posttoday

โลกลุ้นระทึกคนงานเหมืองชิลีทยอยขึ้นจากหลุม

14 ตุลาคม 2553

รอยยิ้ม คราบน้ำตาและเสียงเชียร์จะคละเคล้ากันไปตลอด 2 วัน ขณะที่ทีมช่วยชีวิตกำลังดึงคนงานเหมือง 33 ชีวิตออกมาพบกับอากาศที่บริสุทธิ์และอิสรภาพอีกครั้ง ทีละคนๆ

รอยยิ้ม คราบน้ำตาและเสียงเชียร์จะคละเคล้ากันไปตลอด 2 วัน ขณะที่ทีมช่วยชีวิตกำลังดึงคนงานเหมือง 33 ชีวิตออกมาพบกับอากาศที่บริสุทธิ์และอิสรภาพอีกครั้ง ทีละคนๆ

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

 

โลกลุ้นระทึกคนงานเหมืองชิลีทยอยขึ้นจากหลุม

รอยยิ้ม คราบน้ำตาและเสียงเชียร์จะคละเคล้ากันไปตลอด 2 วัน ขณะที่ทีมช่วยชีวิตกำลังดึงคนงานเหมือง 33 ชีวิตออกมาพบกับอากาศที่บริสุทธิ์และอิสรภาพอีกครั้ง ทีละคนๆ

‘ชิ! ชิ! ชิ! ลี! ลี! ลี!’ เสียงกู่ร้องชื่อประเทศดังก้อง แข่งกับเสียงปรบมือที่ดังกระหึ่ม เมื่อเวลา 12.04 น. ตามเวลาท้องถิ่น ขณะที่ ฟลอเรนซิโอ อวารอส คนงานเหมืองวัย 31 ปี คนแรก ที่ต้องเสี่ยงเผชิญกับนาทีชีวิตในช่วงขั้นตอนสุดท้ายของการช่วยเหลือก้าวออกจากแคปซูลฟินิกซ์ด้วยรอยยิ้ม และโผเข้าสวมกอดภรรยาและลูกชายวัย 7 ขวบ ที่อยู่ในอาการบ่อน้ำตาแตกเป็นอย่างแรก ก่อนที่จะได้รับอ้อมกอดจากประธานาธิบดีเซบาสเตียน พิเนเร ของชิลี

การปรากฏตัวขึ้นมาจากใต้ดินเป็นคนแรกไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่อวารอสได้รับการคัดเลือก เพราะเป็นผู้ที่มีความสมบูรณ์ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ

ทั้งนี้ ในพื้นที่เหมืองซานโฮเซนี้ มีผู้สื่อข่าวรอรายงานเหตุการณ์ครั้งสำคัญนี้อยู่ถึงราว 1,500 คน จาก 39 ประเทศ

อีกราว 1 ชั่วโมงต่อมา มาริโอ เซพูลเวดา เอสพินา คนงานชาวชิลีคนที่สอง ซึ่งแม้จะติดอยู่ใต้ดินถึง 69 วัน แต่ก็ไม่ได้ลดอารมณ์ขันที่มีในตัวลง

เซพูลเวดา สร้างความคึกคักให้กับผู้เฝ้ารอมากที่สุด โดยเปล่งเสียงตะโกนด้วยความยินดี ก่อนที่ทุกคนจะได้เห็นตัวเซพูลเวดาขึ้นมาพร้อมก้อนหินจากที่พักใต้ดินเป็นของที่ระลึกให้กับภรรยา ก่อนที่กระโดดไปมาเพื่อพิสูจน์ความแข็งแรงต่อหน้าทีมแพทย์

“ผมว่าผมโชคดีมาก ผมอยู่กับพระเจ้าและปีศาจ และแล้วพระเจ้าก็พาผมออกมา” เซพูลเวดา กล่าวในระหว่างที่อยู่ในห้องสัมภาษณ์พิเศษ ซึ่งทางรัฐบาลชิลีจัดไว้ให้กับทุกคน

ตามมาด้วย ฮวน อัลลาเนส และคาลอส มามานิ ชาวโบลิเวียหนึ่งเดียวที่ติดอยู่ใต้ดิน ซึ่งตามกำหนดการประธานาธิบดีโบลิเวียจะเดินทางมาพบเป็นการส่วนตัวในวันพุธ ต่อด้วย จิมมี ซานเชซ คุณพ่อลูกหนึ่งวัย 19 ปี เป็นคนที่ 5 ซึ่งเป็นผู้ที่อายุน้อยที่สุด

การช่วยเหลือเป็นไปได้อย่างที่วางแผนไว้ โดยแต่ละคนจะใช้เวลาเฉลี่ยราว 1 ชั่วโมง ซึ่งก่อนที่จะเริ่มต้นช่วยรายต่อไป ทีมงานก็หยุดเพื่อใส่น้ำมันหล่อลื่นบริเวณวงล้อที่ติดอยู่บริเวณหัวและท้ายของแคปซูลฟินิกซ์ เพื่อให้วงล้อซึ่งต้องไต่ไปกับชั้นหินมีความลื่นไหล ช่วยให้การชักรอกเป็นไปอย่างราบรื่น และเกิดแรงกระเทือนกับชั้นหินน้อยที่สุด

 

โลกลุ้นระทึกคนงานเหมืองชิลีทยอยขึ้นจากหลุม

ออสแมน อิสิโดร อริยา เป็นคนที่ 6 และโจเซ โอเจดา ที่เพิ่งฉลองวันเกิดครบรอบ 47 ปี เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาเป็นคนที่ 7

ส่วน มาริโอ โกเมซ วัย 63 ปี ผู้ที่มีอายุมากที่สุดปรากฏขึ้นมาเป็นคนที่ 9 พร้อมคุกเข่าและโค้งคำนับขอบคุณพระเจ้า ก่อนที่ผู้เป็นภรรยาจะเข้ามาดึงตัวขึ้นและสวมกอด

โกเมซ มีภาวะของโรคซิลิโคสิส โรคปอดชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการหายใจเอาฝุ่นทรายเอาไปเป็นจำนวนมาก และเป็นโรคที่พบบ่อยครั้งกับผู้ที่ทำงานเหมือง

ท่ามกลางความยินดีของครอบครัว ญาติพี่น้อง เหตุการณ์นี้ก็ยังสร้างความสนุกสนานรื่นเริงให้กับชาวชิลีทั่วทั้งประเทศด้วย

ในซันติอาโก เมืองหลวงของชิลี เสียงของแตรรถจักรยานยนต์ดังขึ้นพร้อมกัน เพื่อเป็นการต้อนรับการกลับมาของทุกชีวิตคนงานเหมือง หลังจากเกิดเหตุหินน้ำหนักกว่า 7 แสนตัน พังทลายปิดปากทางเข้าออกฝังคนงานเหมืองไว้ใต้ดินตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา

รวมทั้งในเมืองอื่นๆ ใกล้เคียง นายกเทศมนตรีได้มีการประกาศปิดโรงเรียน เพื่อให้เด็กๆ และครอบครัวได้ติดตามการใช้ชีวิตครั้งนี้

นอกจากนี้ เกือบทุกช่องจากทั้งอเมริกาเหนือไปจนถึงฝั่งยุโรปและตะวันออกกลางร่วมรายงานความเคลื่อนไหวครั้งนี้

สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ก็เป็นหนึ่งในผู้ร่วมติดตามข่าวครั้งนี้ กระทั่งสถานีโทรทัศน์ภาพภาษาอังกฤษในอิหร่าน ก็รวมถ่ายทอดสดด้วยเช่นกัน ก่อนที่จะตัดเข้าสู่การรายงานการเดินทางเยือนประเทศเลบานอนเป็นครั้งแรกของประธานาธิบดีมาห์มูด อาห์มาดินจัด แห่งอิหร่าน

ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมว่าอุบัติเหตุครั้งประวัติศาสตร์ที่โลกต้องจารึกนี้ เป็นบทเรียนถึงความปลอดภัยของคนงานเหมืองทุกชีวิต

เซพูลเวดา กล่าววิจารณ์ถึงการ บริหารจัดการเหมืองทันทีว่า ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งผู้นำชิลีก็ยืนยันในเรื่องนี้เช่นกัน

“เหมืองนี้มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานในเรื่องอุบัติเหตุ และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมเหมืองนี้จะไม่มีการเปิดทำการอีก ถ้ายังไม่มีการรับรองหรือยืนยันถึงความสมบูรณ์ ปลอดภัย และทุกชีวิตของทุกคนที่ทำงานอยู่ที่นี่ต้องได้รับการคุ้มครอง และสิ่งนี้จะต้องเกิดขึ้นกับเหมืองทุกแห่งในประเทศ” ผู้นำชิลี กล่าว

การทำเหมืองแร่เป็นเหมือนกับเลือดที่หล่อเลี้ยงชีวิตประเทศชิลี โดยคิดสัดส่วนราว 40% ของรายได้ของรัฐ

กระบวนการต่อไปหลังจากออกมาจากใต้ดินที่ลึกราว 622 เมตร พอๆ กับการนำเอาหอไอเฟลของฝรั่งเศสมาต่อกัน 2 ชั้น แล้วทุกคนต้องตรวจสุขภาพเป็นเวลา 2 ชั่วโมงในโรงพยาบาลภายในเหมืองดังกล่าว สำหรับผู้ที่มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงดี จะมีโอกาสได้พบปะและพูดคุยกับครอบครัวเล็กน้อย ก่อนที่จะขึ้นเฮลิคอปเตอร์ส่งต่อไปไปยังโรงพยาบาลในเมืองโคเปียโป ซึ่งใช้เวลาราว 15 นาที