posttoday

ถอดโมเดล‘อิสราเอล’ ดึงนวัตกรรมเสริมแกร่งเกษตร

16 มิถุนายน 2561

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

“อิสราเอล” นับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีข้อจำกัดด้านทรัพยากรธรรมชาติ จากการที่มีสภาพอากาศแบบทะเลทรายและกึ่งทะเลทราย ซึ่งส่งผลให้ช่วงเวลาที่ฝนตก
อยู่ที่เพียง 4 เดือน/ปีเท่านั้น นำไปสู่ปัญหาแหล่งน้ำไม่เพียงพอ ทั้งน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคและน้ำสำหรับการเกษตร

จากปัญหาดังกล่าวส่งผลให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องน้ำ ทั้งการแปลงน้ำทะเลเป็นน้ำจืด หรือการบำบัดน้ำเสียจากครัวเรือน และสิ่งที่โดดเด่นที่สุดคือ “การชลประทานแบบน้ำหยด” ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีการเกษตรเพื่อใช้น้ำให้น้อยที่สุด และเพิ่มผลผลิตให้ได้มากที่สุด

 

ถอดโมเดล‘อิสราเอล’ ดึงนวัตกรรมเสริมแกร่งเกษตร

 

ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีเกษตรของอิสราเอล ทำให้กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ มองเห็นโอกาสในการนำความรู้ด้านนี้มาปรับใช้เพื่อยกระดับภาคเกษตรกรรมของไทย และเป็นตัวอย่างการแก้ปัญหาการจัดการน้ำในการเพาะปลูก โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ที่มีสภาพอากาศแห้งแล้งคล้ายคลึงกับในอิสราเอล

ทั้งนี้ ชลประทานแบบน้ำหยดเป็นการวางระบบท่อส่งน้ำเพื่อให้น้ำและปุ๋ยไปเลี้ยงรากพืชแต่ละต้นได้โดยตรง ซึ่งสามารถช่วยประหยัดน้ำได้ถึง 80% ไม่เพียงแค่ลดการใช้น้ำลงได้อย่างมากเท่านั้น ระบบดังกล่าวยังทำให้พืชได้รับสารอาหารจากปุ๋ยและน้ำในปริมาณพอเหมาะเพียงพอ ส่งผลปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นมาราว 30-50%

 

ถอดโมเดล‘อิสราเอล’ ดึงนวัตกรรมเสริมแกร่งเกษตร

 

สำหรับประสิทธิภาพเบื้องหลังชลประทานแบบน้ำหยดนั้น มาจากการวางเครือข่ายการให้น้ำอย่างเป็นระบบ ซึ่งเห็นได้จาก “เนตาฟิม” บริษัทผู้นำระบบน้ำหยดรายใหญ่ที่สุดของอิสราเอล ที่พัฒนา NetBeat ระบบคอมพิวเตอร์อัจฉริยะสำหรับเก็บข้อมูล วิเคราะห์ และควบคุมการให้น้ำและปุ๋ยแบบอัตโนมัติ โดยระบบดังกล่าวจะรวบรวมข้อมูลการเพาะปลูกจากเซ็นเซอร์ที่ติดไว้ตามแปลงเกษตร จากนั้นนำไปเก็บไว้ในระบบคลาวด์ เมื่อเกษตรกรเปิดแอพพลิเคชั่นเฉพาะที่เชื่อมต่อกับเครือข่าย จะสามารถตรวจสอบแปลงเพาะปลูกได้แบบเรียลไทม์ และยังตั้งโปรแกรมกำหนดเวลาให้น้ำหรือปุ๋ยผ่านทาง
สมาร์ทโฟนได้อีกด้วย

 

ถอดโมเดล‘อิสราเอล’ ดึงนวัตกรรมเสริมแกร่งเกษตร

 

นอกจากเนตาฟิมแล้ว “เมตเซอร์” บริษัทพัฒนาระบบน้ำหยดรายใหญ่อีกแห่งในอิสราเอล ก็มีการพัฒนาระบบแบบอัตโนมัติดังกล่าวเช่นกัน โดยเมตเซอร์
ค่อนข้างให้ความสำคัญกับระบบควบคุมน้ำเป็นหลัก โดยต้องมีการกรองน้ำเพื่อทำความสะอาดและขจัดสิ่งสกปรกต่างๆ เสียก่อน จากนั้นค่อยส่งน้ำไปปรับอุณหภูมิและความดัน แล้วส่งต่อไปยังท่อส่งน้ำต่อไป

 

 

ถอดโมเดล‘อิสราเอล’ ดึงนวัตกรรมเสริมแกร่งเกษตร

 

พลังวิจัยเสริมศักยภาพ

นอกจากระบบชลประทานแบบน้ำหยดแล้ว อิสราเอลยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรอื่นๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านเกษตรกรรมด้วยเช่นกัน โดยองค์กรวิจัยทางการเกษตร (Agricultural Research Organization : ARO) เป็นองค์กรวิจัยภาครัฐสังกัดกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทอิสราเอล ได้รับการก่อตั้งขึ้นเพื่อค้นคว้าและพัฒนานวัตกรรมเกษตรโดยเฉพาะ

ทั้งนี้ ARO ประกอบด้วยหน่วยงานย่อยๆ เพื่อดำเนินการวิจัยเฉพาะด้าน ได้แก่ 1.หน่วยวิจัยด้านพืชที่เน้นพัฒนาสายพันธุ์ผักและผลไม้เพื่อให้สามารถเพื่อปลูกได้นอกฤดูกาลและในสภาพอากาศที่แตกต่างกัน อีกทั้งยังพัฒนาการทำเชื้อเพลิงชีวภาพด้วย 2.หน่วยวิจัยดิน น้ำ และสภาพแวดล้อม ที่พัฒนาแนวทางทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืน และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด 3.หน่วยวิจัยพัฒนาพันธุกรรมสัตว์ เพื่อเพิ่มผลผลิตจากฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์ต่างๆ เช่น ฟาร์มปลา ไก่ วัว และแกะ 4.หน่วยวิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ที่มุ่งยืดอายุผลผลิตทั้งสำหรับการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ และสำหรับกระบวนการนำไปแปรรูป รวมถึงเพิ่มคุณภาพผลผลิตและลดปริมาณสารตกค้าง 5.วิศวกรรมเกษตร ซึ่งเน้นพัฒนาเครื่องจักรและเครื่องมือต่างๆ เพื่อทุ่นแรงในการทำเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ตรวจโรคพืช ควบคุมได้ผ่านสมาร์ทโฟนแบบเรียลไทม์ ระบบช่วยดูแลปลาเพาะเลี้ยง หรือเครื่องดูดแมลงเพื่อกำจัดศัตรูพืช

นอกจากดูแลด้านการวิจัยแล้ว ภายใน ARO ยังมีพื้นที่นำนวัตกรรมที่ได้รับการพัฒนาแล้วมาใช้จริง รวมถึงยังเป็นตัวกลางสนับสนุนการแลกเปลี่ยนนักวิจัยและเกษตรกรกับนานาประเทศด้วยเช่นกัน

 

 

ถอดโมเดล‘อิสราเอล’ ดึงนวัตกรรมเสริมแกร่งเกษตร

AgriTech พื้นที่โชว์นวัตกรรม

ในการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลอิสราเอลจึงได้จัดงาน “AgriTech” หรืองานแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรขึ้นมาทุกๆ 3 ปี เพื่อเป็นเวทีให้เอกชนได้ออกมาแสดงความก้าวหน้าและ
วิสัยทัศน์ในการยกระดับภาคเกษตรกรรมในอนาคต ซึ่งไม่เพียงมีแค่เอกชนรายใหญ่มาออกบูธเท่านั้น ภายในงานยังมีโซนสตาร์ทอัพที่นำเสนอเทคโนโลยีเกษตรน่าสนใจหลายแห่ง

 

ถอดโมเดล‘อิสราเอล’ ดึงนวัตกรรมเสริมแกร่งเกษตร

 

AgriTech นับเป็นงานระดับนานาชาติเนื่องจากเปิดกว้างให้เอกชนจากทั่วทุกมุมโลกเข้ามาร่วมจัดนิทรรศการ ทั้งจากสหรัฐ ออสเตรเลีย จีน หรืออินเดีย โดยในปีนี้กระทรวงการต่างประเทศได้ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติของไทย และผู้ประกอบการไทยจำนวนหนึ่งไปออกบูธแสดงนวัตกรรมเกษตรด้วยเช่นกัน เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในด้านดังกล่าวกับประเทศต่างๆ โดยงาน AgriTech ยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายกิจการสู่ต่างแดน และเพิ่มโอกาสด้านธุรกิจจากการทำ Business Matching กับเอกชนหลายแห่งจากต่างชาติ