posttoday

หรี่แสงอาทิตย์ลดโลกร้อน

05 เมษายน 2561

คิดได้ไง! นักวิทย์หาทางลดความแรงแสงอาทิตย์ หวังบรรเทาโลกร้อน

คิดได้ไง! นักวิทย์หาทางลดความแรงแสงอาทิตย์ หวังบรรเทาโลกร้อน

นักวิทยาศาสตร์ในประเทศกำลังพัฒนาเตรียมเดินหน้างานวิจัยเพื่อลดความร้อนแรงของแสงอาทิตย์ เพื่อขจัดปัญหาภาวะโลกร้อน เพื่อชี้ให้เห็นว่าสารเคมีที่ใช้บดบังแสงแดดมีความเสี่ยงน้อยกว่าหายนะที่เกิดจากภาวะโลกร้อนที่เราเผชิญอยู่

แม้ว่าปัจจุบันนี้กลุ่มประเทศร่ำรวยและมหาวิทยาลัยชั้นนำ อาทิ ม.ฮาร์วาร์ด และ ม.ออกซฟอร์ด กำลังวิจัยเกี่ยวกับการจัดการปัญหาโลกร้อนด้วยการแทรกแซงระบบภูมิอากาศของโลกในระดับมหึมา (solar geo-engineer) ซึ่งเป็นการจำลองการระเบิดของภูเขาไฟขนาดใหญ่ เพื่อให้เถ้าถ่านภูเขาไฟปกคลุมดวงอาทิตย์เพื่อให้อุณหภูมิของโลกลดลง

อย่างไรก็ดี นักวิชาการในประเทศกำลังพัฒนา อาทิ บังกลาเทศ บราซิล จีน เอธิโอเปีย อินเดีย จาเมกา รวมถึงประเทศไทย ได้เขียนบทความลงในวารสาร Nature ระบุว่า กลุ่มประเทศยากจนมีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุด และควรมีส่วนในการแก้ปัญหาดังกล่าว ทั้งยังเรียกร้องให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเป็นผู้นำในการวิจัยการจัดการปัญหาโลกร้อน

อาทีค เราะห์มาน หัวหน้าสถาบันเพื่อการศึกษาขั้นสูงของบังกลาเทศ และหัวหน้าการวิจัย เผยว่า พวกเขาได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการจัดการแสงอาทิตย์ (SRMGI) ซึ่งมีมูลนิธิ Open Philanthropy Project ของ ดัสติน มอสโควิซ ผู้ร่วมก่อตั้งเฟซบุ๊ค เป็นทุนสำหรับให้นักวิทยาศาสตร์ในประเทศกำลังพัฒนานำไปศึกษาผลกระทบของการแทรกแซงสภาพภูมิอากาศต่อสภาวะความแห้งแล้ง น้ำท่วม และมรสุมในภูมิภาค

นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ได้เสนอแนะให้นำเครื่องบินขึ้นบินเพื่อโปรยอนุภาคซัลเฟอร์ในชั้นบรรยากาศของโลก เพื่อสะท้อนแสงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลก อย่างไรก็ดี บทความใน Nature ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบถึงผลกระทบของวิธีดังกล่าว ซึ่งอาจส่งผลดีหรืออาจเป็นอันตรายยิ่งก็ได้ สอดคล้องกับร่างรายงานเกี่ยวกับสภาวะโลกร้อนขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งจะตีพิมพ์ในเดือน ต.ค.นี้ ที่ตั้งข้อสังเกตว่า การแทรกแซงภูมิอากาศโลกอาจเป็นไปไม่ได้ ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ สังคม และระบบต่างๆ

นอกจากนี้ ร่างขององค์การสหประชาชาติยังระบุว่า โครงการนี้อาจกระทบกับรูปแบบของสภาพอากาศ ซึ่งหากเกิดขึ้นแล้วก็ยากหยุดยั้ง อีกทั้งบรรดาประเทศทั้งหลายอาจไม่พยายามเปลี่ยนการใช้พลังงานฟอสซิลมาเป็นพลังงานสะอาด เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นตัวการทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น

ขณะที่เราะห์มานเผยว่า ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ล้มเหลวไม่เป็นท่าในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพียงเท่านี้ก็ยิ่งทำให้วิธีการที่หลายคนมองว่าหลุดโลกนี้ดูน่าสนใจขึ้นมาทันที

ภาพ : เอเอฟพี