไขว่า “ห้ามผู้หญิงในบริษัทตั้งครรภ์” ขณะที่บางแห่งกำหนดให้หญิงตั้งครรภ์ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับจำนวนมาก เพื่อบีบให้ผู้หญิงลาออกเมื่อตั้งครรภ์

แม้ว่าจีนจะมีกฎหมายปกป้องผู้หญิงจากการถูกไล่ออกจากงาน เนื่องจากการตั้งครรภ์หรือการลาคลอด แต่ โจนาธาน ไอแซกส์ หัวหน้าฝ่ายรับผิดชอบแนวทางการจ้างงานในจีนประจำบริษัท เบเกอร์ แมคเคนซี่ สาขาฮ่องกง เปิดเผยว่า ศาลจีนส่วนใหญ่ไม่ได้ตัดสินใช้มาตรการลงโทษนายจ้างจากกรณีดังกล่าว ขณะที่ในบางคดีนั้นเงินค่าชดเชยจากการโดนบีบออกยังมีจำนวนน้อยมาก ทำให้บริษัทส่วนใหญ่แทบไม่ใส่ใจมากนัก