posttoday

"สงคราม7 ปีซีเรีย" จบยาก

16 เมษายน 2561

แม้เป็นการส่งสัญญาณว่าจะไม่ทนกับการใช้อาวุธเคมี แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้เป็นการหยุดสงครามกลางเมือง ที่เป็นต้นตอปัญหา

แม้เป็นการส่งสัญญาณว่าจะไม่ทนกับการใช้อาวุธเคมี แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้เป็นการหยุดสงครามกลางเมือง ที่เป็นต้นตอปัญหา

******************************

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

“ภารกิจเสร็จสิ้นแล้ว” ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ประกาศชัยชนะเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังออกคำสั่งให้กองทัพสหรัฐเข้าร่วมกับสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส เปิดฉากยิงขีปนาวุธนับร้อยลูกถล่มอาคาร 3 แห่งที่อ้างว่าเกี่ยวกับการผลิตหรือเก็บอาวุธเคมีเมื่อวันที่ 14 เม.ย. พร้อมขู่ว่าหากซีเรียไม่หยุดพัฒนาและใช้อาวุธเคมี ก็จะโจมตีอีกระลอกตามมา

แม้ปฏิบัติการดังกล่าวจะได้รับเสียงสนับสนุนจากหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่นและเยอรมนี ที่เห็นด้วยกับการตอบโต้ซีเรียที่ใช้อาวุธเคมีสังหารกลุ่มกบฏและประชาชน แต่รอยเตอร์สและนิวยอร์กไทมส์รายงานว่า สหรัฐยังขาดมาตรการที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพกว่าการยิงมิสไซล์ถล่ม ในการหยุดสงครามกลางเมืองซีเรียที่ยืดเยื้อมาถึง 7 ปี

การถล่มซีเรียครั้งล่าสุดนั้น แม้เป็นการส่งสัญญาณว่าจะไม่ทนกับการใช้อาวุธเคมี แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้เป็นการหยุดสงครามกลางเมือง ที่เป็นต้นตอปัญหา ขณะที่ตัวทรัมป์เอง ที่หยิบยกประเด็นด้านมนุษยธรรมมาเป็นเหตุผลในการถล่มซีเรีย กลับผลักดันนโยบายกีดกันผู้ลี้ภัยจากซีเรียเสียด้วยซ้ำ

โนอาห์ ก็อตส์ชอก จากสถาบันอ็อกซ์แฟม ระบุว่า การที่ประชาชนในซีเรียยังคงตกเป็นเหยื่อของสงครามที่ดำเนินอยู่ต่อเนื่องบ่งชี้ว่า สหรัฐต้องเร่งเข้าช่วยเหลือ แต่รัฐบาลทรัมป์กลับยังไม่มีมาตรการที่จะช่วยเหลือเหยื่อเหล่านั้นได้จริง อีกทั้งยังปิดประตูการเข้าช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมกับผู้ลี้ภัย

อย่างไรก็ดี วอชิงตันโพสต์รายงานว่า แม้รัฐบาลประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย จะกล่าวประณามการโจมตี แต่รัสเซียจะไม่มีมาตรการตอบโต้ทางการทหารกลับ เนื่องจากขีปนาวุธไม่ได้กระทบความตั้งใจรัสเซียที่จะควบคุมสงครามกลางเมืองซีเรียอยู่ฉากหลัง เพื่อขยายอิทธิพลทางการเมืองแต่อย่างใด

"สงคราม7 ปีซีเรีย" จบยาก

ยูเอ็นเหลวไร้ทางออก

ด้านที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ได้ลงมติไม่ผ่านความเห็นชอบร่างของรัสเซีย ที่เสนอให้ยูเอ็นเอสซีออกแถลงการณ์ร่วมประณามการโจมตีซีเรีย เนื่องจากไม่ได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอ โดยมีแค่รัสเซีย จีน และโบลิเวียจาก 15 ชาติสมาชิกเท่านั้น ที่โหวตรับรองร่างดังกล่าว

ขณะเดียวกัน 3 ชาติพันธมิตรถล่มซีเรียเองก็ได้ร่างมติร่วมผลักดันเข้าโหวตในที่ประชุมยูเอ็นเอสซี โดยเรียกร้องให้เริ่มการสืบสวนการใช้อาวุธเคมีของรัฐบาลซีเรีย พร้อมให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับประชาชน เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดยิงกลุ่มกบฏและเริ่มขั้นตอนเจรจาสันติภาพ โดยมียูเอ็นเข้าช่วยไกล่เกลี่ย ซึ่งร่างดังกล่าวจะมอบอำนาจให้องค์การห้ามอาวุธเคมี (โอพีซีดับเบิ้ลยู)ตรวจสอบการใช้อาวุธเคมีในซีเรียและรายงานผลต่อยูเอ็นภายใน 30 วัน หลังเริ่มอนุมัติ แต่ยังไม่แน่ชัดว่ารัสเซียจะใช้สิทธิวีโต้หรือไม่

"สงคราม7 ปีซีเรีย" จบยาก

โลกประณามถล่มไร้ขื่อแป

การโจมตีซีเรียยังปลุกเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายต่อต้านสงครามในสหรัฐ สหราชอาณาจักร และในยุโรป โดยมีการเดินขบวนไปยังหน้าทำเนียบขาวสหรัฐเพื่อเรียกร้องให้หยุดการโจมตีซีเรีย ขณะที่ผู้ประท้วงหลายพันคนเดินขบวนไปยังหน้าสถานทูตสหรัฐในกรุงเอเธนส์ของกรีซ พร้อมตะโกนประณามรัฐบาลสหรัฐ

นอกจากนี้ ผู้นำของ 3 ชาติพันธมิตรก็ถูกตั้งคำถามถึงขอบเขตอำนาจในการตัดสินใจถล่มซีเรีย เนื่องจากยังไม่ได้รับการเห็นชอบจากรัฐสภา โดย เจเรมี คอร์บิน ผู้นำพรรคฝ่ายค้านกล่าวโจมตี นายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ แห่งสหราชอาณาจักร ในกรณีดังกล่าว ขณะที่ทรัมป์เองก็ถูกฝ่ายค้านโจมตีเช่นกัน

"สงคราม7 ปีซีเรีย" จบยาก

ถล่มซีเรียสะท้านเอเชีย

การตัดสินใจถล่มซีเรียของทั้ง 3 ชาติ ยังอาจกระทบต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐในเอเชีย โดยนิกเกอิ เอเชียนรีวิว รายงานว่า ปฏิบัติการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อทิศทางของการเจรจาระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ และคิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ กรณีให้เกาหลีเหนือปลดโครงการนิวเคลียร์ ที่คาดว่าจะจัดขึ้นช่วงเดือน พ.ค-มิ.ย.ที่จะถึงนี้

“เหตุโจมตีล่าสุดกดดันเกาหลีเหนือ โดยแสดงให้เห็นว่าสหรัฐพร้อมใช้มาตรการทางทหาร แต่อย่างไรก็ตามมาตรการของสหรัฐก็จำกัดแค่การใช้ขีปนาวุธถล่ม ดังนั้นแม้การบอมบ์ซีเรียจะเพิ่มอำนาจต่อรองของสหรัฐกับเกาหลีเหนือ แต่อิทธิพลของสหรัฐก็มีจำกัดอยู่ดี” ชินบอมชอล นักวิเคราะห์จากสถาบันอาซานสำหรับการศึกษานโยบายการเมืองในเกาหลีใต้ ระบุ

นอกจากนี้ การถล่มซีเรียย่อมส่งผลต่อการเจรจาของทั้ง 6 ชาติ ได้แก่ 2 เกาหลี ญี่ปุ่น สหรัฐ จีน และรัสเซีย เนื่องจากความสัมพันธ์สหรัฐและรัสเซียที่ย่ำแย่ลง โดย อิตสึโนริ โอโนเดระรัฐมนตรีกลาโหมญี่ปุ่น ระบุว่า จะศึกษาผลกระทบของความสัมพันธ์สหรัฐและรัสเซีย ที่อาจมีต่อสถานการณ์ระหว่างประเทศกับเกาหลีเหนือ

ภาพเอเอฟพี