posttoday

'อาเซียน'ติดหล่ม แก้ขยะพลาสติกท่วม

09 มิถุนายน 2561

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นภูมิภาคที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญจับตามองมากที่สุด เนื่องจากภูมิภาคนี้ปล่อยขยะลงสู่มหาสมุทรอันดับที่ 4 ของโลก

โดย....ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

แม้ว่าทั่วโลกกำลังตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติก และภาครัฐได้ออกมาตรการแก้ปัญหาเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม แต่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า ความพยายามแก้ปัญหานี้ของหลายประเทศยังไม่ได้ผลที่ดีพอ เนื่องจากไม่มีการติดตามผลและความคืบหน้าหลังการใช้มาตรการต่างๆ

รายงานเกี่ยวกับวันสิ่งแวดล้อมโลกของยูเอ็น ระบุว่า การจำกัดพลาสติกช่วยให้ปริมาณถุงพลาสติกลดลงในหลายประเทศ เช่น โมร็อกโก รวันดา และบางพื้นที่ของจีน แต่อีกหลายที่กลับไม่ได้ผล เช่น กรุงนิวเดลี ของอินเดีย เพราะไม่ได้บังคับใช้อย่างจริงจัง

"มลพิษจากพลาสติกเป็นปัญหาใหญ่ทุกที่" เอริก ซอลไฮม์ ประธานสำนักงานสิ่งแวดล้อมยูเอ็น กล่าว พร้อมกับชมอินเดียว่าใส่ใจกับการอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ตำหนิว่าแหล่งท่องเที่ยวของอินเดียบางแห่งยังมีปัญหาขยะเกลื่อนกลาดกระจัดกระจาย

ทั้งนี้ ยูเอ็นพยายามออกคำแนะนำมากมายเพื่อช่วยให้การลดใช้พลาสติกประสบความสำเร็จ ตั้งแต่การส่งเสริมความร่วมมือจากภาคเอกชน และเสนอแรงจูงใจให้ลดพลาสติก ด้วยความหวังว่าจะลดการใช้ถุงพลาสติกจาก 5 ล้านล้านใบ/ปี

'อาเซียน'ติดหล่ม แก้ขยะพลาสติกท่วม

ด้านรอยเตอร์สรายงานว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นภูมิภาคที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญจับตามองมากที่สุด เนื่องจากภูมิภาคนี้ปล่อยขยะลงสู่มหาสมุทรอันดับที่ 4 ของโลก โดยเฉพาะเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ และกรุงจาการ์ตา ของอินโดนีเซีย ไปจนถึงแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลในฟิลิปปินส์และเวียดนาม

รายงานจากองค์กรอนุรักษ์มหาสมุทร และสถาบันธุรกิจและสิ่งแวดล้อมของแม็คคินซีย์ ระบุว่า 5 ประเทศในเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึง จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย ปล่อยขยะพลาสติกลงสู่ทะเลถึง 60% ของทั่วโลก ในปี 2015 โดย 5 ประเทศดังกล่าวมีความต้องการสินค้าบริโภคสูงมาก แต่ยังขาดแคลนระบบโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการรับมือกับขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้น

"3 ปีที่เกาะบาหลีของอินโดนีเซียตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินด้านขยะ และการปิดเกาะโบราไกย์ของฟิลิปปินส์บ่งบอกว่าภาครัฐรับรู้ถึงผลกระทบของขยะพลาสติก" ซูซาน รุฟโฟ กรรมการผู้จัดการความริเริ่มระหว่างประเทศขององค์กรอนุรักษ์มหาสมุทร กล่าว พร้อมระบุว่า ภาคเอกชนและพลเมืองควรมีส่วนร่วมแก้ปัญหาด้วย

ทั้งนี้ หุ้นส่วนเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมทางทะเลในเอเชียตะวันออก เปิดเผยว่า ขยะพลาสติกกำลังก่อให้เกิดมลภาวะทางทะเล ซึ่งหากปัญหาดังกล่าวลุกลามยิ่งขึ้น ขณะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ สถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรและอุตสาหกรรมทางทะเลมูลค่า 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 48 ล้านล้านบาท) ของ 9 ประเทศอาเซียน รวมถึงอาจเป็นภัยคุกคามการจ้างงานในอุตสาหกรรมทางทะเลกว่า 50 ล้านตำแหน่งในจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซีย

'อาเซียน'ติดหล่ม แก้ขยะพลาสติกท่วม

ภาครัฐเริ่มตื่นตัว

รอยเตอร์สรายงานว่า รัฐบาลหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังพยายามแก้ปัญหาขยะพลาสติก เริ่มจากไทยที่มีแผนลดใช้ถุงพลาสติก และขวดพลาสติกในสำนักงานรัฐบาลและภาคเอกชน พร้อมกับสั่งห้ามใช้พลาสติกในแหล่งท่องเที่ยว และยังมีเป้าหมายรีไซเคิลพลาสติกให้ได้ 60% ภายในปี 2021

ส่วนอินโดนีเซียได้ลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 3.2 หมื่นล้านบาท) เพื่อลดปล่อยขยะพลาสติกลงทะเล 70% ภายในปี 2025 เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ที่ห้ามใช้ถุงพลาสติกทั่วประเทศ ทำให้ห้างสรรพสินค้าหันมาใช้ถุงกระดาษ และทางเลือกอื่น

"อาเซียนบอกว่าต้องแก้ปัญหา แต่ยังไม่มีแผนการที่จะลดขยะพลาสติกได้จริง" อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงาน รณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

'อาเซียน'ติดหล่ม แก้ขยะพลาสติกท่วม

เอกชนทั่วโลกร่วมมือ

อินเตอร์ อิเกีย กรุ๊ป ยักษ์ใหญ่ด้านเฟอร์นิเจอร์จากสวีเดน ประกาศว่าจะยกเลิกการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียว เช่น หลอด จาน แก้ว และถุงขยะ ในสโตร์ และร้านอาหารทุกสาขา ภายในปี 2020 และจะพยายามใช้พลังงานทดแทน 100% ภายในปี 2020

ทั้งนี้ อิเกีย เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงทุน 1,700 ล้านดอลลาร์ เพื่อโครงการพลังงานทดแทน โดยมีแผนสร้างกังหันลม 416 ตัว และติดแผงโซลาร์ 7.5 แสนแผง ในอาคารของอิเกีย

ขณะเดียวกันหลายบริษัทในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็พยายามลดพลาสติกด้วย เช่น ฮิลตัน จะยกเลิกใช้หลอดพลาสติกในโรงแรมทั่วโลกภายในสิ้นปีนี้ และแมริออทจะใช้ขวดครีมอาบน้ำที่รีไซเคิลได้ในโรงแรม 5 ดาว ในอเมริกาเหนือ ภายในสิ้นปีนี้