posttoday

"เกาเข่า" สนามสอบโหด ชี้ชะตาอนาคตเด็กจีน

10 มิถุนายน 2561

"เกาเข่า" หรือ การสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยประจำปีของจีน ขึ้นชื่อว่าเป็นการสอบสุดโหดที่สุดในโลก

"เกาเข่า" หรือ การสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยประจำปีของจีน ขึ้นชื่อว่าเป็นการสอบสุดโหดที่สุดในโลก

********************************

โดย...สุภีม ทองศรี

บรรดาเด็กนักเรียนในจีนต้องฟาดฟันกันอย่างหนักในระบบการศึกษาที่มีการแข่งขันสูงมาก ด้วยความหวังว่าการได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศจะเป็นบันไดทางสังคมสู่ชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยเหตุนี้ “เกาเข่า” หรือ การสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยประจำปี จึงขึ้นชื่อว่าเป็นการสอบสุดโหดที่สุดในโลก ซึ่งชี้ชะตาอนาคตในภายภาคหน้าของเด็กจีน

สำหรับในปีนี้ โกลบอลไทมส์ สื่อของทางการจีน เปิดเผยว่า จำนวนนักเรียนที่สมัครสอบเกาเข่าในปีนี้มีมากกว่า 9.75 ล้านคน ถือว่าเป็นจำนวนที่เทียบเท่าประชากรของประเทศขนาดกลางในยุโรปเลยทีเดียว

“นักเรียนเข้าเรียนชั้นมัธยมปลายมากขึ้นในหลายปีหลังสุด ทำให้จำนวนผู้เข้าสอบเกาเข่าเพิ่มขึ้น ขณะที่การศึกษาระดับประถมของจีนก็พัฒนาอย่างรวดเร็วด้วย” เซียงปิงฉี รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการศึกษาศตวรรษที่ 21 ของจีน กล่าว

อีกปัจจัยที่ทำให้เกาเข่ามีจำนวนผู้เข้าสอบมากขึ้น คือ “เด็กซิ่ว” หรือนักศึกษาที่มาเข้าสอบอีกครั้ง เพื่อโอกาสเข้าสู่มหาวิทยาลัยที่ดีกว่าเดิม

เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ รายงานว่า นักศึกษาอายุ 20 ปีคนหนึ่งสมัครสอบเกาเข่าเป็นครั้งที่ 3 แล้ว เพราะหวังว่าจะได้เรียนในมหาวิทยาลัยชื่อดังของประเทศ โดยครั้งแรกนั้น เขาไม่ผ่านการสอบในปี 2016 และต้องเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยเอกชนก่อน ส่วนในการสอบครั้งที่ 2 นั้น เขาสามารถทำคะแนนได้ดีขึ้นจนได้ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยนอร์ธอีสเทิร์น ในมณฑลเหลียวหนิง ทว่า หลังเรียนไปได้เพียง 3 วัน เขาก็ลาออกมาสอบครั้งที่ 3 ในปีนี้ เพราะไม่ประทับใจกับมหาวิทยาลัยและเมือง แม้นอร์ธอีสเทิร์นติด 100 อันดับมหาวิทยาลัยของรัฐบาลจีนก็ตาม

ด้านโกลบอลไทมส์ยังรายงานว่า การแข่งขันด้านการศึกษาที่เข้มข้นเป็นส่วนช่วยพัฒนาชาติจีน และยังช่วยให้จีนสามารถก้าวขึ้นมาตีคู่กับสหรัฐ โดยวอลสตรีทเจอร์นัล เปิดเผยว่า นักวิจัยพบว่าเด็กอายุ 6 ขวบของจีน สามารถเอาชนะเด็กสหรัฐในทักษะทางคณิตศาสตร์สาขาต่างๆ รวมถึงเรขาคณิตและตรรกศาสตร์

ทั้งนี้ ตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา นักศึกษาที่ผ่านการเรียนระดับมหาวิทยาลัยของจีน ได้กลายมาเป็นกระดูกสันหลังในทุกสายงานของประเทศ และยังเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนส่งให้จีนพัฒนาได้อย่างก้าวกระโดด นั่นทำให้ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นพื้นฐานสู่ความสำเร็จ และเป็นช่องทางช่วยปั้นกลุ่มคนทำงานที่มีความสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงาน

“เกาเข่าเป็นเพียงทางเลือกเดียวสำหรับนักเรียน โดยเฉพาะคนที่มาจากพื้นที่ชนบทหรือภูเขา” ลองเสี่ยวผิง อดีตข้าราชการในมณฑลหูหนาน กล่าว

แห่เข้าคอร์สกวดวิชา

เกาเข่านั้นไม่เพียงเป็นใบเบิกทางเข้าสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวตัดสินอนาคตหน้าที่การงานด้วย ว่าจะได้ทำงานเป็นพนักงานในบริษัทเอกชน หรือกลุ่มคนใช้แรงงานทั่วไป ทำให้นักเรียนและผู้ปกครองจีนต่างเตรียมตัวสอบมาตั้งแต่อนุบาลเพื่อให้มีความรู้มากกว่าคนอื่นๆ และหนึ่งในวิธีการเตรียมพร้อมที่ว่า คือการไปเรียนโรงเรียนกวดวิชา

เอชเอสบีซี เปิดเผยในรายงานว่าผู้ปกครอง 93% ส่งบุตรหลานไปเรียนพิเศษเพิ่มหลังเลิกเรียน ซึ่งช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมกวดวิชาให้มีมูลค่าตลาดสูงกว่า 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.84 ล้านบ้านบาท) แล้วในขณะนี้

“แม้ว่าพนักงานส่งของหาเงินได้ 8,000-1 หมื่นหยวน (ราว 3.9-4.9หมื่นบาท) ต่อเดือน ขณะที่พนักงานบริษัททั่วไปมีรายได้เพียง 3,000-5,000 หยวน (ราว 1.4-2.4 หมื่นบาท) แต่ผู้ปกครองจีนก็ยังอยากให้ลูกไปเป็นพนักงานบริษัทมากกว่า” ปังซินขาง ผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันกวดวิชาทีเอแอล กล่าวกับซีเอ็นบีซี

ด้าน ชูเจาฮุย นักวิจัยของสถาบันวิทยาศาสตร์การศึกษาแห่งชาติจีน เปิดเผยว่า เอกชนจีนมักจะเลือกนักศึกษาที่จบมาจากมหาวิทยาลัยชั้นหนึ่งก่อนกลุ่มอื่น ท่ามกลางเสียงวิตกจากนักวิชาการบางรายที่มองว่า หลายบริษัทไม่สนใจความสามารถที่แท้จริงของผู้สมัครงาน เพราะมัวแต่เน้นพิจารณาแค่ชื่อสถาบันที่จบมาเท่านั้น

"เกาเข่า" สนามสอบโหด ชี้ชะตาอนาคตเด็กจีน

ยอมเสี่ยงคุกโกงการสอบ

แม้ว่าเซาท์ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ รายงานว่า เศรษฐีจีนหลายคนก็เคยล้มเหลวจากเวทีเกาเข่า เช่น แจ็คหม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา กรุ๊ป ยูมินหง ผู้ก่อตั้งนิวโอเรียนทอล บริษัทด้านการศึกษาซึ่งเข้าตลาดหุ้นนิวยอร์ก ซึ่งทั้งสองคนนี้เคยคว้าน้ำเหลวจากเกาเข่าถึง 3 ครั้ง แต่สำหรับนักเรียนจีนหลายคนแล้ว การสอบเกาเข่านั้นมีความหมายมากจนทำให้บางคนยอมเสี่ยงใช้กลโกงในการสอบ แม้หากถูกจับได้จะต้องติดคุกถึง 7 ปีก็ตาม

รายงานระบุว่า หนึ่งในกลโกงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์จีน คือการใช้ลายนิ้วมือปลอมเข้าสอบแทน ในการสอบที่มณฑลเหอหนาน ปี 2016

รายงานระบุว่า นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย 127 คน ใช้ลายนิ้วมือปลอมเพื่อเข้าสอบเกาเข่าแทนนักเรียนระดับมัธยมปลาย แลกกับค่าจ้าง 5,000 หยวน (ราว 2.5 หมื่นบาท) ไม่รวมอีกหลายหมื่นหยวนในกรณีที่ผลการสอบออกมาดี และยังมีการติดสินบนผู้คุมสอบเพื่อเปิดทางให้ตัวปลอมเข้าสอบด้วย

ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการของจีนได้ลงโทษอาจารย์ 58 คน นักเรียน 21 คน ซึ่งถูกตัดสิทธิสอบระดับประเทศ 3 ปี และเอเย่นต์อีก 3 คน ส่วนนักศึกษา 127 คน ถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัยทั้งหมด

นอกจากนี้ ยางลบอิเล็กทรอนิกส์ก็เคยเป็นอุปกรณ์สำหรับนักโกงสอบด้วย โดยซีซีทีวี เปิดเผยว่า ผู้เข้าสอบ 27 คน เคยใช้อุปกรณ์นี้ในการสอบใบอนุญาตวิชาชีพเภสัช ในมณฑลเจียงซู เมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว

ทั้งนี้ อุปกรณ์นี้ดูผิวเผินเหมือนยางลบธรรมดา แต่ภายในมีเครื่องมือสื่อสารที่สามารถส่งคำถามและคำตอบ ส่วนสาเหตุที่ทำให้เจ้าหน้าที่จับได้คือผู้คุมสอบคนหนึ่งสังเกตว่าผู้เข้าสอบคนหนึ่งจ้องยางลบบ่อยเกินไป นำไปสู่การจับกุม 10 คน และยึดยางลบอีกมากกว่า 100 ก้อน

รัฐบาลปรับตัวรับมือทุจริต

ขณะเดียวกัน ทางการจีนก็พยายามปรับตัวเพื่อรับมือกับการโกงสอบที่พึ่งพาเทคโนโลยีขั้นสูงด้วย โดยปีนี้ เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน เริ่มใช้ระบบสแกนเส้นเลือดนิ้วมือ แทนการใช้สแกนลายนิ้วมือ สำหรับคุมสอบเกาเข่า เพื่อป้องกันการสอบแทนด้วยการใช้ลายนิ้วมือปลอม และป้องกันฝาแฝดสอบแทนกันด้วย

ส่วนมณฑลเหอเป่ย ตำรวจได้ตรวจตราอาคารบ้านเรือน โดยเฉพาะที่พักระยะสั้น ใกล้กับสนามสอบ เป็นการป้องกันการใช้อุปกรณ์ไร้สายสื่อสารระหว่างคนสอบกับคนนอกสนามสอบ

นอกจากนี้ จีนยังได้นำระบบจดจำใบหน้ามาใช้เพื่อป้องกันการทุจริตด้วย นอกเหนือจากการใช้เครื่องตรวจจับโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เช่น หูฟังขนาดเล็กแบบไร้สาย

ภาพ : เอเอฟพี

"เกาเข่า" สนามสอบโหด ชี้ชะตาอนาคตเด็กจีน