posttoday

America First บ่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจีน-สหรัฐฯ

23 เมษายน 2561

โดย...พัลลภ สามสี ผู้สื่อข่าว China Radio International Asia Headquarters

โดย...พัลลภ สามสี ผู้สื่อข่าว China Radio International Asia Headquarters

ในช่วงที่ “ทรัมป์” หาเสียงนั้น เขาได้ชูนโยบาย America First มุ่งรักษาผลประโยชน์ของประเทศตนมาก่อน ซึ่งมีท่าทีแบบชาตินิยมสูงสุด โดยวางมือจากเรื่องการสร้างประชาธิปไตยในประเทศอื่นอันเป็นเป้าหมายสูงสุดที่รัฐบาลก่อนหน้าเคยวางไว้ ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่า ปัญหาเรื่องก่อการร้ายเป็นเรื่องรอง แต่ปากท้องคนอเมริกันต้องมาก่อน

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังประกาศชัดว่า “จีนและรัสเซีย” เป็นคู่แข่งของสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการ “ท้าทายต่ออำนาจ อิทธิพล และผลประโยชน์ของสหรัฐฯ” และพยายามที่จะ “บ่อนทำลายความมั่นคงและความเป็นมหาอำนาจของสหรัฐฯ” นอกจากนี้ ประเทศขนาดเล็กอย่างเกาหลีเหนือและอิหร่านยังเข้าข่ายศัตรูของสหรัฐด้วย

โดยสหรัฐฯ ได้ใช้วิธีการจัดการกับประเทศเป้าหมายของตนแตกต่างกันไป

แต่ที่ทั่วโลกจับตาเป็นพิเศ คือมาตรการที่สหรัฐอเมริกากระทำต่อประเทศจีน เพราะมองว่าเป็นคู่แข่งอันดับหนึ่ง ซึ่งกำลังขยับขึ้นมามีอำนาจเทียบเคียง ทั้งยังพยายามจัดระเบียบโลกใหม่โดยใช้เศรษฐกิจเป็นตัวขับเคลื่อน สหรัฐฯ จึงเลือกที่ใช้การกีดกันทางการค้ามาเป็นเครื่องมือหลัก และทรัมป์ได้ลงนามประกาศเป็นกฎหมายขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจีน 1,300 ชนิด ซึ่งสหรัฐหวังว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากมาตรการนี้ และยังจะมีการจำกัดการลงทุนของจีนในสหรัฐฯ ด้วย ทั้งนี้เพื่อลดการขาดดุลทางการค้าให้ได้มากขึ้น

ข้อมูลจากศุลกากรจีนระบุว่า ปี 2560 การค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ มีมูลค่า 3.95 ล้านล้านหยวน (หรือ 626.39
พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นร้อยละ15.20 หรือคิดเป็นร้อยละ 14.2 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของ
จีน โดยการส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ14.50 และการนำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ17.3 ทั้งนี้จีนได้
ดุลการค้าสหรัฐฯ มูลค่า 1.87 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ13

โดยสินค้าสำคัญได้แก่ เหล็ก อะลูมิเนียม แผงโซล่าเซลล์ ยางรัดของ

แต่มาตรการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าเหล็กที่ร้อยละ 25 เปอร์เซ็นต์ และอะลูมิเนียมที่ร้อยละ 10 เปอร์เซ็นต์ มิได้สร้างผลกระทบต่อจีนเท่านั้น แต่ยังส่งแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก เพราะสินค้าชนิดนี้ไม่มีเพียงจีนประเทศเดียวที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐ (จริงๆ แล้วจีนไม่ติด 10 อันดับประเทศผู้ส่งออกเหล็กไปยังสหรัฐฯ ด้วยซ้ำ) แต่เป็นมิตรประเทศของสหรัฐฯ เองหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแคนาดา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย

การพยายามลดดุลการค้ากับนานาประเทศของสหรัฐฯ ครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นความคิดที่ล้าหลัง รังแต่จะสร้างปัญหาให้บานปลายมากขึ้น ซึ่งประวัติศาสตร์ก็ได้พิสูจน์แล้วว่ามีแต่จะทำให้เกิดความขัดแย้ง ถึงขนาดเทียบกับสาเหตุของการเกิดขึ้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่ามีลักษณะที่คล้ายกัน

แรกเริ่มที่ทรัมป์ประกาศกฎหมายฉบับนี้ออกมา จีนก็ได้แถลงตอบโต้ทันที โดยนายเกา เฟิง โฆษกกระทรวงพาณิชย์จีนระบุว่า จีนขอคัดค้านอย่างเด็ดขาด และกล่าวว่า สหรัฐฯ ไม่พิจารณาถึงการประท้วงอย่างหนักของจีน ประกาศขึ้นภาษีที่ปราศจากมูลความจริง เป็นการกระทำที่ยึดติดแนวคิดเอกภาพนิยมและใช้ลัทธิกีดกันทางการค้า จีนขอประท้วงและคัดค้านต่อการนี้อย่างถึงที่สุด

นอกจากนี้ยังมีมาตรการตอบโต้ที่มีน้ำหนักเท่าๆ กัน ทั้งนี้เพราะทางรัฐบาลจีนมองว่าการกีดกันทางการค้าและทุ่มตาดของสหรัฐอเมริกานั้นเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด และหวังว่าจะไม่ใช้เป็นการถาวร เพราะจีนยังมองว่าความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่มีมาอย่างยาวนานนั้นสร้างโอกาสให้ทั้งสองประเทศ โดยไม่ต้องการให้เหตุการณ์นี้ลุกลามใหญ่โต ซึ่งถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า สื่อของรัฐบาลจีนทุกแห่งไม่เคยระบุวิกฤตความขัดแย้งครั้งนี้ “ว่าสงครามการค้า” อย่างที่สื่อตะวันตกใช้แต่อย่างใด เพราะไม่ต้องการยกระดับการตัดสินใจที่ผิดพลาดสหรัฐฯ ในครั้งนี้ให้ทวีความรุนแรงขึ้น

America First บ่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจีน-สหรัฐฯ

วันที่ 3 เมษายน กระทรวงพาณิชย์จีน แสดงการต่อต้านข้อเสนอพิกัดทางภาษีของสหรัฐฯ และพร้อมที่จะใช้มาตรการต่างๆ ตอบโต้กับผลิตภัณฑ์ของสหรัฐฯ ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศจีน ก็ได้ประณามการกระทำของสหรัฐฯว่า "เป็นพวกพิทักษ์สิทธิตนฝ่ายเดียว" และกล่าวว่าจีนจะประกาศมาตรการตอบโต้ในวันข้างหน้า โดยนายหลู คัง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวในแถลงการณ์ว่า "เรามีความเชื่อมั่นและความสามารถในการตอบโต้มาตรการป้องกันของสหรัฐฯ "การกระทำของสหรัฐฯได้ละเลยความร่วมมือทางเศรษฐกิจจีน - สหรัฐฯ ที่มีมาเป็นระยะเวลา ๔๐ ปี ซึ่งเป็นประโยชน์และเป็นประโยชน์ต่อกันและกัน ทั้งละเลยกับเสียงสะท้อนจากชุมชนธุรกิจและผู้บริโภค

“แจ็กหม่า” นักธุรกิจจีนที่ประสบความสำเร็จระดับโลกกล่าวในเวทีการแลกเปลี่ยนต่อกรณีข้อพิพาททางการค้าจีน-สหรัฐครั้งนี้กับนางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการใหญ่กองทุนการเงินระหว่างประเทศว่า “ถ้าการค้ายุติ สงครามเกิดแน่นอน” และระบุว่าความขัดแย้งครั้งนี้เหมือนร่างกายที่ป่วยไข้ แต่ใช้วิธีรักษาที่ไม่ถูกต้อง รังแต่ทำลายสุขภาพให้เสื่อมโทรมลงมากกว่าเดิม

สำหรับผู้นำสูงสุดของจีนนั้นไม่ได้แสดงความเป็นปฏิปักษ์ต่อเหตุการณ์นี้ ยังคงรักษาท่าทีไว้ เพียงกล่าวเป็นนัยที่น่าขบคิดในการปาฐกถาที่เวทีเอเชีย-โป๋วอ๋าว เมื่อเร็วๆ นี้ โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ระบุถึงนโยบายเปิดประเทศใหม่ 4 ประการ คือ ลดข้อจำกัดการเข้าตลาด สร้างสภาพแวดล้อมการลงทุนที่ดีขึ้นสำหรับทุนต่างชาติ เสริมการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา และเพิ่มการนำเข้าด้วยความสมัครใจ โดยนายจีโอวานี ทรีอา นักเศรษฐศาสตร์อิตาลีแสดงความคิดเห็นว่า ปาฐกถาของประธานาธิบดีมีนัยยะว่า จีนไม่อยากทำสงครามการค้ากับใคร และต้องการเปิดประเทศให้กว้างขึ้นไปตลอด

นอกจากการออกมาแถลงท่าทีอย่างต่อเนื่องทั้งจากกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และสื่อกระแสหลักของจีนแล้ว ในอีกด้านหนึ่งจีนก็เลือกใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อตอบโต้สินค้านำเข้าจากสหรัฐ โดยกำหนดให้สินค้า 128 รายการ ต้องเผชิญกับกำแพงภาษีเพิ่มขึ้นระหว่าง 15% ถึง 25% ซึ่งรวมถึงไวน์ ท่ออะลูมิเนียม ผลไม้สด ผลไม้แห้ง ถั่วเปลือกแข็ง และเนื้อสัตว์แช่แข็งโดยเฉพาะเนื้อหมู คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 93,600 ล้านบาท) ซึ่งมาตรการดังกล่าวคือการตอบโต้กำแพงภาษีเหล็ก 25% และอะลูมิเนียม 10% ของสหรัฐ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่ผ่านมา สถานีวิทยุซีอาร์ไอ รายงานว่า กระทรวงพาณิชย์จีนแถลงผลการสอบสวนเบื้องต้นเกี่ยวกับการทุ่มตลาดข้าวฟ่างที่สหรัฐฯ ส่งออกมายังจีน โดยผลสอบสวนเบื้องต้นพบว่า ข้าวฟ่างที่สหรัฐฯ ส่งออกมายังจีนนั้น เป็นการทุ่มตลาด ทำให้อุตสาหกรรมข้าวฟ่างของจีนได้รับผลกระทบ จีนจึงตัดสินใจใช้มาตรการต่อต้านการทุ่มตลาดชั่วคราวสำหรับข้าวฟ่างที่สหรัฐฯ ส่งออกมายังจีน

มาตรการดังกล่าวส่งผลให้ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายนนี้ บริษัทที่นำเข้าข้าวฟ่างจากสหรัฐฯ จะต้องวางเงินมัดจำร้อยละ 178.6 ของราคาให้แก่ด่านศุลกากรจีน

หลังจากการสอบสวนเบื้องต้น กระทรวงพาณิชย์จีนจะดำเนินการสอบสวนต่อไปเพื่อให้ได้ข้อสรุป อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์จีนจะปฏิบัติตามกฎหมายจีน และกฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ที่ชอบธรรมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ขณะเดียวกัน นายจู กวังเย่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังจีนระบุปริมาณถั่วเหลือส่งออกของสหรัฐฯ จำนวน 62% ของ นำเข้ามาที่จีน โดยเมื่อปี 2017 ยอดการนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ ของจีนคิดเป็น 34.39% ของยอดการนำเข้าถั่วเหลืองทั้งหมดของจีน เกษตรกรจีนจึงมีข้อเรียกร้องว่า ให้รัฐบาลจีนมองผลประโยชน์ของเกษตรกรจีนเป็นหลัก ซึ่งรัฐบาลจีนต้องเคารพข้อเรียกร้องของเกษตรกร และเคารพข้อเรียกร้องทางนโยบายของสมาคมถั่วเหลืองจีน ดังนั้น จึงเลือกให้ถั่วเหลืองเป็นสินค้าที่เก็บภาษีเพิ่ม เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ

ขณะเดียวกัน นายจู กวังเย่า กล่าวยังอีกว่า ปัจจุบัน รายชื่อสินค้าที่จีนประกาศนั้นยังไม่มีผลบังคับใช้ อยู่ในขั้นตอนเจรจาความร่วมมือ ซึ่งอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ต้องเคารพซึ่งกันและกัน หากไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเพิ่มเงื่อนไขอย่างไม่มีเหตุผล หรือบังคับอีกฝ่าย

มาตรการตอบโต้ที่ต่างแถลงกันรายวันนี้ร้อนระอุไปทั้งโลก เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจที่ร้อนแรงของจีน และการเติบโตของจีดีพีที่ต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่ขับเคลื่อนประเทศจีนเท่านั้น แต่คู่ค้านานาประเทศต่างได้รับผลประโยชน์ในสัดส่วนที่ต่างกันไป จึงมีหลายประเทศออกโรงประณามการกระทำแต่ฝ่ายเดียวของสหรัฐในครั้งนี้

America First บ่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจีน-สหรัฐฯ

สำหรับประเทศไทยนั้น แม้จะเป็นประเทศเล็ก แต่ก็ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกาอยู่เช่นกัน ซึ่งน่าจะเข้าข่ายการจัดการความสัมพันธ์แบบใหม่ของทรัมป์ด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกันก็มีการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นอย่างมาก และมีการร่วมลงทุนขนาดใหญ่ในอนาคตอีกมาก โดยเฉพาะโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) ที่แจ็ค หม่า ประธานอาลีบาบา กรุ๊ฟ เพิ่งเดินทางมาลงนามกับรัฐบาลไทยในการเตรียมการลงทุน และช่วยสร้าง Smart Digital Hub ขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว

ดังนั้นความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับข้อพิพาทที่นับวันรุนแรงขึ้นระหว่างสองขั้วมหาอำนาจในครั้งนี้ย่อมได้รับการจับมองและศึกษาก้าวย่างอย่างต่อเนื่องจากสื่อไทยทุกแขนง ซึ่งพันเอก ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล รองผู้อำนวยการศูนย์ยุทธศาสตร์ไทยจีนเขียนวิเคราะห์และสรุปถึงความขัดแย้งครั้งนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า

เหตุผลที่ทำให้สหรัฐฯ ตัดสินใจกระทำต่อจีน เพราะกลัวแผน “Made in China 2025” ของจีน ซึ่งแนวคิดนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2015 โดยรัฐบาลจีนเห็นว่าประเทศจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้นั้นต้องพัฒนาอุตสาหกรรมประเภทเทคโนโลยีชั้นกลาง-สูง ให้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน คุณภาพเป็นอันดับหนึ่ง ใช้พลังงานสะอาด เพิ่มขีดความสามารถของคนและยึดมั่นในแนวทางที่รัฐบาลตั้งไว้ในระยะยาว โดยปฏิบัติอยู่บนพื้นฐาน 3 ก้าว กล่าวคือ ก้าวแรกบรรลุในปี 2025 เป็นประเทศอุตสาหกรรมที่แข็งแรง ก้าวที่ 2 ปี 2035 บรรลุการเข้าสู่ประเทศอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งระดับโลกในระดับกลางขึ้นไป และก้าวที่ 3 คือ เมื่อจีนครบรอบการก่อตั้งประเทศ 100 ปี ต้องเข้าสู่ประเทศที่เจริญแล้ว

ส่วนเหตุผลที่จีนเลือกสินค้าเกษตรในการโจมตีตอบโต้สหรัฐฯ เพราะจีนเป็นตลาดสำคัญ เป็นลูกค้ารายใหญ่ของสินค้าเกษตรสหรัฐฯ และฝั่งสหรัฐเป็นฝ่ายที่ได้ดุลการค้ามาตลอด โดยในปี 2016 จีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรอันดับสองของสหรัฐฯ อีกทั้งเมื่อ นายโดนัลด์ ทรัมป์ได้รับเลือกตั้งขึ้นเป็นประธานาธิบดี ก็ได้รับเสียงคะแนนอย่างถล่มทลายจากรัฐที่มีอุตสาหกรรมเกษตรเป็นหลัก ดังนั้นการที่จีนตัดสินใจที่จะเลือกตอบโต้ด้วยสินค้าเกษตร จึงเป็นการพุ่งเป้าไปที่ฐานคะแนนเสียงทางการเมืองของนายโดนัลด์ ทรัมป์ โดยตรง

และสรุปว่า หมากเกมเตะตัดขาจีนของสหรัฐฯ ด้วยมาตรการเพิ่มภาษีสินค้าจีน แต่กลับถูกจีนตอบโต้กลับ โดยเฉพาะต่อสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ รวมทั้งกรณีที่บริษัทของสหรัฐฯ อาจต้องย้ายฐานการผลิตกลับสหรัฐฯ ตามนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ และต้องผลิตมาแข่งขันในตลาดโลกด้วยต้นทุนที่สูงกว่า แต่ถ้ายังคงผลิตในจีนก็คงต้องขายของแพงขึ้นจากกรณีการส่งเข้าไปจำหน่ายในสหรัฐฯ ซึ่งนอกจากจะสร้างปัญหาใหญ่ต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ แล้ว ยังจะกระทบต่อฐานเสียงทางการเมืองของรัฐบาลนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในขณะที่นักวิเคราะห์เห็นว่ามาตรการต่างๆ ที่ออกมานั้น ยังมีอีกหลายขั้นตอนและกว่าจะรู้ผลประมาณเดือนพฤษภาคม 2561 จึงยังมีเวลาในการเจรจาต่อรอง ก่อนที่จะตัดสินใจบังคับใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อมูลค่าส่งออกของไทยและทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศไทยลดลง แต่ไทยก็อาจได้ประโยชน์จากการส่งออกสินค้าไปยังจีนเพิ่มขึ้นในกลุ่มผลไม้ ถั่ว ธัญพืช และเนื้อหมู ซึ่งเป็นสินค้าเป้าหมายที่จีนจะขึ้นภาษีเพื่อตอบโต้สหรัฐฯ เช่นกัน

จริงๆ เกมนี้ยังไม่รู้ว่าจะจบลงอย่างไร แม้จะมีสัญญาจากทางสหรัฐอเมริกาไปยังองค์การการค้าโลกว่าพร้อมเจรจากับจีน ซึ่งเว็บไซต์ thai.china.com รายงานไว้เมื่อวันที่ 19 เมษายนว่า

องค์การการค้าโลกเปิดเผยเอกสารฉบับหนึ่งระบุว่า สหรัฐอเมริกาแจ้งกับองค์การการค้าโลกว่า ยินดีเจรจากับจีนในกรอบกลไกการแก้ไขข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก ในประเด็นที่สหรัฐฯ เพิ่มการจัดเก็บภาษีศุลกากรต่อผลิตภัณฑ์เหล็ก และอะลูมิเนียมที่นำเข้าตามผลการตรวจสอบมาตรา 232 และสหรัฐฯ จัดเก็บภาษีศุลกากรต่อสินค้าที่นำเข้าจากจีนตามผลการตรวจสอบมาตรา 301 ซึ่งเป็นไปตามระเบียบทั่วไปในการแก้ไขข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก

เอกสารฉบับดังกล่าวระบุว่า ถึงแม้สหรัฐฯ มีข้อจำกัดในการเจรจากับจีน แต่ก็ยินดีร่วมหารือกับจีน อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ เห็นว่า กลไกการแก้ไขข้อพิพาทขององค์การการค้าโลกไม่สามารถแก้ไขปัญหาภาษีศุลกากรที่เกี่ยวข้องกับ “ความมั่นคงแห่งชาติ” ได้

การเดินหมากที่ผิดพลาดในครั้งนี้ บวกกับการเปิดศึกหลายด้านพร้อมกัน และการยกเลิกความร่วมมือระหว่างประเทศหลายฉบับที่สหรัฐฯ เคยเปิดไว้ จนเกิดกระแสต่อต้านอย่างไม่เคยมีมาก่อน เป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่าโลกไม่ได้มีเพียงขั้วเดียวอีกต่อไป และอเมริกาไม่ได้เอกสิทธิ์เป็นมหาอำนาจแต่เพียงผู้เดียวในโลกอีกแล้ว การที่จะเอานโยบายภายในประเทศ “ชาวอเมริกันต้องมาก่อน” มาใช้กับบริบทของทั่วโลกย่อมเป็นไปไม่ได้

งานนี้ไม่รู้ว่าจะออกหัวและออกก้อย แต่ที่รู้ๆ คือ “ไม่มีผู้แพ้และผู้ชนะ” แน่นอน เพราะมีแต่จะทำให้เศรษฐกิจโลกเสื่อมถอยลงไปเรื่อยๆ จากการไม่เคารพกติกาสากลของสหรัฐอเมริกาเอง

-------------------------------
ข้อมูลจาก

http://thai.cri.cn/

http://thai.china.com/

https://www.facebook.com/NewSilkRoadMag/posts/2172327612998600

http://www.ditp.go.th/contents_attach/220442/220442.pdf