posttoday

จีนตั้ง "โซเชียลเครดิต" ลุยจัดระเบียบสังคม

20 เมษายน 2561

จีนงัดระบบจัดอันดับเครดิตทางสังคมคุมพฤติกรรมประชาชน พร้อมเผย 6 มาตรการจัดการผู้ที่มีคะแนนเครดิตต่ำ

จีนงัดระบบจัดอันดับเครดิตทางสังคมคุมพฤติกรรมประชาชน พร้อมเผย 6 มาตรการจัดการผู้ที่มีคะแนนเครดิตต่ำ

*****************************

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

ระบบการจัดอันดับเครดิตนั้นถือว่าเป็นระบบที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศ สำหรับให้สถาบันการเงินใช้วัดอันดับความเชื่อถือของลูกค้าว่าจะสามารถชำระหนี้ได้หรือไม่ ทว่าสำหรับในประเทศ “จีน” นั้นยังได้นำคอนเซ็ปต์ดังกล่าวมาพัฒนาอีกขั้นเป็น “ระบบจัดอันดับเครดิตทางสังคม” (Social Credit System) หรือการเก็บรวบรวมข้อมูลความประพฤติของประชากรทุกคนไว้ในบิ๊กดาต้า โดยหากประพฤติแย่ก็จะได้คะแนนติดลบ

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวถูกเปิดเผยสู่สาธารณะครั้งแรกในปี 2014 โดยรัฐบาลอ้างว่ามีขึ้นเพื่อผลักดันความไว้เนื้อเชื่อใจกันในสังคม และจะใช้ระบบดังกล่าวอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2020 ขณะที่มีการเริ่มใช้ไปแล้วในบางพื้นที่ โดยมีรัฐบาลท้องถิ่นคอยควบคุม โดยสำนักข่าวบิซิเนส อินไซเดอร์ ได้รวบรวม 6 มาตรการจัดการ ดังนี้

1.ห้ามซื้อตั๋วเครื่องบินและรถไฟ

คณะกรรมการปฏิรูปและพัฒนาแห่งชาติของจีน (เอ็นดีอาร์ซี) เปิดเผยเมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า ได้บล็อกไม่ให้ประชาชนกว่า 9 ล้านคน ซึ่งมีคะแนนเครดิตทางสังคมต่ำซื้อตั๋วเครื่องบิน และไม่ให้คนอีกกว่า 3 ล้านคน ซื้อตั๋วรถไฟชั้นบิซิเนส หรือเฟิสต์คลาส ทั้งนี้การห้ามซื้อตั๋วเครื่องบินและรถไฟดังกล่าวมีขึ้นเพื่อลงโทษผู้โดยสารที่มีพฤติกรรมย่ำแย่โดยเฉพาะ อาทิ เคยพยายามขึ้นรถไฟแต่ไม่ซื้อตั๋ว ยืนเกะกะทางเข้า หรือสูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบ

2.ลดความเร็วอินเทอร์เน็ต

เรเชล บอตส์แมน ผู้สื่อข่าวเทคโนโลยีจากเว็บไซต์ Wired รายงานว่า รัฐบาลจะลดความเร็วอินเทอร์เน็ตของประชากรที่อันดับเครดิตสังคมต่ำ แต่รายงานไม่ได้ระบุหลักฐานและการบังคับใช้ที่แน่ชัดแต่อย่างใด ขณะที่เว็บไซต์ฟอเรนโพลิซี เปิดเผยว่า รัฐบาลจีนได้สอดส่องพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของประชากรเพื่อจัดอันดับเครดิตสังคม โดยพฤติกรรมที่เข้าข่าย ได้แก่ ชำระหนี้ล่าช้า เล่นวิดีโอเกมนานเกินไป ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย และแพร่ข่าวลวง โดยเฉพาะข่าวลวงเกี่ยวกับก่อการร้าย ที่จะถูกหักคะแนนหนักเป็นพิเศษ

3.กันไม่ให้ได้รับการศึกษาระดับสูง

สำนักข่าวปักกิ่งนิวส์ รายงานเมื่อวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลได้กีดกันไม่ให้ผู้ชายจำนวน 17 คน ที่หลบหนีการเกณฑ์ทหาร จนถูกหักคะแนนเครดิตสังคม เข้ารับการศึกษาในระดับมัธยมและระดับอุดมศึกษาต่อ ขณะที่ บอตส์แมน ระบุว่า รัฐบาลยังจะกีดกันไม่ให้บุตรของประชาชนที่เครดิตต่ำเรียนในโรงเรียนเอกชนที่มีค่าเล่าเรียนสูงอีกด้วย แต่ยังไม่แน่ชัดว่าได้เริ่มบังคับใช้มาตรการดังกล่าวหรือไม่

4.ไม่รับเข้าทำงาน

บรรดา “ผู้ที่ทำลายความเชื่อมั่นของรัฐบาล” จะไม่สามารถเข้าทำงานเกี่ยวกับด้านการบริหารในรัฐวิสาหกิจหรือธนาคารใหญ่ได้ โดย บอตส์แมน เสริมว่า การกระทำความผิด อาทิ การฉ้อโกงและการยักยอกเงิน จะส่งผลให้คะแนนเครดิตสังคมของผู้กระทำความผิดลดลงอย่างหนัก

5.พังแผนท่องเที่ยว

นอกเหนือจากไม่สามารถเข้าศึกษาในระดับสูงได้แล้ว ประชาชนที่หลบหนีการเกณฑ์ทหารยังจะถูกรัฐบาลกีดกันไม่ให้เข้าถึงสถานที่ท่องเที่ยวบางแห่ง หรือการเข้าพักตามโรงแรมบางแห่งอีกด้วย

6.ถูกประจาน

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลจีนได้จัดทำแบล็กลิสต์ผู้ที่มีคะแนนเครดิตสังคมต่ำฉบับต้นแบบขึ้นมาแล้ว โดยรายชื่อดังกล่าวยังรวมถึงข้อมูลเลขบัตรประชาชนและบริษัทที่ทำงานอยู่ โดยแม้จะยังไม่แน่ชัดว่าจะออกฉบับสมบูรณ์มาบังคับใช้เมื่อไหร่ แต่ประชาชนในรายชื่อดังกล่าวก็เริ่มได้รับผลกระทบแล้ว โดยในปี 2016 รัฐบาลได้แถลงสนับสนุนให้บรรดาบริษัทในประเทศตรวจสอบชื่อผู้สมัครเข้าทำงานกับแบล็กลิสต์ก่อนจะตัดสินใจจ้างงาน

สำหรับผู้ที่เข้าข่ายจะถูกรวมอยู่ในแบล็กลิสต์ดังกล่าว จะได้รับการแจ้งเตือนจากศาลรัฐบาลกลางก่อนที่จะถูกใส่ในแบล็กลิสต์ และสามารถยื่นอุทธรณ์การตัดสินของรัฐดังกล่าวภายใน 10 วัน นับตั้งแต่ได้รับการแจ้งเตือน

คนดีต้องมีที่ยืน

ขณะที่รัฐบาลจะมีมาตรการลงโทษผู้มีคะแนนเครดิตต่ำที่ค่อนข้างรุนแรง พลเมืองชั้นดีหรือผู้ที่มีคะแนนเครดิตสังคมสูงจะได้รับสิทธิประโยชน์จำนวนมาก โดย บอตส์แมน ระบุว่า พลเมืองชั้นดีไม่จำเป็นต้องใช้เอกสารบางอย่าง อาทิ เอกสารยืนยันการจ้างงาน สำหรับการขอวีซ่าไปสิงคโปร์ และยังสามารถลัดคิวระหว่างการยื่นเรื่องขอวีซ่าเชงเก้นไปยังยุโรป

ด้านเว็บไซต์ฟอเรนโพลิซีได้เปิดเผยว่า รัฐบาลท้องถิ่นเมืองหยงเฉิงทางตะวันออกของจีน ได้เริ่มใช้ระบบเครดิตสังคมแล้ว โดยพลเมืองชั้นดีจะได้รับสิทธิพิเศษจำนวนมาก อาทิ ส่วนลดค่าสาธารณูปโภค กู้ยืมสินค้าบางชนิดได้โดยไม่ต้องวางมัดจำ และได้ดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงกว่าคนทั่วไป

ก่อนหน้านี้ บีบีซีรายงานอ้างหญิงชาวจีนรายหนึ่งซึ่งมีคะแนนเครดิตสังคมสูงว่า เมื่อปี 2015 หญิงรายนี้สามารถจองโรงแรมแห่งหนึ่งในจีนได้โดยไม่ต้องวางมัดจำ

บีบีซียังเสริมว่า เว็บไซต์ไป่เฮ่อ ซึ่งเป็นเว็บไซต์จัดหาคู่ใหญ่ที่สุดของจีน ก็พยายามโปรโมทโปรไฟล์ของชายหรือหญิงพลเมืองชั้นดีบนหน้าเว็บไซต์ เพื่อเพิ่มโอกาสที่ผู้เข้าชมคนอื่นๆ จะสามารถมองเห็นได้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี แม้ว่าระบบจัดอันดับดังกล่าวจะได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดย บอตส์แมน ระบุว่า เปรียบเสมือนมโนภาพการควบคุมเบ็ดเสร็จภายใต้อุ้งมือของ “บิ๊ก บราเธอร์” แต่ประชาชนบางรายในประเทศกลับยืนยันว่า ระบบดังกล่าวช่วยให้สภาพสังคมในประเทศพัฒนาขึ้น

“ผมรู้สึกว่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา พฤติกรรมของผู้คนพัฒนาขึ้น เช่น เมื่อเราขับรถ เราเริ่มหยุดให้คนข้ามทางม้าลาย เพราะถ้าคุณไม่หยุดรถ คุณก็จะเสียแต้ม และแม้ว่าในช่วงแรกๆ คุณจะมัวกังวลเรื่องเสียแต้มเครดิต แต่ในที่สุดคุณก็จะชินกับมันไปเอง” ชาวจีนรายหนึ่งที่ใช้นามสมมติว่า เฉิน กล่าวกับฟอเรนโพลิซี