posttoday

เผยโฉมโรงแรมอวกาศ "ออโรร่าสเตชั่น" เตรียมเปิดบริการในอีก4ปีข้างหน้า

27 เมษายน 2561

บริษัทเทคโนโลยีด้านอวกาศในสหรัฐเผยโฉมโรงแรมอวกาศที่จะโคจรอยู่นอกโลก พร้อมสนนราคาแพคเกจที่ 9.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

บริษัทเทคโนโลยีด้านอวกาศในสหรัฐเผยโฉมโรงแรมอวกาศที่จะโคจรอยู่นอกโลก พร้อมสนนราคาแพคเกจที่ 9.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับบางคนการใช้ชีวิตเดินดินอยู่บนโลกอาจจะดูธรรมดาเกินไป และกำลังมองหาความท้าทายใหม่อย่างการไปนอนนอกโลกดูบ้าง บริษัทเทคโนโลยีด้านอวกาศในสหรัฐ Orion Span กำลังจะนำความท้าทายนี้มาสู่มนุษยชาติในอีก 4 ปีข้างหน้า

ในการประชุมอวกาศ 2.0 ในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐเมื่อเร็วๆ นี้ Orion Span ได้เผยโฉมโรงแรม Aurora Station (ออโรร่า สเตชั่น) ที่ทางบริษัทเคลมว่าเป็นโรงแรมหรูบนอวกาศแห่งแรกของโลกซึ่งจะพร้อมให้บริการลูกค้าที่ต้องการท่องเที่ยวอวกาศคณะแรกในปี 2022 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า แต่ละครั้งสามารถพาคนขึ้นไปได้ 6 คน รวมทั้งนักบิน 2 คน

ตัวโรงแรมซึ่งเป็นยานอวกาศด้วยจะโคจรที่ความสูง 200 ไมล์ (ราว 321 กม.) จากพื้นโลก หรือที่เรียกว่าวงโคจรต่ำของโลก (LEO) โดยใช้เวลาโคจรรอบโลกรอบละ 90 นาที นั่นหมายความว่า ลูกค้าของโรงแรมอวกาศแห่งนี้จะได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นและตกจากที่ต่างๆ ประมาณ 16 ครั้งทุกๆ 24 ชม.

ด้านกิจกรรมบนโรงแรมลอยฟ้านั้น แทบจะจำลองการเป็นนักบินอวกาศจริงๆ ไว้ ตั้งแต่การฝึกซ้อมร่างกายที่ย่นระยะจาก 24 เดือนที่นักบินอวกาศต้องเตรียมตัว เหลือ 3 เดือนสำหรับคนทั่วไป การทดลองปลูกพืชผักซึ่งลูกค้าสามารถนำกลับมายังโลกเพื่อเป็นของฝากจากนอกโลกได้ หรือการโคจรอยู่เหนือหลังคาบ้านตัวเองที่อยู่บนโลก รวมทั้งการต้อนรับอย่างฮีโร่นักบินอวกาศที่จัดขึ้นเป็นพิเศษตอนกลับถึงพื้นโลก

ส่วนของการสัมผัสประสบการณ์ไร้แรงโน้มถ่วงนั้น นักท่องอวกาศสามารถลอยตัวไปมาได้ทั่วพื้นที่ของโรงแรมเพื่อชมวิวแสงเหนือและแสงใต้จากหน้าต่างของโรงแรมตลอดทริปการเดินทาง 12 วัน เพิ่มเติมจากการนั่งมองโลกที่เราคุ้นเคยจากมุมมองที่ต่างออกไปอย่างอวกาศ

การหาประสบการณ์ครั้งใหม่นี้สนนราคาอยู่ที่ 9.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งตอนนี้บริษัทเริ่มเปิดให้คนที่สนใจเข้าพักเริ่มฝากเงินเพื่อสะสมให้ครบตามจำนวนแล้ว โดยบริษัทจะคืนเงิน 80,000 เหรียญสหรัฐหากลูกค้าคิดว่าตัวเองไม่น่าจะฝากเงินได้ครบตามเป้าหมาย

แฟรงค์ บังเกอร์ ประธานบริหารและผู้ก่อตั้ง Orion Span เผยเป้าหมายของการพัฒนาโรงแรมอวกาศว่า ต้องการพาคนขึ้นไปเหยียบอวกาศ เพราะอวกาศเป็นที่เดียวที่คนทั่วไปยังไม่ได้สัมผัส

ภาพ : Orion Span