posttoday

คลื่นบันเทิงเกาหลีซัดแรง ทะยานบุกโลกระลอก 3

17 มิถุนายน 2561

คลื่นบันเทิงและวัฒนธรรมจากเกาหลีใต้ กำลังจะซัดไปยังต่างแดนเป็นระลอก3 ด้วยพลังของผู้ให้บริการสตรีมมิ่งที่เข้ามาทดแทนบริษัทเผยแพร่สื่อบันเทิงแบบดั้งเดิม

คลื่นบันเทิงและวัฒนธรรมจากเกาหลีใต้ กำลังจะซัดไปยังต่างแดนเป็นระลอก3 ด้วยพลังของผู้ให้บริการสตรีมมิ่งที่เข้ามาทดแทนบริษัทเผยแพร่สื่อบันเทิงแบบดั้งเดิม

*************************

โดย...สุภีม ทองศรี

กระแสบันเทิงและวัฒนธรรมจากเกาหลีใต้ทะลักเข้าไทยมานานกว่า 10 ปีแล้ว และยังแพร่กระจายไปอีกหลายที่ทั่วโลก เช่น ภาพยนตร์เรื่อง “วินเทอร์ โซนาต้า” ที่ตราตรึงใจผู้ชมทั่วทั้งเอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่น ช่วงต้นทศวรรษ 2000 ทำให้บรรดาสื่อญี่ปุ่นยกให้หนังดังเรื่องนี้เป็นจุดเริ่มต้น “คลื่นบันเทิงเกาหลีรอบแรก” ที่ซัดไปต่างแดน

ช่วงต้นทศวรรษ 2010 “คลื่นรอบที่สอง” จากเกาหลีใต้ก็ได้เกิดขึ้น โดยคราวนี้ชื่อเสียงและความนิยมของวงเกิลส์ เจเนอเรชั่น (Girls’ Generation) และไซ (Psy) เจ้าของเพลงกังนัมสไตล์ ดังระเบิดไปถึงอเมริกาใต้ และอเมริกาเหนือด้วย ทำให้ราคาหุ้นของ เอสเอ็ม เอนเตอร์เทนเมนต์ บริษัทที่ดูแลวงเกิลส์ เจเนอเรชั่น พุ่งขึ้นไปราว 100 เท่า ภายในเวลาเพียง 4 ปีในตลาดหุ้นเกาหลีใต้

ขณะที่ “คลื่นรอบที่สาม” ได้เริ่มก่อตัวขึ้นช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้ว และผู้เชี่ยวชาญคาดว่าคลื่นรอบนี้จะมีอานุภาพรุนแรงกว่าคลื่นสองรอบที่ผ่านมาด้วย เนื่องจากผู้ให้บริการสตรีมมิ่ง เช่น เน็ตฟลิกซ์ ยูทูบ และสปอติฟาย กำลังเข้ามาทดแทนบริษัทเผยแพร่สื่อบันเทิงแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นโอกาสเปิดตลาดบันเทิงเกาหลีรอบใหม่

ความสำเร็จของ “บีทีเอส (BTS)” บอยแบนด์แดนกิมจิชื่อดัง นับเป็นการติดปีกให้อุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้สามารถบินขึ้นทะยานไปสู่ระดับโลก โดยบีทีเอสได้สร้างปรากฏการณ์ให้กับวงการ “เค-ป๊อป” ด้วยการขึ้นสู่อันดับ 1 ของชาร์ตบิลบอร์ด 100 ของสหรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่ศิลปินเกาหลีขึ้นสู่อับดับหนึ่ง จากอัลบั้ม “เลิฟยัวร์เซลฟ์” และยังเป็นครั้งแรกที่อันดับ 1 ของชาร์ตนี้ไม่ได้ตกเป็นของวงที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก นับตั้งแต่เริ่มจัดอันดับในเดือน ก.ค. 2014

คลื่นบันเทิงเกาหลีซัดแรง ทะยานบุกโลกระลอก 3

ทั้งนี้ ยูทูบซึ่งกำลังแข่งสตรีมมิ่งกับเน็ตฟลิกซ์ กำลังได้อานิสงส์จากความนิยมของบีทีเอส บอยแบนด์ที่ดังสุดขีดในเวลานี้ ช่วยเพิ่มยอดสมาชิกของยูทูบเรด บริการแบบเสียค่าสมาชิก โดยสารคดี “บีทีเอส : เบิร์น เดอะสเตจ” สามารถทำยอดผู้ชมเป็นสถิติที่ 12 ล้านครั้ง แม้เพิ่งเริ่มออกอากาศในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

ขณะที่กระแสของซีรี่ส์เกาหลีก็มาแรงไม่แพ้กัน โดยปัจจุบันซีรี่ส์เกาหลีเรื่อง “สื่อในสายฝน” หรือ “ซัมติง อิน เดอะ เรน” กำลังได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม โดยเรื่องนี้ออกอากาศทางโทรทัศน์ทุกคืนวันศุกร์และวันเสาร์ ในเกาหลีใต้ ทั้งยังมีให้รับชมทั่วโลกผ่านทางเน็ตฟลิกซ์อีกด้วย

ทั้งนี้ กู๊ดดาต้าคอร์ปอเรชั่น รายงานว่า ซัมติง อิน เดอะ เรน กลายเป็นซีรี่ส์เกาหลีได้รับความนิยมสูงสุดในครึ่งแรกของปีนี้ไปแล้ว

“ขนาดของอุตสาหกรรมซีรี่ส์เกาหลีเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2000” มาจุง-ฮุน โปรดิวเซอร์ของซีรี่ส์เรื่องดังกล่าว เปิดเผยกับบีบีซี

นอกจากนี้ ข้อมูลจากบีบีซีระบุว่า ขณะนี้ยอดการส่งออกซีรี่ส์เกาหลีมีมูลค่าถึง 239 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7,748 ล้านบาท)

“ครึ่งหนึ่งของรายได้ของเรามาจากการขายลิขสิทธิ์ไปต่างแดน โดย 70% มาจากเอเชีย และอีกประมาณ 30% มาจากสหรัฐ” มาจุง-ฮุน กล่าวพร้อมกับเปิดเผยว่า สัดส่วนกำไรจากสหรัฐจะเพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากบรรดาบริษัทโปรดักชั่นอเมริกันได้เข้ามากว้านซื้อลิขสิทธิ์สร้างซีรี่ส์เกาหลีที่ประสบความสำเร็จอีกครั้ง และยังคาดว่าอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีอาจมีความร่วมมือกับบริษัทต่างชาติมากขึ้น

ตีตลาดทวีปอเมริกา

ขณะที่ คริสติน ออร์ติซ ผู้จัดการอาวุโสของวิกิ บริการสตรีมมิ่ง ซึ่งมีฐานอยู่ที่เมืองซานฟรานซิสโก เปิดเผยว่า ความนิยมซีรี่ส์เกาหลีในสหรัฐและละตินอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะหลัง

ออร์ติซ เปิดเผยว่า หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ซีรี่ส์เกาหลีได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น คือเนื้อหาไม่ยืดยาวมาก โดยซีรี่ส์หลายเรื่องมีความยาวประมาณ 16 ตอน สั้นกว่าทั่วไปที่มี 20 ตอน

นอกจากนี้ ออร์ติซ ระบุว่า เหตุผลที่ทำให้ซีรี่ส์เกาหลีดังยังเป็นเพราะการเล่าเรื่องที่อิงตามความจริงมากกว่า เพราะไม่ได้เน้นการนำเสนอเนื้อหาความรุนแรง หรือมุ่งนำเสนอเนื้อหาทางเพศมากเกินไป ทำให้ผู้ชม โดยเฉพาะประเทศละตินอเมริกา มองว่าเนื้อหาของเกาหลีน่าสนใจกว่าอเมริกัน

สตูดิโอดังหลายรายกำลังเข้ามาจับตลาดซีรี่ส์เกาหลีที่กำลังเฟื่องฟู เช่น วอร์เนอร์ บราเธอร์ส ค่ายบันเทิงยักษ์ใหญ่สัญชาติสหรัฐ ได้เข้ามาซื้อดราม่าฟีเวอร์ บริการสตรีมมิ่งซีรี่ส์และภาพยนตร์เกาหลี ในปี 2016 แต่ไม่ได้เปิดเผยมูลค่าของข้อตกลง

“ซีรี่ส์เกาหลีมีคุณค่าด้านความบันเทิงสูง” เฮ-กยึงลี ผู้บรรยายอาวุโสด้านอุตสาหกรรมวัฒนธรรม และการสร้างสรรค์ ของคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน ในสหราชอาณาจักร กล่าวพร้อมระบุว่า ซีรี่ส์เกาหลีมีความน่าสนใจหลายข้อ ทั้งเรื่องราว ตัวละคร เพลงประกอบ มุมกล้องที่ยอดเยี่ยม และนักแสดงที่มีบุคลิกภาพดีมาก และบอกด้วยว่า นับตั้งแต่บันเทิงเกาหลีรุ่งเรืองสุดขีดในทศวรรษ 2000 ในจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และประเทศแถบตะวันออกกลาง ซีรี่ส์เกาหลีก็แพร่หลายมากขึ้นในระดับโลก

นอกจากนี้ เฮ-กยึงลี ระบุว่า ความนิยมของซีรี่ส์เกาหลียังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นเพราะได้รับแรงขับเคลื่อนจากกลุ่มแฟนคลับ ซึ่งสามารถสร้างรูปแบบธุรกิจแบบใหม่ขึ้นมาได้

“ในสหรัฐและหลายประเทศในยุโรป ผู้ชมอาจชื่นชอบซีรี่ส์เกาหลี เพราะแตกต่างจากเนื้อหาในท้องถิ่น หรือเนื้อหาที่มาจากอเมริกัน” เฮ-กยึงลี กล่าวพร้อมระบุว่า การเน้นนำเสนอด้านความรัก ครอบครัว หรือมิตรภาพของซีรี่ส์เกาหลี อาจสร้างแรงดึงดูดในระดับโลกได้

คลื่นบันเทิงเกาหลีซัดแรง ทะยานบุกโลกระลอก 3

กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ

ด้านมูลนิธิเกาหลีเพื่อการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศของเกาหลี ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลที่ช่วยสำรวจและสนับสนุนคลื่นบันเทิงเกาหลี คาดการณ์ว่า คลื่นบันเทิงเกาหลีช่วยสร้างรายได้ 18 ล้านล้านวอน (ราว 5.31 แสนล้านบาท) เข้าสู่เศรษฐกิจประเทศ ในปี 2017 และคาดว่ารายได้จากบันเทิงยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ราคาซื้อขายหุ้นของสตูดิโอ ดราก้อน บริษัทโปรดักชั่นในเกาหลีใต้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 70% ในปีนี้ โดยสตูดิโอ ดราก้อน ผลิตคอนเทนต์หลากหลายป้อนเข้าสู่เน็ตฟลิกซ์ และออนแอร์ทั่วโลก ในช่วงที่เน็ตฟลิกซ์วางแผนว่าจะลงทุนกับการซื้อคอนเทนต์ในปีนี้มากกว่า 8,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 2.59 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้น 33% จากปีที่แล้ว