posttoday

ดูเตร์เต้ถึงยูเอ็น "ไปลงนรกซะ"

04 มิถุนายน 2561

ดูเตร์เต้กร้าว! ตอบโต้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเอ็น "ไปลงนรกซะ" หลังถูกวิจารณ์เรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชน

ดูเตร์เต้กร้าว! ตอบโต้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเอ็น "ไปลงนรกซะ" หลังถูกวิจารณ์เรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชน

ประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตร์เต้ แห่งฟิลิปปินส์ สร้างความตกตะลึงอีกครั้งด้วยการกล่าวผรุสวาทต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหประชาชาติ โดยบอกว่า “to go to hell” หรือไปลงนรกซะ เนื่องจากไม่พอใจที่เจ้าหน้าที่ดังกล่าววิจารณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนของเขา

เจ้าหน้าที่ดังกล่าวคือ ดิเอโก การ์เซีย-ซายัน อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของเปรู และปัจุบันดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยผู้พิพากษาและทนายความ ซึ่งก่อนหน้านี้แสดงความวิตกถึงกรณีที่ มาเรีย ลูร์ดส์ เซเรโน ประธานศาลสูงสุดของฟิลิปปินส์ ถูกปลดออกจากตำแหน่ง โดยเจ้าหน้าที่ยูเอ็นชี้ว่า กรณีนี้เป็นการแทรกแซงการทำงานอย่างเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ และทำให้ระบอบประชาธิปไตยของฟิลิปปินส์ตกอยู่ในความสุ่มเสี่ยง

แต่ดูเตร์เต้ตอบโต้อย่างรุนแรงผ่านการแถลงข่าวว่า “ไปบอกเขาว่าอย่ามายุ่งกับเรื่องภายในประเทศของผม ให้เขาไปลงนรกซะ” พร้อมตบท้ายแบบเจ็บๆ ว่า เขาไม่รู้จักตำแหน่งเจ้าหน้าที่รายงานพิเศษ การ์เซีย-ซายันก็ไม่ใช่คนพิเศษอะไรด้วย

ฝ่ายการ์เซีย-ซายันให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอพีว่า หากผู้แทนรายงานพิเศษของยูเอ็นว่าด้วยความยุติธรรม เงียบเฉยกับการปลดหัวหน้าผู้พิพากษาด้วยวิธีการที่เหลือเชื่อเช่นนี้ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในประเทศไหนก็ตาม แม้แต่ในประเทศของเขาเอง การเงียบเฉยถือเป็นการกระทำที่ไร้คุณธรรม

ทั้งนี้ เซเรโนอดีตผู้พิพากษาสูงสุดวัย 57 ปี พยายามขัดขวางการทำงานของดูเตร์เต้มาโดยตลอด เช่น การที่ผู้นำประเทศประกาศกฎอัยการศึก หรือการออกคำสั่งให้นำศพของอดีตเผด็จการ เฟอร์ดินันด์ มาร์กอส มาฝังไว้ที่สุสานวีรบุรุษแห่งชาติ

แต่ที่สร้างปัญหาให้กับดูเตร์เต้มากที่สุด คือผู้พิพากษารายนี้เรียกร้องให้ใช้กระบวนการทางกฎหมายกับผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมในสงครามต่อต้านยาเสพติด หลังจากเกิดกรณีวิสามัญฆาตกรรมบ่อยครั้ง จนทำให้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลกทักท้วงมายังฟิลิปปินส์

การขัดขวางนโยบายที่ดูเตร์เต้ปลุกปั้นมากับมือ ทำให้เขาถึงกับลั่นวาจาว่า “ผมใส่ชื่อคุณไว้ในบัญชีศัตรูของผมแล้ว แล้วคุณจะต้องหลุดจากตำแหน่งศาลสูงสุด”

หลังจากอัยการสูงสุดทำงานรับลูกจากท่านผู้นำ ทำคดีว่าเซเรโนมุบมิบเรื่องภาษีและร่ำรวยผิดปกติ จากนั้นเรื่องไปยังสภาผู้แทนราษฎร์พิจารณา ซึ่งในสภาเองก็เต็มไปด้วยคนของดูเตร์เต้ และยื่นเรื่องต่อไปยังฝ่ายตุลาการเพื่อถอดถอนในที่สุด แต่ฝ่ายตรงข้ามกับดูเตร์เต้โจมตีว่าการปลดเซเรโนเป็นการปิดปากผู้ที่วิจารณ์นโยบายละเมิดสิทธิมนุษยชนของเขา

ภาพ เอเอฟพี

ที่มา www.m2fnews.com