posttoday

"ยูโรวิชั่น" การเมืองบนเวทีเพลง

22 เมษายน 2561

แม้ความตั้งใจของการจัดยูโรวิชั่น คือ การสร้างความบันเทิงและกระชับความสัมพันธ์ แต่ยูโรวิชั่นกลับกลายเป็นพื้นที่แสดงจุดยืนทางการเมืองและการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ

แม้ความตั้งใจของการจัดยูโรวิชั่น คือ การสร้างความบันเทิงและกระชับความสัมพันธ์ แต่ยูโรวิชั่นกลับกลายเป็นพื้นที่แสดงจุดยืนทางการเมืองและการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ

****************************

โดย...สุภีม ทองศรี

“ยูโรวิชั่น” การประกวดเพลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของยุโรปเป็นเวทีที่ก่อตั้งขึ้นมาด้วยจุดมุ่งหมายสร้างความสัมพันธ์อันดีภายในทวีป หลังจากเกิดแผลบอบช้ำจากสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยสหภาพการกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งยุโรป (อีบียู) เป็นผู้รับผิดชอบการจัดการแข่งขัน และการถ่ายทอดสดให้กับผู้ชมทั่วทั้งยุโรป

การประกวดเพลงรายการนี้มีต้นแบบมาจาก “ซานเรโม” หรือการประกวดเพลงของอิตาลี ซึ่งยังคงจัดมาจนถึงทุกวันนี้ และเป็นหนึ่งในรายการที่ได้รับความสนใจจากแฟนเพลงมากที่สุด เช่นเดียวกับ เมโลดีเฟสติวาเลน (เมลเฟสต์) การประกวดคัดเลือกตัวแทนของสวีเดน

แม้ความตั้งใจของการจัดยูโรวิชั่น คือ การสร้างความบันเทิงและกระชับความสัมพันธ์ แต่ยูโรวิชั่นกลับกลายเป็นพื้นที่แสดงจุดยืนทางการเมืองและการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะการประกวดในกรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส ในปี 2018 นี้

กระแสต่อต้านรัสเซีย

รัสเซียกลายเป็นชาติที่เจอกระแสต่อต้านมากที่สุดในยุโรปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่เว้นแม้แต่ในงานประกวดเพลง แม้ส่งนักร้องคุณภาพเข้าแข่งขัน

ตัวแทนของรัสเซียในปีนี้ คือ “ยูเลีย ซามอยโลวา” นักร้องคนพิการที่ต้องนั่งรถเข็น ซึ่งมาด้วยเพลง I won’t break ท่ามกลางการตั้งข้อสงสัยว่าเพลงนี้อาจมีนัยการเมืองแอบแฝง โดยซามอย โลวากลับมาประกวดยูโรวิชั่นอีกครั้ง หลังเคยได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนรัสเซียเมื่อปีที่แล้ว แต่เดินทางไปประกวดในยูเครนไม่ได้ เนื่องจากเจ้าภาพสั่งแบนหลังซามอยโลวา ด้วยเหตุว่าเธอเคยไปแสดงที่ไครเมีย หลังรัสเซียเข้าผนวกไครเมียของยูเครนในปี 2014

สำหรับในปีนี้ ซามอยโลวาก็ยังต้องเผชิญอุปสรรคหลายอย่าง ส่วนใหญ่มาจากอคติของพลเมืองยุโรปทั้งจากกรณีไครเมียก่อนหน้านี้ และการที่รัสเซียเข้าไปพัวพันกับสงครามตัวแทนในซีเรีย ยิ่งเติมเชื้อไฟแห่งอคติยิ่งขึ้นไปอีก จนส่งผลให้เอ็มวีเพลงของซามอยโลวามียอดดิสไลค์ (Dislike) สูงกว่ายอดไลค์ (Like) ทั้งที่โดยปกติแล้ว ยอดไลค์วิดีโอยูโรวิชั่นมักจะสูงกว่ายอดดิสไลค์

ปัญหาผู้อพยพยังมาแรง

แม้ชาวยุโรปบางส่วนมองว่าผู้อพยพเป็นส่วนหนึ่งที่ทำลายความสงบสุขแต่อิตาลีและฝรั่งเศส ซึ่งเป็น 2 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากประเด็นนี้มากที่สุดกลับส่งเพลงที่มีเนื้อหาเชิงเห็นอก เห็นใจเรื่องผู้อพยพเข้ามาชิงชัยในการประกวด

ตัวแทนของอิตาลีในปีนี้ คือ แอร์มัล เมตา และฟาบริซิโอ โมโร นักร้องดังชื่อดัง 2 คนในประเทศ โดยเพลงที่ทั้งคู่ใช้ในการประกวดครั้งนี้ “คล้ายคลึง” กับเพลงที่เคยใช้จนชนะการประกวดที่อิตาลีเมื่อปี 2016 ที่นักวิจารณ์จำนวนมากมองว่าเพลงดังกล่าวชนะเพราะ “ประเด็นทางการเมือง” มากกว่าเหตุผลด้านดนตรี โดยเพลงดังกล่าวมีเนื้อหาต่อต้านก่อการร้ายและวอนให้ยุติสงคราม ซึ่งเป็นตัวการทำให้ผู้อพยพไหลทะลักเข้ายุโรป

ขณะที่ฝรั่งเศสส่งคู่ดูโอ “มาดามเมอซิเยอร์” มาเป็นตัวแทนในปีนี้ ซึ่งชนะการคัดเลือกในประเทศด้วยบทเพลงถ่ายทอดเรื่องราวของ เมอร์ซี ทารกน้อยชาวไนจีเรียที่ลืมตาดูโลกขึ้นในเรือของผู้อพยพเมื่อเดือน มี.ค. 2017 และกลายเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก โดยเพลงนี้นับว่าเป็นเพลงที่มีเนื้อหาเห็นอกเห็นใจผู้อพยพ และอาจดูย้อนแย้งกับความคิดของคนฝรั่งเศสบางส่วน แต่ดูโอคู่นี้ก็ชนะด้วยคะแนนเทเลโหวตจากผู้ชมทางบ้าน แม้ได้เพียงอันดับ 3 ฝั่งคะแนนจากคณะกรรมการ

#MeToo และ LGBT

กระแส #MeToo ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศและกำลังแพร่หลายไปทั่วโลก กลายเป็นประเด็นในการประกวดยูโรวิชั่นปีนี้ด้วยเช่นกัน โดยเพลงของ เน็ตตา บาร์ซิไล ตัวแทนอิสราเอล มุ่งนำเสนอสิทธิสตรีและได้รับแรงบันดาลใจจากกระแส #MeToo เช่นเดียวกับเจสซิกา เมาบอย ตัวแทนออสเตรเลียที่เตรียมนำบทเพลงสนับสนุนสตรีขึ้นประกวดในลิสบอน

ขณะเดียวกัน ผู้เข้าแข่งขันอีกจำนวนไม่น้อยเลือกนำเสนอเพลงที่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ(แอลจีบีที) โดยปีนี้ มิวสิกวิดีโอเพลงของ ไรอันโอช็อกเนสซี ตัวแทนไอร์แลนด์ มีเนื้อหาสื่อถึงความรักของผู้ชาย2 คน และทำให้รัสเซียขู่แบนออกอากาศภายในประเทศหากเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ ด้าน ซารา อัลโต ตัวแทนจากฟินแลนด์ยังประกาศตัวเป็นเลสเบี้ยนด้วยเช่นกัน

ส่วนเมื่อไม่นานนี้ คอนชิตา วูร์สต์ แดร็กควีน อดีตแชมป์ยูโรวิชั่นปี 2014 และกลายเป็นไอคอนของกลุ่มแอลจีบีที ออกมาประกาศว่าเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี หลังจากแฟนเก่าขู่เปิดเผยเรื่องนี้ พร้อมกับแสดงความหวังว่าการประกาศครั้งนี้จะช่วยให้สังคมเลิกรังเกียจผู้ติดเชื้อ