posttoday

สตรี เด็ก เหยื่อความรุนแรง เยาวชนไทยถูกรังแกติดอันดับโลก

06 พฤษภาคม 2561

ในงานประทานรางวัลสำนักงานอัยการจังหวัดยุติความรุนแรงดีเด่น ประจำปี 2560

โดย เอกชัย จั่นทอง

ในงานประทานรางวัลสำนักงานอัยการจังหวัดยุติความรุนแรงดีเด่น ประจำปี 2560 มีเวทีเสวนา เรื่อง “ระบบป้องกันและแก้ไขความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง เด็ก และผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว” เพื่อสะท้อนสถานการณ์ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม จนไปสู่การทำงานบนความร่วมมือของสำนักงานอัยการสูงสุด ภาคีเครือข่าย และอัยการ เป้าหมายไปสู่การหยุดความรุนแรงในครอบครัว 

นพ.พรเพชร ปัญจปิยะกุล รองผู้อำนวยการกองบริหารการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ฉายสถานการณ์ความรุนแรงเด็ก ผู้หญิง และผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งพบข้อมูลความรุนแรงทั่วโลก มีผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงกว่า 5 แสนราย/ปี โดยพบว่าเป็นผู้หญิง 1 ใน 3 เด็ก 1 ใน 4 ที่เสียชีวิตจากความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ

ขณะเดียวกันข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขได้เก็บข้อมูลการกระทำความรุนแรงช่วงปี 2559-2560 มีผู้เข้ารับการรักษากว่า 2 หมื่นราย โดยมาจาก 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ วัยรุ่นและผู้หญิงในวัยทำงาน ผู้ถูกกระทำความรุนแรงเป็นคนไทย 98% และอีก 2% เป็นชาวต่างชาติ เมื่อจำแนกความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาจากการทำร้ายร่างกายกว่า 57% ถัดมาความรุนแรงทางเพศ 37% กลุ่มที่เข้ารับการรักษาอาการบาดเจ็บจากความรุนแรงเป็นกลุ่มเยาวชนอายุ 10-15 ปี นอกจากนี้ยังมีความรุนแรงต่อร่างกายกับผู้หญิงอายุ 25 ปีขึ้นไป สาเหตุมาจากเรื่องความสัมพันธ์ แวดล้อม สิ่งกระตุ้นความรุนแรง เช่น สารเสพติด ดื่มเหล้า ฯลฯ

นพ.พรเพชร ยังบอกว่าผู้กระทำความรุนแรงส่วนใหญ่มักเป็นบุคคลในครอบครัว โดยเฉพาะสามีที่มักก่อเหตุความรุนแรงในครอบครัว ขณะเดียวกันความต้องการของผู้ถูกทำร้ายที่เข้ารักษานั้น คือ 1.ต้องการดูแลทางการแพทย์ ดูแลจิตใจ ให้คำปรึกษา 2.เรื่องความปลอดภัยว่าจะไม่ถูกทำร้ายซ้ำ และ 3.การดูแลด้านกระบวนการยุติธรรม

สำหรับความรุนแรงต่อเด็กนั้น การคุ้มครองดูแลเด็กแตกต่างจากผู้ใหญ่มาก ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กมี 6 ด้านสำคัญ เช่น  1.ร่างกาย 2.พัฒนาการอารมณ์ 3.การเรียนรู้ 4.การเข้าสังคม 5.การดูแลด้านจริยธรรม เช่นเดียวกันรูปแบบการทำร้ายหรือใช้ความรุนแรงในเด็ก คือการทำร้ายร่างกายจิตใจ อารมณ์ ข่มขู่ คุกคาม ทำร้ายทางเพศ รวมถึงเด็กเห็นภาพเหตุการณ์ทะเลาะกันของพ่อแม่ เด็กจึงซึมซับความรุนแรง และที่สุดท้ายสำคัญมากคือการแสวงหาประโยชน์จากเด็กดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ไข

ปรียานุช ธรรมปิยา ผู้อำนวยการศูนย์สถานศึกษาพอเพียง มูลนิธิยุวสถิรคุณ กล่าวว่า แนวทางการลดความรุนแรงต่างๆ จะใช้หลักนิติธรรมมาปรับใช้จากสาระสำคัญ 3 ส่วน ประกอบด้วย 1.มีกฎกติกาและบรรทัดฐานสังคมที่เป็นธรรม 2.มีการบังคับใช้กฎกติกาอย่างเป็นธรรม และ 3.มีการปฏิบัติตามกฎกติกาถ้วนหน้า

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียนทั้งด้านร่างกายและจิตใจในด้านต่างๆ เช่น การหยอกล้อชื่อพ่อแม่ ด่าทอ ให้ทำการบ้านแทน รีดไถเงิน หยิบฉวย การข่มเหงในโรงเรียน ทำให้ต้องรื้อปัญหาขยะใต้พรมนี้ขึ้นมาคิดร่วมกันแก้ไขโดยมีสหวิชาชีพ ภาคีเครือข่าย สำนักงานอัยการสูงสุด จับมือช่วยหยุดปัญหาในส่วนนี้ ทั้งนี้เมื่อปีที่ผ่านมาพบข้อมูลว่าการข่มเหงรังแกกันในเยาวชนในประเทศไทยติดอันดับ 2 ของโลก

ผู้อำนวยการศูนย์สถานฯ แนะทางออกว่า ควรใช้ปรัชญาพอเพียงสู่หลักนิติธรรม โดยนำหลักพอเพียง 3 หลักการมาปรับใช้อย่างเหมาะสม คือ 1.หลักพอประมาณออกแบบและใช้สมุดบันทึกพฤติกรรมที่สอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียน มีการกำหนดบทลงโทษชัดเจน  เพื่อลดการข่มเหงรังแกกันในโรงเรียน พร้อมแทรกเนื้อหาการสอนถึงผลกระทบการรังแกกันในโรงเรียนอย่างเหมาะสม 2.หลักความมีเหตุผล เพื่อลดปัญหาการข่มเหงกันในโรงเรียน ปรับวิธีคิดของนักเรียนที่ประพฤติไม่เหมาะสมให้รู้ถึงผลจากการกระทำ เป้าหมายเพื่อให้นักเรียนมีความสามัคคีและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

3.หลักการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี โดยครู สภานักเรียน ผู้นำชุมชน มีส่วนร่วมในการวางแผน กำหนดกติกา มาตรการ เพื่อให้เกิดความรอบคอบ รวมถึงการทำการคัดกรองนักเรียนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงอย่างเป็นระบบ ทั้งหมดจะนำไปใช้ให้เป็นรูปธรรมในโรงเรียนอย่างเหมาะสม โดยนำ 3 หลักการดังกล่าวไปปรับใช้ ควบคู่ไปกับพัฒนาต่อยอดสู่โรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ เป้าหมายคือลดปัญหาความรุนแรงเด็กและในโรงเรียน

เช่นเดียวกับ นิภาพร รุจนพงศ์ รองอัยการสูงสุด ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายเห็นว่าสำนักงานอัยการสูงสุดมีภารกิจหลักคือการอำนวยความยุติธรรมในทางคดีอาญา การรักษาผลประโยชน์ของรัฐตามกฎหมายที่ให้อำนาจ ในเรื่องการป้องกันความรุนแรงนั้นอัยการสูงสุดมีการรณรงค์ตลอด ที่ผ่านมาสำนักงานอัยการฯ มีการรณรงค์ยุติปัญหาความรุนแรงในต่างจังหวัดทั่วประเทศ ขับเคลื่อนให้ประชาชนเข้าใจว่าทุกคนในครอบครัวมีส่วนสำคัญช่วยขจัดปัญหาการกระทำความรุนแรงของทุกกลุ่ม

ในภาวะสถานการณ์ความรุนแรงนั้น ทางอัยการสูงสุดมีการตั้งแผนปฏิบัติงานเกี่ยวกับเรื่องความรุนแรง โดยถอดแบบการศึกษาแผนยุทธศาสตร์ต้นแบบและเชิงปฏิบัติของสหประชาชาติ มาปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง เด็ก และผู้ถูกกระทำในครอบครัว ซึ่งได้ดำเนินการเผยแพร่ความรู้ให้ประชาชนเข้าใจติดต่อกันหลายปีต่อเนื่อง พร้อมขยายความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทุกจังหวัด มีสหวิชาชีพในชุมชนที่เข้ามาช่วย รวมถึงการเผยแพร่พัฒนาให้ความรู้ ร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และการพัฒนาบุคลากรของอัยการสูงสุดให้เชี่ยวชาญงานป้องกันความรุนแรงด้วย

“สิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนในการหยุดยั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง เด็ก และผู้ถูกกระทำในครอบครัวอย่างครอบคลุมทั่วประเทศ ควบคู่ไปกับการใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่หลักนิติธรรม” รองอัยการสูงสุด กล่าวทิ้งท้าย