posttoday

"โสมแดง"ปลดนิวเคลียร์ยาก

23 เมษายน 2561

เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐหลายรายยังตั้งแง่ว่าถ้อยแถลงของคิมจองอึนอาจเป็นเพียงแค่ “ลมปาก” หรือเป็นกลยุทธ์ทางการเมือง

เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐหลายรายยังตั้งแง่ว่าถ้อยแถลงของคิมจองอึนอาจเป็นเพียงแค่ “ลมปาก” หรือเป็นกลยุทธ์ทางการเมือง

******************************

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

เมื่อปลายปี 2017 ที่ผ่านมา ความตึงเครียดในเวทีการเมืองโลกทวีความรุนแรงอย่างหนัก จากการทดลองขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ส่งผลให้เกิดความตื่นตัวถึงสงครามนิวเคลียร์ครั้งใหม่ ทว่านับตั้งแต่เริ่มต้นปีนี้มา ท่าทีของเกาหลีเหนือกลับเริ่มผ่อนปรนขึ้นต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการส่งนักกีฬาเข้าร่วมโอลิมปิกเกาหลีใต้ หรือการเดินหน้าสิ้นสุดสงครามเกาหลีอย่างเป็นทางการ จนเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี คิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ได้ประกาศปรับยุทธศาสตร์ชาติครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ ด้วยการระบุว่าจะ “ระงับการทดลองนิวเคลียร์และทดสอบยิงขีปนาวุธข้ามทวีป”

แม้ว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะได้รับเสียงสนับสนุนจากหลายประเทศ รวมถึงประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ แต่เอเอฟพีรายงานว่า นักวิเคราะห์และเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐหลายรายยังตั้งแง่ว่าถ้อยแถลงของคิมจองอึนอาจเป็นเพียงแค่ “ลมปาก” หรือเป็นกลยุทธ์ทางการเมือง ก่อนที่จะเข้าเจรจาปลดนิวเคลียร์กับประธานาธิบดี มุนแจอิน ของเกาหลีใต้ภายในสิ้นเดือนนี้และสหรัฐในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

“ทุกขั้นตอน (การปลดนิวเคลียร์) ที่คิมจองอึนแถลงนั้นสามารถพลิกกลับได้ และเป็นแค่เพียงคำมั่นสัญญาที่ไม่มีหลักฐานรองรับ” แฮรี่ คาเซียนิส ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านนโยบายความมั่นคงขององค์กรคลังสมอง ศูนย์กลางการศึกษาเพื่อผลประโยชน์ของชาติ ในสหรัฐ กล่าว พร้อมเสริมว่า คิมจองอึนอาจกลับมาเริ่มทดลองขีปนาวุธอีกครั้ง หากไม่ได้รับข้อตกลงการค้าที่ต้องการระหว่างการเจรจากับเกาหลีใต้และสหรัฐ

ด้านนิวยอร์กไทมส์รายงานอ้างแหล่งข่าวในรัฐบาลสหรัฐซึ่งให้ความเห็นว่า ความเคลื่อนไหวของคิมจองอึนเป็น “กับดัก” ที่เพิ่มอำนาจการต่อรองให้เกาหลีเหนือมีมากกว่าสหรัฐ ระหว่างการเจรจาของทรัมป์และคิมจองอึน โดยถ้อยแถลงดังกล่าวสามารถสร้างแรงจูงใจให้สหรัฐโอนอ่อนต่อเกาหลีเหนือ แต่ก็เป็นเพียงคำสัญญาที่ไม่มีอะไรรองรับ

"โสมแดง"ปลดนิวเคลียร์ยาก

หวั่นประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกาหลีเหนือประกาศจะปลดอาวุธนิวเคลียร์ โดยเกาหลีเหนือเคยบรรลุข้อตกลงปลดนิวเคลียร์ในช่วงยุคสมัยประธานาธิบดี 3 คนก่อนหน้าทรัมป์ แต่ก็ต่างต้องเผชิญความล้มเหลว

1994 - รัฐบาลประธานาธิบดี บิล คลินตัน ของสหรัฐ บรรลุข้อตกลงกับเกาหลีเหนือ โดยเปียงยางจะหยุดการสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์สำหรับผลิตอาวุธ 2 เครื่อง เพื่อแลกกับการให้วอชิงตันส่งมอบเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์สำหรับผลิตไฟฟ้า 2 เครื่อง และน้ำมัน 5 แสนตัน/ปี แต่ดีลดังกล่าวก็ล่มลงในปี 2003 โดยสหรัฐอ้างว่าเกาหลีเหนือยังแอบพัฒนานิวเคลียร์อยู่ พร้อมเลิกส่งมอบน้ำมันให้

2005 - เกาหลีเหนือประกาศจะลงนามข้อตกลงกับอีก 5 ชาติ ที่รวมถึงสหรัฐ เพื่อล้มเลิกพัฒนานิวเคลียร์ แลกกับผลประโยชน์ด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และพลังงาน แต่ภายหลังที่สหรัฐคว่ำบาตรธนาคารในจีนที่ทำการค้ากับเปียงยาง ก็ส่งผลกระทบต่อดีลดังกล่าวไปด้วย ขณะที่เปียงยางเริ่มทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ครั้งแรกในปี 2006

2007 - รัฐบาลประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช บรรลุข้อตกลงร่วมกับอีก 4 ชาติ ให้ความช่วยเหลือมูลค่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.2 หมื่นล้านบาท) กับเกาหลีเหนือ แลกกับการปิดโรงงานพัฒนานิวเคลียร์และให้ต่างชาติเข้าตรวจสอบ แต่เกาหลีเหนือกลับมาผลิตสารพลูโตเนียมสำหรับพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อีกครั้ง หลังบรรลุข้อตกลงไม่ถึงปี เนื่องจากสหรัฐไม่ได้นำเกาหลีเหนือออกจากรายชื่อประเทศสนับสนุนการก่อการร้าย

2012 - คิมจองอึน ที่เพิ่งรับตำแหน่งผู้นำเกาหลีเหนือได้หมาดๆ บรรลุข้อตกลงกับรัฐบาลประธานาธิบดี บารัก โอบามา โดยเกาหลีเหนือจะหยุดพัฒนานิวเคลียร์และทดลองขีปนาวุธ เพื่อแลกกับการช่วยเหลือด้านอาหาร แต่สหรัฐประกาศยุบดีลดังกล่าวภายในเวลาเพียง 2 เดือน หลังเกาหลีเหนือยิงจรวดแต่ล้มเหลว ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดข้อตกลง แม้ว่าเปียงยางจะอ้างว่า มีขึ้นเพื่อส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศเท่านั้น

ภาพ เอเอฟพี