posttoday

คาบสมุทรเกาหลีมีลุ้น กลับสู่เส้นทางสันติ

28 พฤษภาคม 2561

การประชุมของผู้นำเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ เป็นจุดพลิกผันของสถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลี และเป็นสัญญาณว่าผู้นำทั้งสองชาติกำลังพยายามผลักดันซัมมิทกับสหรัฐ

การประชุมของผู้นำเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ เป็นจุดพลิกผันของสถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลี และเป็นสัญญาณว่าผู้นำทั้งสองชาติกำลังพยายามผลักดันซัมมิทกับสหรัฐ

**************************

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

ความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีส่อเค้าจะวุ่นวายขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ภายหลังประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ ขอยกเลิกจัดงานประชุมสุดยอดกับประธานาธิบดี คิมจองอึน แห่งเกาหลีเหนือ วันที่ 12 มิ.ย.ที่สิงคโปร์ แต่การประชุมกันครั้งที่ 2 เป็นเวลา 2 ชั่วโมง ระหว่างผู้นำเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ที่หมู่บ้านปันมุมจอม เมื่อวันเสาร์ กำลังทำให้สถานการณ์ทั้งหมดกลับมาอยู่ในเส้นทางที่สดใสอีกครั้งหนึ่ง

“คิมและผมเห็นพ้องกันว่าซัมมิทวันที่ 12 มิ.ย. ควรจัดขึ้นอย่างประสบผลสำเร็จ และเห็นพ้องว่าภารกิจลดอาวุธนิวเคลียร์และแสวงหาความสันติบนคาบสมุทรเกาหลีไม่ควรหยุดชะงักลง” ประธานาธิบดี มุนแจอิน แห่งเกาหลีใต้ กล่าวในงานแถลงที่กรุงโซล วานนี้ พร้อมกับส่งสัญญาณว่าทรัมป์ยังคงคาดหวังที่จะหยุดความเป็นศัตรูกับเกาหลีเหนือ และหวังตั้งความร่วมมือทางเศรษฐกิจแบบทวิภาคี

ขณะที่สำนักข่าวเคซีเอ็นเอของทางการเกาหลีเหนือ รายงานว่า คิมแสดงความมุ่งมั่นที่จะจัดซัมมิทกับสหรัฐ ส่วนทรัมป์ก็กลับท่าทีอีกครั้งโดยเปิดเผยเมื่อวันเสาร์ว่าพร้อมเจรจา แม้ขอยกเลิกซัมมิทเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังเปียงยางวิจารณ์รองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์

ด้านรอยเตอร์สรายงานอ้างเจ้าหน้าที่เกาหลีใต้ ว่า การประชุมเมื่อวันเสาร์เป็นโอกาสให้ผู้นำสองชาติตกลงกันว่าจะไม่เกิดความรุนแรง และเริ่มต้นข้อตกลงสันติภาพ เพื่อคลายความกังวลของเปียงยางเรื่องความปลอดภัยระหว่างซัมมิทที่สิงคโปร์

ทั้งนี้ การประชุมของผู้นำเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ เป็นจุดพลิกผันของสถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีที่ไม่แน่นอนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา และเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าผู้นำทั้งสองชาติกำลังพยายามผลักดันซัมมิทกับสหรัฐ

อย่างไรก็ดี นิวยอร์กไทมส์ รายงานว่า ท่าทีของเกาหลีเหนือที่กำลังพยายามเดินหน้าจัดซัมมิทกับสหรัฐอาจเกิดขึ้นเพราะคิมต้องการความช่วยเหลือ หรือข้อตกลงทางเศรษฐกิจกับวอชิงตัน

ระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งแรกในฐานะผู้นำสูงสุด คิมเคยให้คำมั่นกับชาวเกาหลีเหนือ ซึ่งมีผู้อดอยากจำนวนหลายล้านคนเพราะภาวะข้าวยากหมากแพงช่วงทศวรรษ 1990 ว่าจะไม่ต้องอยู่อย่างขัดสนอีกต่อไป แต่เมื่อปีที่แล้วคิมได้ออกมาขอโทษประชาชนที่ไม่สามารถทำตามคำมั่น ส่วนปีนี้คิมประกาศว่าจะสร้างเศรษฐกิจที่ดีให้ได้

นักวิเคราะห์คาดว่า สัญญาณที่บ่งบอกปัญหาเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือได้ดีที่สุด คือ การตอบสนองด้วยท่าทีเป็นมิตรเมื่อทรัมป์ยกเลิกจัดซัมมิทเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และคิมยังได้จัดประชุมครั้งที่ 2 กับมุน เพื่อหารือเรื่องการเจรจากับทรัมป์ด้วย

“เกาหลีเหนือสามารถเอาตัวรอดภายใต้มาตรการคว่ำบาตร โดยเฉพาะถ้าได้รับการหนุนหลังจากจีน แต่ตราบใดที่ยังมีการคว่ำบาตร คิมจะไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วตามคำมั่นที่เคยประกาศต่อประชาชน” ชินบอมชอล นักวิชาการอาวุโสของสถาบันศึกษานโยบายอาซาน ในกรุงโซล กล่าว

ส่วน ลีซุงยุน ศาสตราจารย์สาขาเกาหลีศึกษาของมหาวิทยาลัยทัฟท์ส ในรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐ เปิดเผยว่า ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา คิมได้ปรับเปลี่ยนการวางตัวอย่างสมบูรณ์แบบ จากที่วางตัวเป็นผู้นำที่อำนาจ กลายเป็นผู้นำที่ดูนอบน้อม และมีการเตรียมตัวมาอย่างดี