posttoday

อาเซียนรวมใจ ต่อต้านฝรั่งหยาม "เรินดัง"

04 เมษายน 2561

ชาติอาเซียนผนึกกำลังสวนกลับ กรรมการรายการแข่งทำอาหารชาวอังกฤษที่ปรามาสอาหารประจำชาติ

ชาติอาเซียนผนึกกำลังสวนกลับ กรรมการรายการแข่งทำอาหารชาวอังกฤษที่ปรามาสอาหารประจำชาติ

"เรินดัง" เป็นชื่ออาหารของมาเลเซียและอินโดนีเซีย แพร่หลายจนถึงภาคใต้ของไทยและฟิลิปปินส์ โดยรวมแล้วมีลักษณะคล้ายกับแกงคั่วของทางปักษ์ใต้ แต่สูตรของมาเลเซียและอินโดนีเซียมีความแตกต่างกันในระดับหนึ่ง

แต่อาหารสามัญประจำบ้านของชาวมาเลเซียและอินโดนีเซียกลายเป็นวิวาทะร้อนแรงข้ามทวีป เมื่อรายการ MasterChef ในอังกฤษ ปรามาสอาหารประจำชาติของเพื่อนบ้านอาเซียน จนทำให้ชาวมาเลเซียถึงกับขุ่นเคืองไปทั่วประเทศ แถมความไม่พอใจนี้ยังลามมาถึงอินโดนีเซีย และสิงคโปร์ เกือบจะกลายเป็นสงครามโภชนาการระหว่างอาเซียนและเมืองผู้ดีอังกฤษ

เหตุแห่งความขัดแย้งเกิดขึ้นเมื่อกรรมการของรายการ MasterChef 22 คน คือ จอห์น ทอโรด และเกรก วอลเลซ วิจารณ์อาหารที่ปรุงขึ้นโดยผู้แข่งขันในรายการชื่อ ซาเลฮา คาดีร์ ซึ่งเกิดที่มาเลเซียและเลือกที่จะปรุงนาซิละมัก อาหารประจำชาติของมาเลเซีย ซึ่งประกอบไปด้วยข้าวหุงกะทิ ปลาทอด ถั่ว ซัมบัล หรือน้ำพริก และเรินดังที่อาจเป็นไก่หรือเนื้อ

ปรากฏว่ากรรมการชาวอังกฤษวิจารณ์เรินดังของคาดีร์ว่า "เนื้อไก่หนังไม่กรอบ" ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว เรินดังต้องนุ่มไม่มีอะไรกรอบสักนิด ส่วนอีกคนวิจารณ์ว่าเรินดังของคาดีร์ถือเป็นความผิดพลาด

หลังจากกรรมการชาวอังกฤษแสดงความเห็นที่ผิดพลาดเข้าอย่างจัง ชาวมาเลเซียต่างฮือกันเข้ามาแสดงความไม่พอใจต่อกรรมการทั้งสองคนอย่างรุนแรง โดยมีบางคนแสดงความเห็นในทำนองว่า ทำไมชาวตะวันตกถึงได้รู้ดีว่าควรทำอาหารมาเลย์ได้ดีกว่าชาวมาเลย์

แม้แต่ นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค แห่งมาเลเซียก็ยังร่วมวงด้วย โดยโพสต์ทวิตเตอร์ถามว่า "ใครที่ไหนเคยกินเรินดังกรอบๆ บ้าง?" เช่นเดียวกับข้าหลวงใหญ่สหราชอาณาจักรประจำมาเลเซียก็ยังยืนยันว่า "เรินดังไก่ไม่มีทางกรอบ" นอกจากนี้ ยังมีการตั้งเพจ Justice for Chicken Rendang เพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้กับเรินดังที่แท้จริงอีกด้วย

ไม่เฉพาะแค่ชาวมาเลเซียเท่านั้น ชาวสิงคโปร์ที่มีวัฒนธรรมมาเลย์เป็นส่วนหนึ่ง รวมถึงเพื่อนบ้านที่ตามปกติเป็นคู่กัดกันในทางวัฒนธรรมกับมาเลเซียก็ยังสงบศึก มาผนึกกำลังกันโจมตีกรรมการของ MasterChef 22 ด้วย โดยมีผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งถึงกับบอกว่า "ความร่วมใจต่อต้านความอยุติธรรมต่อเรินดัง คือจุดสูงสุดของวัฒนธรรมอาเซียน"