posttoday

ทีโมบายล์ควบสปรินท์หวังปูทางลงทุน5จี ดันสหรัฐผงาดแซงมังกร

01 พฤษภาคม 2561

ที-โมบายล์ตกลงควบธุรกิจสปรินท์ เขย่าตลาดสื่อสารสหรัฐ ส่งสัญญาณพร้อมลงทุนยกระดับ 5จี

ที-โมบายล์ตกลงควบธุรกิจสปรินท์ เขย่าตลาดสื่อสารสหรัฐ ส่งสัญญาณพร้อมลงทุนยกระดับ 5จี

ที-โมบายล์ ยูเอส อิงค์ ผู้ให้บริการมือถืออันดับ 3 ของสหรัฐ ตกลงซื้อหุ้นสปรินท์ คอร์ป ผู้ให้บริการมือถืออันดับ 4 ของสหรัฐ มูลค่า 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.19 แสนล้านบาท) โดยทั้งสองบริษัทแสดงความเชื่อมั่นว่า ทางรัฐบาลสหรัฐจะอนุมัติข้อตกลงการควบรวมกิจการครั้งนี้ เนื่องจากบริษัทแห่งใหม่จะเดินหน้าลงทุนพัฒนาเครือข่าย 5จี ซึ่งจะช่วยให้สหรัฐขึ้นมาเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีดังกล่าว และสร้างงานในประเทศหลายพันอัตรา

จอห์น เลเจอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ) ที-โมบายล์ เปิดเผยว่า บริษัทควบรวมแห่งใหม่จะใช้ชื่อว่า ที-โมบายล์ และจะลงทุน 4 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 1.26 ล้านล้านบาท) ในอีก 3 ปีข้างหน้านี้เพื่อพัฒนาระบบโครงข่ายให้สามารถรองรับเทคโนโลยี 5จี ได้ พร้อมเสริมว่า ข้อตกลงครั้งนี้ยังจะสร้างเครือข่ายประสิทธิภาพสูงสุด ที่มีราคาถูกลง สร้างงานได้หลายอัตรารวมถึงยกระดับบริการในเขตชนบทห่างไกล

ด้าน ซีทีไอเอ องค์กรการค้าซึ่งเป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมระบบการสื่อสารไร้สายของสหรัฐ เปิดเผยว่า สหรัฐยังคงตามหลังจีนและเกาหลีใต้ในเรื่องความพร้อมรับเทคโนโลยี 5จี โดยจีนนั้น วางแผนเริ่มทดลองใช้ 5จี ภายในปี 2020 ซึ่งผู้ให้บริการ 3 รายในจีนแจ้งว่าพร้อมดำเนินการตามกรอบเวลาดังกล่าวแล้ว

ขณะเดียวกัน การควบธุรกิจระหว่างที-โมบายล์ และสปรินท์ จะทำให้เงินทุนญี่ปุ่นเข้าสหรัฐมากขึ้น เนื่องจากกองทุนวิชั่นฟันด์ของมาซาโยชิ ซัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ซอฟต์แบงก์ ถือหุ้น 80% ของสปรินท์ และอาจได้หุ้น 27% ในบริษัทใหม่ ส่วนดอยช์ เทเลคอม บริษัทแม่ของที-โมบายล์ จะได้ถือหุ้น 42% ในบริษัทใหม่

อย่างไรก็ดี แม้ที-โมบายล์ และสปรินท์หวังว่าจะควบธุรกิจภายในครึ่งแรกของปี 2019 แต่การดำเนินการดังกล่าวต้องผ่านการตรวจสอบจากรัฐบาลอย่างเข้มงวดเนื่องจากบริษัทควบรวมใหม่จะมีฐานลูกค้ารวมกันเป็น 127 ล้านคน ซึ่งจะกลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวสำหรับผู้ให้บริการรายใหญ่ที่สุด 2 อันดับแรก อย่างเวอไรซอน คอมมิวนิเคชั่นส์ อิงค์ และเอทีแอนด์ที อิงค์

ก่อนหน้านี้ ที-โมบายล์ และสปรินท์เคยพยายามควบธุรกิจหลายครั้งแล้ว เริ่มจากครั้งแรกในปี 2014 ซึ่งล้มเหลวเนื่องจากรัฐบาลสหรัฐของบารัก โอบามา กังวลเรื่องการผูกขาดตลาด