posttoday

"ทรัมป์"บีบตลาดยาโลก กดดันประเทศคู่ค้าซื้อยาแพงขึ้น

14 พฤษภาคม 2561

“ทรัมป์” สั่งผู้แทนการค้ายกประเด็นสิทธิบัตรยา กดดันประเทศคู่ค้าซื้อยาแพงขึ้น โวยอเมริกันชนต้องแบกรับแทน

“ทรัมป์” สั่งผู้แทนการค้ายกประเด็นสิทธิบัตรยา กดดันประเทศคู่ค้าซื้อยาแพงขึ้น โวยอเมริกันชนต้องแบกรับแทน

บีบีซีรายงานอ้างถ้อยแถลงของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ ว่า ทรัมป์ได้สั่งการให้ โรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ หยิบยกประเด็นการแทรกแซงราคายาของรัฐบาลต่างชาติ ขึ้นเป็นหัวข้อสำคัญในการเจรจาการค้ากับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โดยกล่าวหาว่าการที่รัฐบาลประเทศอื่นเข้าแทรกแซงบริษัทยาจนทำให้ราคายาลดลงมากนั้น ส่งผลกระทบให้ราคายาในสหรัฐสูงขึ้น และทำให้ชาวอเมริกันต้องจ่ายค่ายาเพิ่ม

“ขณะที่เราเรียกร้องความยุติธรรมสำหรับผู้ป่วยชาวอเมริกันที่บ้าน เราก็ขอเรียกร้องความยุติธรรมกับต่างชาติด้วย เมื่อรัฐบาลต่างชาติหั่นราคายาของผู้ผลิตอเมริกันลงอย่างหนัก จนทำให้ชาวอเมริกันต้องจ่ายค่ายามากขึ้น เพื่อมาชดเชยค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) ที่ลดลง” ทรัมป์ ระบุที่ทำเนียบขาว

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ระบุว่า ราคายาในตลาดนอกประเทศไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ยาสหรัฐราคาสูง ดังนั้นการเปลี่ยนราคายาในต่างประเทศจะไม่ส่งผลต่อสหรัฐ โดยศาสตราจารย์พอล กินส์เบิร์ก จากภาคนโยบายสาธารณสุข มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย ระบุว่า บริษัทยาในสหรัฐปรับราคายาสูงเพื่อหากำไรสูงสุด แต่ก็มีมาตรการอุดหนุนการคิดค้นนวัตกรรมที่กว้างขวาง

ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวมีขึ้นหลังรัฐบาลสหรัฐเปิดเผยรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา หรือรายงานมาตรา 301 (พิเศษ) เมื่อเดือนก่อน ซึ่งมีการระบุรายละเอียดเกี่ยวกับด้านยาด้วยว่า หลายประเทศในเอเชีย อาทิ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย มีปัญหาด้านการละเมิดสิทธิบัตรยา ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (ซีแอล) โดยสหรัฐขึ้นบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ (PWL) 12 ประเทศ และประเทศที่ต้องจับตามอง 24 ประเทศ

สำหรับไทยนั้นถูกลดอันดับการขึ้นบัญชีลงมาอยู่ในระดับจับตามองร่วมกับอีก 23 ประเทศ เมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา จากเดิมที่เคยอยู่ในบัญชี PWL เมื่อปีก่อนหน้า หลังพบว่ามีความพยายามแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิอย่างจริงจัง

ขณะเดียวกัน ทรัมป์กำลังเผชิญแรงกดดันให้เร่งลดราคายาอย่างหนัก หลังรับปากไว้เมื่อช่วงหาเสียงเลือกตั้งปี 2016 โดยก่อนหน้านี้ วารสารทางการแพทย์ของสมาคมการแพทย์อเมริกัน ระบุว่า ชาวอเมริกันใช้จ่ายไปกับยาอยู่ที่ 1,443 ดอลลาร์สหรัฐ/หัว (ราว 4.5 หมื่นบาท) ในปี 2016 ขณะที่ประเทศรายได้สูงอีก 10 แห่ง รวมถึงญี่ปุ่นและแคนาดามีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 466-939 ดอลลาร์/หัว (ราว 1.4-2.9 หมื่นบาท)

ภาพ เอเอฟพี